รู้จัก “ริบบิ้นสีขาว” กับการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์

by ThaiQuote, 18 สิงหาคม 2563

ทำความรู้จัก “ริบบิ้นสีขาว” ตัวแทนของความบริสุทธิ์ จากสัญลักษณ์แห่งการรณรงค์ยุติความรุนแรง สู่การแสดงออกทางความคิดและจุดยืนการเมือง

 

จากประเด็นร้อนทางการเมืองซึ่งกำลังเป็นที่สนใจอย่างมากในสังคมเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (17 ส.ค.63) ที่มีกลุ่มนักเรียนจากหลายโรงเรียนแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ด้วยการชู 3 นิ้วขณะเคารพธงชาติ และการใช้ "ริบบิ้นขาว" หรือ "โบว์ขาว" โดยนักเรียนหญิงได้ ผูกโบว์สีขาวไว้บนศีรษะ นักเรียนชายก็ติดโบสีขาวไว้บนกระเป๋าของตัวเอง ขณะเดียวกันอีกหลายคนก็ผูกโบว์ไว้ที่ข้อมือ และยังมีการรณรงค์ในเว็บไซต์ทวิตเตอร์ผ่านแฮชแท็ก #โบว์ขาวต้านเผด็จการ

 

ริบบิ้นสีขาวตัวแทนของความบริสุทธิ์

สำหรับการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยโบว์สีขาว หรือริบบิ้นสีขาวนั้น ในทางสากลมีการใช้กันอย่างกว้างขวาง เพื่อแสดงความหมายหรือเผยแพร่แนวคิดและความเชื่อ ภาพริบบิ้นสีขาวที่ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ที่เก่าแกที่สุดมาจากองค์กร Woman's Christian Temperance Union ซึ่งก่อตั้งโดย Frances Willard ในปี พ.ศ. 2416 มีการระบุว่าเป็นองค์กรด้านสตรีที่เก่าแก่ที่สุดในโลก โดยริบบิ้นสีขาวถูกเลือกใช้เพื่อเป็นตัวแทนของความบริสุทธิ์

 

 

 

สัญลักษณ์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี

ในยุคหลัง “ริบบิ้นสีขาว” เป็นที่รับรู้ว่าคือสัญลักษณ์เพื่อรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก และสตรี โดยมีที่มาจากเหตุการณ์สังหารหมู่ นักศึกษาหญิงจำนวน 14 คน ของมหาวิทยาลัยมอนทรีออล ประเทศแคนาดาในปี 1991 ริเริ่มโดยกลุ่มนักศึกษาชายราว 1 แสนคน ที่ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาความรุนแรงต่อสตรี เรียกร้องให้ผู้ชายทั่วโลกร่วมรับผิดชอบ รวมทั้งแสดงออกโดยการติดสัญลักษณ์ริบบิ้นสีขาวที่ปกเสื้อ ซึ่งหมายถึง การยอมรับว่าจะไม่ทำร้าย หรือนิ่งเฉย ต่อการใช้ความรุนแรงต่อสตรีในทุกรูปแบบ ถือเป็นหนึ่งในโครงการต่อต้านความรุนแรงสำหรับผู้ชายที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ต่อมาในปี 1999 องค์การสหประชาชาติ (UN) รับรองให้วันที่ 25 พ.ย.ของทุกปี เป็น “วันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กสากล” ใช้ริบบิ้นสีขาวเป็นสัญลักษณ์ถึงการยุติความรุนแรง ปัจจุบันครอบคลุมความรุนแรงทุกรูปแบบ ทั้งกับผู้หญิงและผู้ชาย รวมทั้งการยุติความรุนแรงในครอบครัวอีกด้วย

 

สัญลักษณ์ในเรื่องของ “สันติภาพ” และแสดงออกทางการเมือง

อย่างไรก็ตาม ริบบิ้นสีขาว ยังได้ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ในเรื่องของ “สันติภาพ” เช่นในปี 2546 การเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพของของรัฐควิเบก ประเทศแคนาดา โดย Échecà la guerre ได้สวมริบบิ้นสีขาวเพื่อแสดงความเชื่อในความต้องการสันติภาพ ซึ่งขณะนั้นมาจากประเด็นการต่อต้านสงครามที่กำลังจะเกิดขึ้นในอิรัก

ขณะที่ประเทศรัสเซีย มีการนำริบบิ้นสีขาวมาใช้ในการแสดงจุดยืนทางความคิดเรื่องการเมือง โดยช่วงปี 2554–55 ในรัสเซีย สัญลักษณ์ “ริบบิ้นสีขาว” ปรากฏขึ้นในเดือนตุลาคม 2554 เพื่อแสดงถึงการต่อต้านที่วลาดิเมียร์ ปูติน ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีวาระที่สาม

 

 

 

 “ริบบิ้นสีขาว” ในประเทศไทย

สำหรับประเทศไทยนั้น มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.2542 กำหนดให้เดือนพ.ย.ของทุกปี เป็นเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี เพื่อมุ่งเน้นที่จะป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงทั้งต่อเด็กและสตรี โดยดำเนินการการณรงค์ตลอดเดือนพฤศจิกายนให้สังคมได้ตระหนัก และร่วมป้องกันขจัดความรุนแรงต่อเด็กสตรีให้หมดสิ้นไป โดย “ริบบิ้นสีขาว” (White Ribbon) ถูกนำมาเป็นสัญลักษณ์แห่งการรณรงค์ของนโยบายนี้

นอกจากนี้ยังมีประเด็นทางการเมืองของประเทศไทย ที่ใช้ “ริบบิ้นสีขาว” สื่อถึงจุดยืนทางความคิด จากกรณีการเรียกร้องของสหภาพนักเรียนนิสิตแห่งประเทศไทย ให้รัฐบาลไม่เพิกเฉยต่อการหายตัวไปที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ของนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยมีการผูกริบบิ้นสีขาวบริเวณรั้วทำเนียบรัฐบาล

และต่อมาในวันที่ 17 ส.ค.63 มีกลุ่มนักเรียนจากหลายโรงเรียนได้แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ นัดกันติดโบว์สีขาว ทั้งผูกไว้บนศีรษะ ติดไว้บนกระเป๋า และผูกไว้ที่ข้อมือ พร้อมกับการรณรงค์ในโลกออนไลน์ในเว็บไซต์ทวิตเตอร์ผ่านแฮชแท็ก #โบว์ขาวต้านเผด็จการ

 

 

 

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ

พรึ่บ! เด็กนร. ร่วมชู3นิ้ว ร้องเพลงชาติ ผูกโบว์ขาว "ไม่เอาเผด็จการ"