“เงินเดือน” ปัญหากลืนไม่เข้าคายไม่ออกของ คนกรุงฯ

by ThaiQuote, 20 มกราคม 2564

เคยนึกเล่นๆ กันบ้างมั้ย ว่าเราจำเป็นต้องมีเงินเดือนเท่าไหร่ กับการใช้ชีวิตใน กรุงเทพมหานคร เมืองที่มีค่าครองชีพสูงเป็นลำดับ 2 ของอาเซียน

“นัมเบโอ” เว็บไซต์ฐานข้อมูลด้านค่าครองชีพของโลก เผยแพร่ดัชนีค่าครองชีพ ปี 2562 โดยคำนวณจากค่าสินค้าอุปโภคบริโภค ค่าอาหารในร้านอาหาร ค่าเช่าที่พักอาศัย และกำลังซื้อของประชากรในเมือง พบว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีค่าครองชีพแพงที่สุดเป็นอันดับ 2 ของภูมิภาคอาเซียน โดยมีดัชนีค่าครองชีพอยู่ที่ 55.72 จุด เป็นรองแค่สิงค์โปร์ เท่านั้น

ขณะที่ข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ปี 2562 คนกรุงเทพฯ มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนประมาณ 39,456 บาทต่อคน แต่หากนับรวมกทม-และ 3 จังหวัดปริมณฑลได้แก่ สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี จะมีค่าเฉลี่ยเงินเดือนอยู่ที่ 37,750 บาท

 

โดยหากนับเป็นรายครัวเรือน ช่วงของรายได้ส่วนใหญ่ร้อยละ 32 จะอยู่ที่ประมาณ 15,001-30,000 บาท แต่หากนับเป็นรายคนจะอยู่ที่ช่วงเงินเดือนระหว่าง 10,000-30,000 บาท

 

ขณะที่ค่าใช้จ่าย/เดือน/ครัวเรือนของคนกรุงเทพฯ  และ 3 จังหวัดปริมณฑล  อยู่ที่ 30,778 บาทต่อคน แบ่งเป็น 1.ค่าใช้จ่ายเพื่อการอุปโภค-บริโภค จำนวน 26,156 บาท โดยมีค่าใช้จ่ายสำคัญ เช่น ค่าอาหารและเครื่องดื่ม 8,646 บาท/เดือน ที่อยู่อาศัย 6,980 บาท เครื่องแต่งกาย 722 บาท รักษาพยาบาล 415 บาท การเดินทางและการสื่อสาร 6,788 บาท (ค่าเดินทางปกติ 2,509 บาท/ค่าสื่อสาร 1,202 บาท) การศึกษา 707 บาท กิจกรรมบันเทิง-ศาสนา โอกาสพิเศษ 416 บาท

 

2.ค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวกับการอุปโภค-บริโภค 4,622 บาท เช่น ค่าธรรมเนียม ภาษี ค่าใช้จ่ายจิปาถะ ฯลฯ

 

“สมชัย จิตสุชน” ผู้อำนวยวิจัยนโยบายด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงผลการวิจัยรายได้ขั้นต่ำของคนไทย ซึ่งควรจะปรับใหม่ให้อยู่ที่ 7,194 บาท/คน/เดือน ทั่วประเทศ

 

“ก่อนหน้านี้เรามีเส้นความยากจน ที่ประมาณ 3,000 กว่าบาท แต่หากจะกำหนดให้โดยไม่ใช่แค่มีพอกิน แต่ต้องอยู่ในสังคมได้แบบมีศักดิ์ศรี ต้องไม่รู้สึกว่าอายที่จะเข้าสังคม ยกตัวอย่างเช่น มือถือ ซึ่งส่วนใหญ่คนในสังคมมีใช้ แต่ถ้าคุณอยู่ในกรุงเทพฯ นั่นหมายความถึงรายได้ในอีกระดับหนึ่ง ซึ่งต้องครอบคลุม รายจ่ายด้านอาหาร 30% ค่าเช่าบ้านประมาณ 15% ค่าเดินทาง 8% ค่าเครื่องแต่งกาย 7% ค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล 6%”

 

หากนับตามเกณฑ์นี้ สมมุติเด็กจบใหม่ รับเงินเดือนเริ่มต้นที่ 15,000 บาทต่อเดือน จะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 66 % ของรายได้ หรือมีค่าใช้จ่ายต่อเดือนประมาณ 9,900 บาทต่อเหลือ แล้วจะเหลือเงิน 5,100 ซึ่งถือเป็นเงินที่มากพอสมควรเพื่อใช้ในการเก็บออม และก่อร่างสร้างเป้าหมายของชีวิตในอนาคต

 

แน่นอนว่า ตัวเลขดังกล่าวเป็นเพียงการคาดการณ์เท่านั้น เมื่อยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่อาจพุ่งเข้ามาหาเราอย่างไม่นึกคิด เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายกิจกรรมสังคม (ภาษีสังคม งานศพ งานบวช งานแต่งงาน เลี้ยงรุ่น) รวมทั้งค่าเดินทางของระบบขนส่งมวลชนในกทม. ที่สูงไม่แพ้เมืองใดในโลก เช่นเดียวกัน

 

“กิตติยา ยิษฐาณิชกุล” นักวิจัยทีมนโยบายด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ ทีดีอาร์ไอ เผยผลการวิจัยเรื่องระบบขนส่งมวลชน และราคาที่เป็นธรรมสำหรับผู้บริโภค โดยพบว่า ระบบขนส่งสาธารณะทางถนน รถเมล์ หรือรถโดยสาร เป็นระบบขนส่งที่มีต้นทุนน้อยที่สุด คืออยู่ที่ประมาณ 2 บาท/คน/เที่ยว

 

ขณะวินมอเตอร์ไซค์ เป็นระบบขนส่งที่มีต้นทุนสูงที่สุด ตกประมาณ 30 บาท/คน/เที่ยว ในส่วนของ เรือ มีต้นทุนที่ใกล้เคียงกับรถเมล์

 

สำหรับ รถไฟฟ้านั้น ในบางเส้นทางซึ่งมีต้นทุนที่สูงมาก โดยในการที่รถไฟฟ้ามีต้นทุนที่สูงนั้น เนื่องจากมีมูลค่าการลงทุนที่สูง แต่หากในอนาคตมีจำนวนผู้ใช้บริการมากขึ้น ต้นทุนในส่วนที่สูงนี้ก็จะค่อยๆ ลดลง

 

ด้านค่าโดยสารที่เป็นธรรม จะต้องพิจารณาทั้งจากฝั่งผู้ประกอบการ และผู้ใช้บริการ ซึ่งผลการวิจัยพบว่า แม้ค่าโดยสารต่างๆจะเป็นธรรมกับผู้ประกอบการ แต่ยังไม่เป็นธรรมกับประชาชน ทำให้คนมีรายได้น้อยมีทางเลือกในการใช้บริการที่จำกัดกว่าคนที่มีรายได้สูง

 

“คนแต่ละกลุ่มรายได้ สามารถเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะอะไรได้บ้าง จากการเปรียบเทียบเราพบว่า กลุ่มลูกค้าหลักของระบบขนส่งสาธารณะ คือกลุ่มคนรายได้น้อย คือมีรายได้ครัวเรือนเฉลี่ยอยู่ที่ 11,800 บาทต่อเดือน และกลุ่มคนรายได้ปานกลางที่มีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 20,200 บาทต่อเดือน โดยเราพบว่า กลุ่มคนมีรายได้น้อย สามารถใช้บริการขนส่งสาธารณะในชีวิตประจำวัน ได้เพียง รถเมล์ร้อน ส่วนกลุ่มคนที่มีรายได้ปานกลาง มีตัวเลือกเพิ่มขึ้นคือสามารถใช้รถเมล์ปรับอากาศ หรือเรือ ได้ในชีวิตประจำวัน”

 

แล้วเราจะทำอย่างไรหากต้องการบริหารจัดการ “เงินเดือน” ให้อยู่รอดในเมืองกรุง...

 

“สราวุธ เจษฎางษ์กุล” ฝ่ายพัฒนาการให้คำปรึกษาลูกค้า ธ.กสิกรไทย กล่าวถึงการการบริหารเงินของมนุษย์เงินเดือน ซึ่งมีรายได้ต่อเดือนที่แน่นอนว่า จำเป็นจะต้องแบ่งเงิน 100 % ออกเป็น 3 ส่วน คือ

 

1.เงินออม 20% จากเงินที่ได้รับ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในยามฉุกเฉิน และเป็นเงินออมสำหรับเป้ามหายที่วางไว้ หากคิดจากเงินเดือน 10,000 บาท จะต้องแบ่งมาในส่วนนี้ 2,000 บาท ซึ่งอาจแบ่งไปใช้ลงทุนในกองทุนต่างๆได้

 

2.เงินสำหรับใช้หนี้ต่างๆ จาก 40% ของเงินเดือน เช่น ค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าใช้จ่ายเพื่อการอุปโภค-บริโภค โดยเราไม่ควรก่อหนี้ให้เกิน 40% ของรายได้

 

3.เงินส่วนที่ใช้ในชีวิตประจำวัน 40% ของเงินเดือน ซึ่งใช้จ่ายทั่วไป โดยใช้เงินส่วนนี้ควรใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็น เพื่อไม่ต้องนำเงินออมมาชดเชยในแต่ละเดือน และหากสามารถประหยัดเพิ่มได้ ก็จะทำให้แบ่งมาเป็นส่วนที่เก็บออมได้เพิ่มมากขึ้น

 

นี่อาจเป็นหลักคิดเล็กน้อยๆ ให้ “มนุษย์เงินเดือน” อย่างเราๆท่านๆ ได้ลองกลับมาพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส ก่อนจะตกอยู่ในอารมณ์อย่าง “เงินเดือนเท่าเศษหิน หนี้สินเท่าภูเขา”

 

ลองเปลี่ยนคำถามใหม่จากข้างต้นที่ว่า จะต้องมีเงินเดือนมากแค่ไหนถึงจะอยู่รอดได้ในแต่ละเดือน เป็นคำถามทำให้มีแรงฮึดสู้ อย่าง จะบริหารจัดการ “เงินเดือน” ที่มีอย่างไรให้ใช้ชีวิตอยู่ได้ โดยไม่เดือดร้อน


เรื่องที่น่าสนใจ

เปิดมุมมอง “อธิบดีกรมเจรจาฯ” ทิศทางการค้าไทยจะเป็นอย่างไร ในยุค “โจ ไบเดน”