“กัญชา” เพื่อเกษตรกรไทย “ทางรอด” หรือ “ทางตัน”

by ThaiQuote, 8 มกราคม 2564

การออกเมนูอาหารที่เรียกว่า “เมนูกัญ” ของ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศวร สร้างกระแสฮือ (ฮา) ให้กับกลุ่มคนสายเขียวจำนวนไม่น้อย ไม่วายที่จะมีประเด็นดราม่าตามมา ด้วยคำถามที่ว่า “เมื่อ รพ.อภัยภูเบศวร สามารถทำเมนูเหล่านี้ ได้แล้ว ร้านอาหาร หรือประชาชนทั่วไป สามารถทำได้หรือไม่”

“เมนูกัญ” สงวนสิทธิ์เฉพาะหน่วยงานที่ได้รับอนุญาต

รพ.เจ้าพระยาอภัยบูเบศร ได้ชี้แจงกรณีของการจัดทำเมนูจาก “กัญชา” ว่า การจัดทำเมนูดังกล่าว เป็นการพัฒนาการใช้ประโยชน์จากส่วนที่ได้รับการปลดล็อก จากการเป็นยาเสพติด ตามราชกิจจานุเบกษา ประกาศกระทรวง สาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2553 ที่กําหนดให้ ใบ ราก ลําต้นกัญชา ไม่ถูกจัดเป็นยาเสพติดแล้ว สามารถนํามาใช้ประโยชน์ได้ (ยกเว้นเมล็ด และช่อดอก) แต่ต้องนำวัตถุดิบมาจากต้นที่ได้รับอนุญาตให้ปลูกถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น (พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ ฉ 7 อนุญาตภาครัฐที่มีภารกิจ อาจร่วมกับวิสาหกิจชุมชนได้)

ดังนั้น การนำส่วนของกัญชาที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายมาทำเป็นเมนูอาหาร จึงต้องได้อยู่ในความควบคุมดูแลของ องค์การอาหารและยา (อย.) โดยการปรุงอาหารจะต้องมีมาตรฐาน คำนึงถึงความปลอดภัย และผลกระทบข้างเคียงด้วย

เราพบว่า จากเดือน ก.พ.-พ.ค.63 อย. มีการออกใบอนุญาตปลูกกัญชารวม 28 ใบเท่านั้น โดยเป็นการอนุญาตให้สถาบันการศึกษา 12 แห่ง 14 ใบ หน่วยงานรัฐ 5 หน่วยงาน 10 ใบ หน่วยงานรัฐร่วมกับวิสาหกิจชุมชน 3 ใบ และสถาบันการศึกษาร่วมกับวิสาหกิจชุมชน 1 ใบ

เท่ากับว่า “ร้านอาหาร” หรือ “ประชาชนทั่วไป” นั้น ยังไม่มีการอนุญาตให้นำ “กัญชา” มาทำเป็นเมนูอาหารได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย...

“ธุรกิจกัญชา” เพื่อชุมชน ไม่ง่ายอย่างที่คิด

การปลดล็อก “กัญชา” เพื่อการแพทย์ ไม่ใช่ “เสรีกัญชา” อย่างที่คนจำนวนไม่น้อยเข้าใจ แต่ถูกอธิบายว่าเป็นเพียงก้าวแรกที่จะทำให้ทุกคนเข้าถึงพืชซึ่งในอดีตถูกระบุอยู่ในยาเสพติดประเภท 5 ที่มีบทลงโทษหนัก คือจำคุกตั้งแต่ 2 ปี ถึง 15 ปีและปรับตั้งแต่2 หมื่นบาทถึง 1 แสน 5 หมื่นบาท หากมีในครอบครอง หรือผลิตเพื่อจำหน่าย

“โครงการพัฒนาการปลูกและแปรรูปกัญชาสำหรับการใช้ทางการแพทย์แผนไทย และการแพทย์พื้นบ้านไทยใน รพ.สต. และชุมชน” นับเป็นก้าวแรกที่ภาคประชาชนเข้าถึงผ่านโมเดลที่ทำร่วมกันระหว่าง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และวิสาหกิจชุมชน ภายใต้การกำกับดูแลของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข

ข้อมูลจากกรมการแพทย์แผนไทยฯ ระบุว่า รพ.สต.มีที่ได้รับอนุญาตปลูกกัญชา จากคณะกรรมการยาเสพติดให้โทษ มีทั้งหมด 54 แห่ง จาก 20 จังหวัด และ 11 เขตสุขภาพ โดยปัจจุบันมี รพ.สต. เพียงแค่ 3 แห่ง ที่ปลูกและเก็บผลผลิตเพื่อนำไปใช้ผลิตตำรับยาน้ำมัน “สนั่นไตรภพ” ได้แก่ รพ.สต.เชียงพิณ จ.อุดรธานี รพ.สต.คลองม่วง จ.นครราชสีมา และ รพ.สต.นาปะขอ จ.พัทลุง โดยปีนี้ มีเป้าหมายที่จะเพิ่มพื้นที่ปลูกเป็น 150 แห่ง ทั่วประเทศ...

“กัญชา” ไม่ใช่ “ทองคำสีเขียว” ของเกษตรกร

หากมองในมุมการใช้ “กัญชา” เพื่อการรักษาผู้ป่วย ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี โดยขณะนี้พบว่ามีผู้ลงทะเบียนและผ่านการคัดกรอง ในคลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนไทย 340 แห่งทั่วประเทศแล้ว 59,013 ครั้ง โดยมีน้ำมันกัญชา เป็นตัวเลือกทางการรักษาในอันดับหนึ่ง (ข้อมูล เดือน ก.ค.63)

แต่หากนึกฝันว่า “กัญชา” จะเป็น “ทองคำสีเขียว” พืชเศรษฐกิจตัวใหม่ให้กับพี่น้องเกษตรกรไทยได้หลุดพ้นจากกับดักรายได้ความยากจนอย่างยั่งยืน ประเด็นนี้อาจจะต้องมีการทบทวนใหม่

“การเข้าร่วมโครงการวิสาหกิจชุมชนปลูกกัญชา เราไม่ได้หวังถึงเรื่องรายได้ แต่หวังให้ผู้ป่วยในชุมชนได้สามารถใช้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นเองนี้ได้”

“ประโลม มนตรี” ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มสมุนไพรเกษตรผสมผสาน บ้านนาปะขอ อ.บางแก้ว จ.พัทลุง ที่มีสมาชิก 7 ครัวเรือน หนึ่งในวิสาหกิจชุมชนที่ริเริ่มโมเดลการปลูกกัญชา ร่วมกับ รพ.สต. เพื่อใช้ในการรักษาผลิตน้ำมันกัญชา “สนั่นไตรภพ” ใช้รักษาผู้ป่วยมะเร็ง ในพื้นที่ชุมชนใกล้เคียงจากการสำรวจว่ามีประมาณ 300 คน บอกกับเราถึงวัตถุประสงค์ในการเข้าร่วมโครงการ

“เริ่มต้นวิสาหกิจฯ เป็นผู้ลงทุนเงินจำนวนกว่า 1 ล้านบาท เพื่อสร้างโรงเรือนในพื้นที่ของ รพ.สต. ที่เน้นเรื่องความปลอดภัยสูงสุด เรียกว่า เป็นเรือนจำก็ได้ ทั้งกำแพงสูง มีลวดหนามล้อมรอบ กล้องวงจรปิด 8 ตัว รปภ.เฝ้าประจำโรงเรือน ระเบียบการเข้า-ออกที่จำกัดให้มีคนดูแลเพียงแค่ 1-2 คน มีการลงเวลาเข้า-ออก โดยใบอนุญาตการปลูกนั้น รพ.สต.จะถือไว้ เรามีหน้าที่แค่ดูแลรักษา และเก็บผลลิตส่งต่อให้กับกรมการแพทย์แผนไทยฯ” ปธ.วิสาหกิจฯนาปะขอ บอกกับเรา

ปัญหากองสุมมากมาย และรายได้ที่ยังมองไม่เห็น

รูปแบบการปลูกกัญชา ที่ได้รับเมล็ดพันธุ์ มาจาก ป.ป.ส. จำนวน 512 เมล็ด เพื่อใช้ในการปลูก 2 รอบ โดยรอบแรก วิสาหกิจฯนาปะขอ เพาะเมล็ดเพื่อปลูกจำนวน 256 เมล็ด ปลูกสำเร็จ 144 ต้น ในระยะเวลา 7 เดือน ผ่านการประคบประหงม ที่ต้องดูทั้งเรื่องความชื้น แสงแดด อุณหภูมิ ซึ่งเมื่อผ่านระยะเวลา 4 เดือน ในระยะต้นกัญชาออกดอกก็เป็นช่วงเวลาที่ต้องลุ้นเพศของกัญชา ตามภาษาชาวบ้านว่า “ต้นตัวผู้-ตัวเมีย” และล็อตแรกของวิสาหกิจฯนาปะขอ ปรากฏว่า ได้ต้นตัวผู้มากกว่า 90% ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ดีเลย

“ข้อจำกัดของมันมีอยู่มาก กัญชาจะอยู่ได้ไม่ได้ด้วยอากาศ โน่นนี่นั่น เกิดยาก ลงทุนสูง มันไม่ง่ายเลยหากมองในเชิงธุรกิจ เพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร หากคิดว่าสมาชิกต้องลงทุนคนละ 2 แสนบาท โดยต้องมาลุ้นทั้ง สภาพอากาศที่ภาคใต้ฝนตกตลอด ไม่มีแสงแดดให้ต้นกัญชาได้ออกดอก การลุ้นเพศกัญชา คุณภาพน้ำ-ดิน แถมยังไม่มีราคากลางในการรับซื้อ เราจึงไม่สามารถคาดคะเนรายได้จากผลผลิตได้เลย แล้วหากเป็นต้นกัญชาตัวผู้ ตามระเบียบแล้วเรายังต้องแจ้ง ป.ป.ส.ให้มาทำลายอีก” ประโลม อธิบายให้เราฟังถึงขั้นตอนการปลูก “พืชเศรษฐกิจชนิดใหม่”

ลุ้นปลดล็อก เพื่อ “วิสาหกิจชุมชน” จริงๆ

วันนี้ สิ่งหนึ่ง ซึ่งวิสาหกิจชุมชนฯ นาปะขอ หวังไว้ คือการปลดล็อกอีกขั้นหนึ่ง เพื่อให้วิสาหกิจชุมชน สามารถสร้างรายได้จาก”กัญชา” ในส่วนอื่นๆ ได้ ไม่ใช่การนำผลผลิตจากกัญชาทั้งหมดส่งให้กับ รพ.สต. เพื่อส่งต่อให้กรมการแพทย์แผนไทยฯ เพียงที่เดียว

“ส่วนของต้นตัวผู้ที่ในระเบียบจะต้องกำจัดทิ้งนั้น ในส่วนที่เป็น ใบ ราก ลำต้น หากสามารถปลดล็อกให้วิสาหกิจชุมชน นำมาแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ เช่น ชากัญชา ซึ่งใช้ในผู้ป่วยเบาหวาน นอนไม่หลับ หรือโรคความดัน ก็ต้องรอการอนุญาตจาก อย. ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่ได้รับคำตอบ”

เราพบว่า เส้นทางธุรกิจ“ทองคำสีเขียว” ยังมีทางเดินอีกยาวไกลให้กับเกษตรกรที่จะหวังจะสร้างรายได้จากมัน แน่นอนว่าเส้นทางนั้นไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่ยังหวังเชื่อว่าการสั่งสมประสบการณ์จากการเริ่มก้าวเดิน เพื่อทำสิ่งใหม่จะมีจุดหมายปลายทางที่ดีรออยู่ เพียงแต่ขอว่าเส้นทางสาย “กัญชา” จะมีเพื่อประชาชน ไม่ใช่เพื่อ “นายทุน”

 

ข่าวที่น่าสนใจ