“สมคิด”ให้นโยบายก.เกษตร ปฏิบัติตามพระราโชบาย ร.10

by ThaiQuote, 8 ธันวาคม 2560

เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2560 ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายการดำเนินงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ผู้บริหาร ธ.ก.ส. เพื่อบูรณาการทำงานร่วมกันทั้งด้านการผลิต การตลาดของสินค้าเกษตรให้เกิดประสิทธิภาพ โดยกล่าวว่า จีดีพีต่อหัวของไทยอยู่ในระดับแนวหน้าเทียบกับมาเลเซียและสิงคโปร์เทียบกันแล้วเราไม่ห่างจากเขามากนัก จึงต้องทำให้ช่องว่างดังกล่าวลดลง เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตทัดเทียมประเทศเพื่อนบ้าน

“หน้าที่สำคัญคือทำอย่างไรให้ช่องว่างที่ต่างหดเข้ามา เมื่อในหลวงรัชกาลที่ 10 รับสั่งให้ดูแลประชาชนโดยเฉพาะคนจนผู้มีรายได้น้อย 30 ล้านคน ซึ่งมีสัดส่วนต่อจีดีพีของไทยร้อยละ 8-9 จึงต้องผลักดันให้กลุ่มเกษตรกรมีส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้มากขึ้น ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องการดึงกระทรวงด้านเศรษฐกิจมาบูรณาการร่วมกัน ทั้งกระทรวงพาณิชย์ กรมการค้าภายใน ช่วยเหลือด้านการตลาด การผลิต ร่วมกับ ธ.ก.ส. โดยกระทรวงเกษตรฯกับ ธ.ก.ส.ต้องทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด และดึงกระทรวงการท่องเที่ยวฯมาส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจในชนบท เพราะเกษตรกรเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพของไทย” ดร.สมคิดกล่าว พร้อมกับเสริมว่า

ในขณะที่ประเทศอื่นประสบความสำเร็จในการใช้เทคโนโลยีในการเกษตร เห็นได้จากจีนยกระดับไม่ทันไรซัพพลายมหาศาล ราคาในตลาดโลกก็ถูก สิ่งเหล่านี้ทำให้เขาไม่ตาย แต่เราตาย จึงเป็นหน้าที่ของกระทรวงเกษตรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกัน ฉะนั้นปีนี้นโยบายที่ชัดเจนของเราคือลงทรัพยากรไปที่คนตัวเล็กให้ได้ศักยภาพการผลิตทีดีขึ้น

อนึ่งจากรายงานแนวโน้มการเติบโตแบบมีส่วนร่วมของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกในระยะยาว ชื่อ Riding the Wave : An East Asian Miracle for the 21st Century โดยในรายงานระบุว่า ประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกเป็นผู้นำที่แสดงวิธีให้เห็นว่าการเติบโตอย่างรวดเร็วและการมีส่วนร่วมในทางเศรษฐกิจจะช่วยลดความยากจนอย่างชัดเจนได้ ซึ่งช่วยให้คนเกือบล้านคนได้หลุดพ้นจากความยากจน พร้อมกล่าวถึงโมเดลใหม่ในการสร้างการเจริญเติบโตในภูมิภาคอย่างยั่งยืน พร้อมกับลดปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ ให้มีความเสมอภาคมากขึ้น

ในรายงานระบุว่า ประเทศไทยซึ่งอยู่กลุ่มเดียวกับมาเลเซีย ได้เริ่มหลุดพ้นจากความยากจน และกำลังก้าวสู่ความมั่งคั่งแล้ว พร้อมเสนอ 3 แนวทางที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ คือ ให้โอกาสด้านเศรษฐกิจกับผู้มีรายได้น้อย มีระบบการดูแลด้านสังคม สาธารณสุข ประกันสังคม และการส่งเสริมการออม รวมทั้งการใช้เครื่องมือ เช่นภาษี เครื่องมือทางการเงิน มาช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ

ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก ผู้จัดการออนไลน์

Tag :