สูบบุหรี่ไฟฟ้าผิดกฎหมาย จำคุก 5 ปี

by ThaiQuote, 13 ธันวาคม 2560

นพ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีและโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวแนะประชาชนที่ต้องการเลิกบุหรี่ให้ใช้วิธีการบำบัดจะได้ผลดีกว่า ทางกรมควบคุมโรค ขอให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานหรือข้อสรุปทางการแพทย์ที่ชี้ชัดว่าสินค้าที่ผู้ขายเรียกว่าเป็นบุหรี่ไฟฟ้านั้น เป็นผลิตภัณฑ์มาตรฐานทางการแพทย์ในการช่วยให้คนเลิกสูบบุหรี่ แต่พบว่าเด็กและเยาวชนจำนวนไม่น้อยที่ไม่เคยสูบบุหรี่เลย ตัดสินใจซื้อบุหรี่ไฟฟ้ามาทดลองสูบและเสพติดในที่สุด ที่สำคัญในบุหรี่ไฟฟ้าก็มีสารพิษโดยเฉพาะสารเสพติดอย่างนิโคติน และสารกลุ่มโลหะหนักต่างๆ เช่น โครเมี่ยม นิเคิล และฟอร์มาลดีไฮด์ หรือยาดองศพ ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งในระดับที่สูงหรือมากกว่าบุหรี่ทั่วไป ซึ่งมีอันตรายและส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ที่สำคัญ สินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าที่ห้ามนำเข้า หรือขายในประเทศไทย

มีงานศึกษาเกี่ยวกับการใช้บุหรี่ไฟฟ้านั้น ถ้าใช้เวลาสูบนาน 45 นาที จะได้รับสารทาร์เป็น 36 เท่า คาร์บอนมอนนอกไซด์เป็น 15 เท่า และนิโคตินเป็น 70เท่าเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้บุหรี่ 9 มวน(ซึ่งคำนวณว่า 1 มวนใช้เวลา 5 นาที)  โดยผู้ที่สูบจะได้รับก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ซึ่งเป็นสารที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดแข็งตัว และโรคเรื้อรังของระบบทางเดินหายใจ ผู้สูบจะมีอาการปวดศีรษะ ตามองเห็นภาพไม่ชัด ใจสั่น เวียนศีรษะ และมีระดับคอเลสเตอรอลในกระแสเลือดมากกว่าผู้ที่สูบบุหรี่ทั่วไป อีกทั้งยังอาจกระตุ้นให้เกิดหลอดลมตีบตันในตัวผู้ป่วยโรคหอบหืด และเพิ่มการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร จึงเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นแผลในกระเพาะอาหาร นอกจากนี้ ยังพบว่าทำให้เกิดการเจริญเติบโตผิดปกติของทารกในครรภ์อีกด้วย อย่างไรก็ตาม กรมควบคุมโรค ขอให้เด็กและเยาวชน รวมทั้งพ่อแม่ผู้ปกครองชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจบุตรหลาน และตระหนักถึงอันตรายต่อสุขภาพเมื่อสูบบุหรี่ไฟฟ้าหรือสูบบุหรี่ทั่วไป และผลกระทบต่อสุขภาพของคนรอบข้าง ทั้งนี้ หากประชาชนต้องการเลิกบุหรี่ สามารถโทรปรึกษาศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ หมายเลข 1600 โทรฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย และเข้ารับบริการได้ที่ คลินิกให้บริการเลิกบุหรี่ในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขใกล้บ้านได้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ 02-580 9237 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

อนึ่งบุหรี่ไฟฟ้าถือเป็นสินค้าที่ผิดกฎหมายโดยกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ได้ระบุว่าเป็นสินค้าห้ามนำเข้า ห้ามขาย ห้ามให้บริการ หากฝ่าฝืนจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับ 5 เท่าของราคาสินค้าหรือทั้งจำทั้งปรับ

ส่วนผู้ครอบครองไม่มีกฎหมายเอาผิดโดยตรง แต่จะใช้กฎหมายแวดล้อมคือ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคและพ.ร.บ.ศุลกากร โดยความผิดศุลกากรจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับ 4 เท่าของราคาสินค้า

Tag :