เปิดฝึก “โยคะหัวเราะ” ฟรี หนทางสร้างอัจฉริยะ

by ThaiQuote, 7 ธันวาคม 2560

โยคะหัวเราะ เริ่มต้นจาก ดร. Madan Kataria แพทย์จากมุมไบในประเทศอินเดียที่ได้มีการเปิดตัวคลับเสียงหัวเราะเป็นครั้งแรกที่สวนสาธารณะ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม คศ. 1995 โดยมีคนเข้าร่วมเพียง 5 คนในวันแรก และวันนี้มันได้กลายเป็นปรากฏการณ์ทั่วโลกที่มีมากกว่า 6,000 ชมรมหัวเราะในสังคมกว่า 60 ประเทศทั่วโลก   โยคะหัวเราะ เป็นการออกกำลังกายที่ผสมผสาน “การหัวเราะอย่างไม่มีเงื่อนไข” เข้าร่วมกับ “การหายใจแบบโยคะ” (หรือที่เรียกว่า การหายใจแบบ “ปราณยามะ”) ไว้ด้วยกัน โดยทุกคนสามารถหัวเราะโดยไม่มีเหตุผลโดยไม่ต้องอาศัยอารมณ์ขัน หรือเรื่องตลกใดๆทั้งสิ้น ซึ่งความจริงเกี่ยวกับการหัวเราะนั้นมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ได้พิสูจน์ไว้ว่าร่างกายมนุษย์ไม่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างการแกล้งหัวเราะและหัวเราะจริงๆ ซึ่งหมายความว่ามนุษย์ได้รับผลประโยชน์จากการหัวเราะทั้งทางร่างกายและจิตใจ ไม่ว่าเราจะแกล้งหัวเราะหรือหัวเราะจริงก็ตาม ฝึกโยคะหัวเราะ แล้วได้อะไร ข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ และการวิจัยในห้องแล็บเกี่ยวกับวิธีการหัวเราะได้ถูกทดสอบ ทดลอง และวิจัย อาทิเช่น ในประเทศออสเตรีย บังกาลอร์ประเทศอินเดียและในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งผลการวิจัยนั้นได้แสดงให้เห็นว่ามีประโยชน์ต่อร่างกายและจิตใจ ซึ่งสามารถสรุปผลดังกล่าวได้ดังนี้   - ด้านสุขภาพ การหัวเราะจะส่งต่อความสมดุลทางอารมณ์ ต่อต้านความเครียด ลดความหดหู่ ส่งผลให้ระบบภูมิต้านทานของร่างกายดีขึ้น ดังนั้นสุขภาพร่างกายก็แข็งแรงตามกันไปด้วย นอกจากนั้นการหัวเราะยังเป็นการออกกำลังกายหัวใจที่ดีที่สุด ส่งผลต่อการหมุนเวียนเลือด การผ่อนคลายกล้าเนื้อ ลดความดันโลหิต โรคหอบหืด ภูมิแพ้ เป็นต้น   - ด้านการใช้ชีวิต ผลจากการหัวเราะ จะทำให้สมองปล่อยสารเคมีที่เรียกว่า “เอนโดรฟิน” ทำให้อารมณ์ดี เพิ่มมุมมองบวกในชีวิต ซึ่งทำให้สามารถจัดการชีวิตได้ดีขึ้น   - ด้านหน้าที่การงาน ความสุขจากการหัวเราะสามารถกระตุ้นการทำงานร่วมกันเป็นทีม เพิ่มความมั่นใจในตัวเอง เกิดทักษะการเจรจาต่อรอง อีกทั้งการเพิ่มสมาธิและความจดจ่อในการทำงาน รวมไปถึงความสดชื่นในสมองที่จะช่วยให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งผลจากการหัวเราะล้วนแล้วแต่จะส่งผลต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลของงาน   - ด้านสังคม ผลจากการฝึกโยคะหัวเราะทำให้ผู้ฝึกมีสุขกาย สุขภาพใจที่ดี ส่งผลต่อคุณภาพและทัศนคติที่ดีของคนในสังคม ซึ่งสุดท้ายแล้วผลดีทั้งหมดจะตกไปอยู่ที่ตัวผู้ปฏิบัติ และสังคมที่ดีตาม   การฝึกโยคะหัวเราะด้วยตัวเอง การฝึกโยคะหัวเราะจะเกิดผลดีที่สุด ควรถูกนำการฝึกโดย laughter yoga leader (ผู้นำการฝึกโยคะหัวเราะ) ซึ่งจะทำหน้าที่แนะนำสมาชิกเพื่อให้เกิดเสียงหัวเราะที่เป็นแบบไดนามิก   ความถี่ในการฝึกโยคะหัวเราะ : ความถี่ในการฝึกนั้น ฝึกได้ตั้งแต่เดือนละ 2 ครั้ง สัปดาห์ละ 1 ครั้ง จนกระทั่งวันละครั้ง ตามความเหมาะสม ระยะเวลาในการฝึกโยคะหัวเราะ : 30 – 45 นาที   สถานที่ฝึกโยคะหัวเราะ : - ภายในอาคาร ควรเป็นสถานที่ที่หลังคาไม่สูง เพื่อไม่ให้เกิดเสียงสะท้อน และเกิดการเสียพลังงานมากจนเกินไป - ภายนอกอาคาร เช่น สวนสาธารณะ (ที่ห่างจากที่พักอาศัย เพื่อป้องกันการรวบกวนผู้อื่น)   ขนาดของกลุ่มในการฝึกโยคะหัวเราะ : 5 – 15 คน ต่อ 1 กลุ่ม   การฝึกโยคะหัวเราะด้วยตนเอง 5 ขั้นตอน : ขั้นที่ 1 อุ่นเครื่อง -- ปรบมือและอบอุ่นร่างกาย

  1. ปรบมือแบบขนานฝ่ามือเข้าหากัน “ฝ่ามือชนฝ่ามือ”, “นิ้วชนนิ้ว” โดยมีจังหวะ 1-2, 1-2-3 การปรบมือแบบนี้จะช่วยให้จุดสัมผัสบนฝ่ามือและนิ้วได้รับการกระตุ้นทำให้เกิดการตื่นตัว กระตุ้นการไหลเวียนของเลือดในร่างกายได้ดีขึ้น
  2. เพิ่มจังหวะการเคลื่อนไหว โดยปรบมือ ขึ้น- ลง, ซ้าย – ขวา และสามารถขยับเท้าให้เป็นไปตามธรรมชาติของร่างกาย
  3. เปล่งเสียง โฮ่ๆ ฮ่าๆพร้อมกับการปรบมือการเปล่งเสียงนี้จะช่วยให้เกิดการหายใจออกมาจากท้อง เป็นการกระตุ้นให้กระบังลมทำงานได้อย่างสะดวกขึ้น

  ขั้นที่ 2 : หายใจลึกๆ

  1. ยืนในท่าที่สบาย ก้มตัวลงข้างหน้าจนสุด
  2. ปล่อยลมหายใจออกทางปากจนกระทั่งรู้สึกว่าไม่เหลืออากาศในปอด
  3. ค่อยๆ ยกตัวขึ้นช้าๆ หายใจเข้าผ่านจมูก หายใจให้ลึกที่สุดเท่าที่ทำได้
  4. ยกแขนชี้ขึ้นบนฟ้า ยืดร่างกายไปด้านหลังเล็กน้อย
  5. กลั้นหายใจ 4 – 5 วินาที
  6. ผ่อนลมหายใจออกช้าๆ พร้อมด้วยก้มลงไปด้านหน้า หายใจออกให้นานกว่าหายใจเข้า เพื่อให้ปอดเราว่างที่สุดเท่าที่จะทำได้
  7. ทำซ้ำอีกสองถึงสามครั้ง โดยครั้งสุดท้ายกลั้นหายใจให้นานขึ้น หลังจากนั้นจึงปล่อยลมหายใจออกมา

  การฝึกหายใจแบบนี้ถูกออกแบบไว้ให้พักผ่อนเพื่อไม่ให้เหนื่อยจนเกินไป โดยสามารถทำได้ตลอดเวลาในระหว่างการฝึกโยคะหัวเราะ   ขั้นที่ 3 : เล่นสนุกแบบเด็กๆ การฝึกขั้นตอนนี้จะช่วยให้คุณหัวเราะได้โดยไม่มีเงื่อนไข หรือเหตุผลใดๆ ทั้งสิ้น ด้วยวิธีปรบมือพร้อมกับเปล่งเสียง ว่า ยอดเยี่ยม.......(ปรบมือ) ยอดเยี่ยม.......(ปรบมือ) เย้.......(ยกแขนขึ้นทั้งสองข้างให้เป็นรูปตัว Y)   ขั้นที่ 4 : มาหัวเราะกันเถอะ การฝึกหัวเราะมีหลายประเภท เช่น - ฝึกหัวเราะแบบโยคะ เป็นท่าที่มีพื้นฐานมาจากการหายใจแบบโยคะ และมีท่าพื้นฐานจากท่าของโยคะ เช่น ท่าสิงโตคำราม - ฝึกหัวเราะแบบเล่นสนุก เป็นท่าที่ช่วยลดการเขินอาย และกระตุ้นให้หัวเราะอย่างไม่มีเงื่อนไข ซึ่งท่าต่างๆ จะขึ้นอยู่กับทัศนคติ ความเชื่อ จินตนาการ บทบาท ของกลุ่มที่ฝึก เช่น ท่าชงนม ท่าตลับเมตร ท่าโทรศัพท์ ท่าซุปร้อน - ฝึกหัวเราะแบบมีคุณค่า เป็นท่าที่ถูกออกแบบมาเพื่อโปรแกรมความรู้สึกที่เป็นบวกต่อสถานการณ์ต่างๆ ที่เผชิญอยู่ เช่น ท่าไฟแดงไฟเขียว ท่าเจ้านายไม่อยู่ ท่าทำงานบ้าน ท่าถังแตก - ฝึกหัวเราะแบบบริหารร่างกาย เป็นท่าที่เป็นการออกกำลังกายเบาๆระหว่างการฝึกโยคะหัวเราะ โดยเฉพาะการฝึกในช่วงเช้า   โดยปกติแล้วจะฝึกหลายๆ ท่ารวมกัน ท่าละ 2 -3 นาทีเป็นอย่างน้อย และรวมกัน 15 – 20 นาที   ขั้นที่ 5 โยคะนิทรา การฝึกโยคะนิทราจะช่วยให้เกิดการผ่อนคลายพลังงานของผู้ฝึกโยคะหัวเราะให้กลับสู่ระดับปกติ ด้วยวิธีดังนี้

  1. นอนหงายลงกับพื้นหงายฝ่ามือขึ้น นอนแยกขาให้มีระยะเล็กน้อย
  2. ผ่อนคลายกล้ามเนื้อทุกส่วน
  3. หายใจลึกๆ ช้าๆ

จบการฝึกโยคะหัวเราะ   สิ่งที่อยากจะแนะนำเพิ่มเติมสำหรับการทำโยคะหัวเราะ ประโยชน์จากการฝึกโยคะหัวเราะมีมากกมาย ตามผลการวิจัยจากต่างประเทศ หลักสำคัญคือการหายใจ ที่จะช่วยในการหมุนเวียนของเลือดในร่างกาย ซึ่งหลังจากการฝึกโยคะหัวเราะและสามารถสัมผัสได้ทันทีคือความสดชื่น และหายใจได้สะดวกขึ้น ดังนั้นจึงอยากให้ความสำคัญกับการหายใจ ผู้สนใจฝึกสามารถสมัครเข้าอบรมไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ รับจำนวนจำกัดเพียง 300 ท่าน โดยส่ง ชื่อ นามสกุล อายุ และเบอร์โทรส่งมาที่ E-mail : [email protected] หรือส่ง SMS มาที่เบอร์ ๐๙๔-๐๙๕ ๑๖๓๕          Line : Folkdoctor, Facebook : มูลนิธิหมอชาวบ้าน, www.doctor.or.th จัดโดย โครงการจัดอบรมสุขภาวะเพื่อประชาชน มูลนิธิหมอชาวบ้าน วิทยากรที่ให้การอบรมในครั้งนี้คือ อาจารย์วินเนอร์ อรุต ธนาสุวรรณดิถี ผู้เชี่ยวชาญโยคะหัวเราะจากอินเดีย วันเสาร์ที่ 16 ธันวาคม 2560 เวลา 13.30 – 16.30 น. ณ อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ ชั้น 2 ห้อง 201          สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซอยงามดูพลี ถนนพระราม 4 กทม.   ขอบคุณข้อมูล Sanook.com

Tag :