สมคิดขับเคลื่อน SMEs สู่ยุค 4.0 ปล่อยสินเชื่อกว่า 2 แสนล้านบาทปี 61

by ThaiQuote, 7 ธันวาคม 2560

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ประชุมมาตรการพิเศษเพื่อขับเคลื่อน SMEs สู่ยุค 4.0 ร่วมกับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้บริหารสถาบันการเงิน และภาคเอกชนทั้งสภาอุตสาหกรรมฯ สภาหอการค้าฯ สมาคมการธนาคาร สมาพันธ์ SMEs เพื่อจัดแพ็กเกจของขวัญในการขับเคลื่อน SMEs ทั้งมาตรการช่วยเหลือที่ไม่ใช่ด้านการเงิน และมาตรการทางการเงิน โดยกำชับผู้บริหารแบงก์รัฐ กระทรวงอุตฯผลมาตรการต้องชัดเจนภายใน 3 เดือน มุ่งเน้นช่วยเหลือเอสเอ็มอีเป็นรายกลุ่มให้ชัดเจน ทั้งด้านเกษตรแปรรูป ท่องเที่ยว บริการ ภาคอุตสาหกรรม ในส่วนของ แพ็กเกจด้านการเงินในปี 61 ได้ร่วมมือโดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เน้นพิจารณาสำหรับเอสเอ็มอีจัดทำบัญชีเดียว ประกอบด้วยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME Development BANK) วงเงินสินเชื่อ 90,000 ล้านบาท หวังช่วยเหลือเอสเอ็มอี 75,000 ราย ผ่านสินเชื่อ SMEs Transformation Loan ดอกเบี้ยต่ำเพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักรระยะที่ 2 เพื่อ SMEs ในกลุ่ม 10 อุตสาหกรรม S-Curve ที่ต้องการลงทุน ปรับปรุง พัฒนาเครื่องจักร รวมถึงระบบคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการผลิต และอาคารที่ตั้งเครื่องจักร สินเชื่อ Local Economy Loan เพื่อกลุ่ม SMEs ในระดับชุมชน อาทิ ธุรกิจเกษตรแปรรูป ธุรกิจท่องเที่ยว อนุมัติภายใน 7 วัน เบิกสินเชื่อภายใน 1 วัน ธนาคารออมสิน ได้รับมอบหมายให้ปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอี 40,000 ล้านบาท เพื่อให้สัดส่วนร้อยละ 10 ของสินเชื่อรวม เอ็กซิมแบงก์ มุ่งเน้นช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพในการส่งออกสินค้า โดยต้องลงพื้นที่เยี่ยมลูกค้าผู้ส่งออกให้สามารถบุกตลาดผ่านออนไลน์ เพื่อให้เป็นเอสเอ็มอียุคใหม่ เตรียมวงเงินรองรับ 5,000 ล้านบาท ธนาคารกรุงไทยได้รับมอบหมายให้ปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอี 50,000 ล้านบาท สร้างเครือข่ายผ่านทั้งร้านธงฟ้าประชารัฐ ร้านก๊าซหุงต้ม รองรับการชำระเงิน ขณะที่ ธ.ก.ส. ได้รับมอบหมายการปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีภาคเกษตรในปีหน้าไม่ต่ำกว่า 72,000 ล้านบาท การปล่อยสินเชื่อดังกล่าวจะให้ บสย.ค้ำประกันสินเชื่อ เพราะมีวงเงินค้ำประกันเหลืออยู่ 81,000 ล้านบาท การช่วยเหลือทางการเงินทุกแบงก์รวมกันกว่า 2 แสนล้านบาท ช่วยเหลือเอสเอ็มอีได้รับสินเชื่อ 2-3 แสนราย และได้รับช่วยเหลือด้านอื่นอีกรวม 1 ล้านราย โดยแบงก์รัฐจะสรุปมาตรการให้ชัดเจนเพื่อเสนอ ครม.พิจารณาชดเชยภาระดอกเบี้ยภายในเดือนธันวาคมนี้ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า มาตรการดังกล่าว ต้องการช่วยเหลือเอสเอ็มอี ไม่ใช่หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ต้องการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ทั้งการพัฒนาด้านความรู้ การผลิต บัญชี เงินทุน เพื่อปูพื้นฐานครอบคลุมทุกด้าน จึงมุ่งปูพื้นฐานให้เอสเอ็มอีในชุมชนเป็นหลัก ส่วนผู้ประกอบการระดับกลางจะช่วยบางส่วนที่เติมเต็ม ตั้งแต่การสนับสนุน วิสาหกิจชุมชนจนถึงผู้ประกอบการระดับขนาดกลางทั้งด้านการผลิต การตลาด การส่งเสริมนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ และเทคโนโลยี โดยมีเป้าหมายให้ SMEs เกิดความเข้มแข็งพร้อมนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดและยกระดับขีดความสามารถ ให้ไปสู่ช่องทางการค้าที่มีอยู่หลากหลาย ซึ่งในกระบวนการดังกล่าวจะอาศัยความร่วมมือผ่านการเชื่อมโยงจากหลายๆ หน่วยงาน เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยมีการแบ่งการบริการออกเป็นอีก 4 ด้านคือ 1. Service Upgrading (กลไกสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจ) โดยจะเร่งยกระดับการบริการผ่าน การตั้งศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม (ITC) จากเดิมจำนวน 9 ศูนย์ ขยายเป็น 23 ศูนย์ทั่วประเทศ พร้อมขยายส่วนบริการเพิ่ม ได้แก่ Co-Working Space เครื่องจักรทันสมัย บริการการปรึกษาเชิงลึกผ่าน Expert Pool (ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญ) ที่ปรึกษาทักษะทางการเงิน การเชื่อมโยงเครือข่ายองค์กรสนับสนุน แพ็กเกจคูปองเสริมแกร่งธุรกิจ SMEs ที่จะเพิ่มความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการทั่วไป และที่ประสบปัญหากว่า 10,000 รายทั่วประเทศ รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือ SME (SME Support Center) ด้วยกลไกและบริการทั้งหมดผ่านระบบดิจิทัลให้เกิดขึ้น 248 แห่งทั่วประเทศ 2. Enablers (การเสริมแกร่ง SMEs) ด้วยการนำผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีผ่านการสรรหา จากภาคอุตสาหกรรมเป้าหมาย การช่วยเป็นโค้ชในการพัฒนาบุคลากร การจัดทำแพล์ทฟอร์ม SME Big Data เพื่อให้ ผู้ประการเข้าถึงบริการฐานข้อมูล โครงการที่ตรงกับความต้องการการพัฒนาแต่ละด้าน และองค์ความรู้ใหม่ ๆ ผ่าน SME One Portal ได้ทุกที่ทุกเวลา 3. Capacity Upgrading and Transforming การพัฒนาขีดความสามารถและการโดยมีพี่เลี้ยงจากองค์กรธุรกิจชั้นนำระดับโลกกว่า 20 ราย เช่น ปตท. เดลต้า เอสซีจี เดนโซ่ มาเป็นพี่เลี้ยงให้กับผู้ประกอบการ SMEs ที่มีศักยภาพ พร้อมร่วมทุนผ่าน กองทุนให้เปล่า (Angel Fund) กับกลุ่มสตาร์ทอัพ เพื่อช่วยในการจับคู่ธุรกิจออนไลน์ (B2B) ระหว่างผู้ประกอบการไทยตั้งแต่ระดับต้นน้ำ – ปลายน้ำกว่า 1,400 ราย พร้อมเชื่อมต่อสู่แพลทฟอร์ม J-Goodtech ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะทำให้สินค้า SMEs ไทยมีความน่าเชื่อถือและขยายตลาดไปสู่ระดับสากลได้มากขึ้น 4. Local Economy (การยกระดับเศรษฐกิจฐานชุมชน) เป็นนโยบายการยกระดับผู้ประกอบการฐานรากหญ้า พัฒนาสู่ SMEs รากแก้ว ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น ททท. และองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) อพท. พร้อมผลักดันให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่มีชื่อเสียงระดับโลก การบ่มเพาะเกษตรกรกว่าร้อยละ 30 ให้เป็นผู้ประกอบการเกษตรแปรรูป ที่ประชุมได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมและสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เป็นเจ้าภาพหลักในการประสานและขับเคลื่อนมาตรการเหล่านี้ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม

Tag :