“เกาะเกร็ด” ในความสุข ของ “สาวมอญ” รุ่นใหม่

by ThaiQuote, 5 มีนาคม 2564

เรียนรู้วิถีชีวิตกว่าร้อยปีของ “ชาวมอญ” ผ่านผู้ประกอบการคนรุ่นใหม่ กับแหล่งท่องเที่ยวชุมชนใกล้เมืองกรุง ค้นหา “ความสุข” ที่ยังไม่หายไป บน “เกาะเกร็ด”

“เกาะเกร็ด” ท่องเที่ยวชุมชน ซึ่งอยู่ใกล้กรุงเทพฯ เพียงแค่อึดใจ วันนี้ยังคงเป็นสถานที่ที่พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มีเวลาว่างไม่มากนัก ความน่าสนใจของ “เกาะเกร็ด” นอกจากจะเป็นชุมชนท่องเที่ยวแบบพหุวัฒนธรรม ที่รวมเอาความเป็น คนไทยเชื้อสายมอญ ไทยพุทธ และไทยมุสลิมไว้ด้วยกันแล้ว ยังมีวัฒนธรรมประเพณี อาหารการกิน ที่มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย

 

 

 

ไล่ย้อนประวัติศาสตร์ไปตั้งต้นในยุคของพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเกิดการขุดคลองลัดในแม่แม่น้ำเจ้าพระยา เรียกว่า “คลองลัดเกร็ดน้อย” ต่อมาคลองได้ขยายกว้างขึ้นเป็น “แม่น้ำลัดเกร็ด” ทำให้เกิดเกาะเป็นแผ่นดินตรงกลาง เดิมเรียกว่า “เกาะศาลากุล” 

ต่อมา ร.5 ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ วัดปรมัยยิกาวาส ทรงพระราชทานนามใหม่ว่า “เกาะสำราญ” ก่อนที่จะมีการตั้งอำเภอ “ปากเกร็ด” จ.นททบุรี จึงได้เปลี่ยนเป็นชื่อ “เกาะเกร็ด” มีสถานะเป็นตำบลหนึ่ง

 

 

 



โดยมีวัดปรมัยยิกาวาส เป็นที่ประดิษฐานของ “พระนนทมุนินท์” พระพุทธรูปปางสมาธิ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปประจำจังหวัดนนทบุรี และพระเจดีย์รามัญ ที่ภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวมอญเกาะเกร็ด

 

“เกาะเกร็ด” ในความสุข ของ “สาวมอญ” รุ่นใหม่

เราได้ทำความรู้จักกับเกาะเกร็ด ผ่าน “แคทรียา ไฉยากุล” เจ้าของผลิตภัณฑ์โอทอป “สมุนไพรบ้านย่าสา” คนรุ่นใหม่ ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษชาวมอญในยุคดั้งเดิม ซึ่งได้อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในบริเวณ “เกาะเกร็ด”

 

 

“ชุมชนเกาะเกร็ด เป็นชุมชนมอญเก่าแก่ ที่มีชาวมอญอาศัยนับเป็นร้อยปี และยังเป็นชุมชนพหุวัฒนธรรม ที่มีการอยู่ร่วมกันของ คนไทยเชื้อสายมอญ คนไทยพุทธ และไทยมุสลิม ในพื้นที่ 7 หมู่บ้าน”

การเป็นคนรุ่นใหม่ในชุมชนมอญที่อยู่กันมาเป็นร้อยปี ทำให้เธอมีความรู้สึกภูมิใจในเรื่องราวของบ้านเกิด ซึ่งมีวัฒนธรรมความเป็นมาที่คนภายนอกสนใจ มีงานฝีมือ งานคราฟต์ ขนม อาหาร เฉพาะถิ่น เกาะเกร็ดโด่งดังในเรื่องของอาหารการกิน เครื่องปั้นดินเผา ซึ่งไม่เหมือนใคร

 

 

“ในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ วัดปรมัยยิกาวาส เป็นเวลากว่า 10 ปี จึงทำให้แม่ครัวชาวมอญและแม่ครัวชาววังได้แลกเปลี่ยนความรู้เรื่องของการทำอาหารระหว่างกัน ทำให้ที่นี่มีขนมในตำรับชาววัง อย่าง ขนมหันตรา จ่ามงกุฎ และขนมโบราณอีกหลายชนิด เรามีบ้านที่ทำขนม บ้านช่างปั้น แกะสลัก บ้านครูรำมอญ”

สำหรับ “แคทรียา” เธอเองก็เป็นทายาท ที่สืบเชื้อสายมาจากบ้านช่างปั้น (ลุง) และบ้านครูรำมอญ (ยาย) เธอจึงแต่งกายด้วยชุดมอญซึ่งมีเอกลักษณ์ของผ้าถุงที่เป็นลายดอกพิกุล ซึ่งใช้แบ่งแยกเชื้อชาติมอญ และพม่า เป็นปกติในชีวิตประจำวัน รวมทั้งการเรียนรู้ภาษามอญ ที่พอจะพูดได้ แต่สำเนียงอาจจะไม่เหมือนมาก

 

 

 

ปัจจุบัน เธอรับสืบทอดตำรับยาสมุนไพรโบราณของยาย ที่ส่งผ่านมามายังแม่ ปรับเปลี่ยนรูปแบบของผลิตภัณฑ์ แพกเกจจิ้งใหม่ แต่ยังคงใช้วิธีการทำมือแบบโบราณ ที่ต้องตั้งหม้อเคี่ยวยาบนเตานานหลายชั่วโมง

ขณะที่วัตถุดิบ ยังคงใช้สมุนไพรในท้องถิ่น เช่น ทองพันชั่ง หนุมานประสานกาย มะกรูด บัวบก ใบตำลึง ฯลฯ และแรงงานภายในชุมชน

“เรามีวิถีวัฒนธรรมที่มีอยู่อย่างญาติพี่น้อง บ้านทำอันนี้แบ่งอันนั้น เวลาที่จะออกไปทำงาน เราจะเห็นชาวบ้านยังคงปั่นจักรยาน เข็นรถเข็นออกจากบ้านมาขายของ มาทำงาน ไร้มลพิษ ไม่มีรถติด ไม่จำเป็นต้องอาศัยความเร่งรีบ คนที่นี่ใจดี มีน้ำใจ เพราะด้วยสิ่งแวดล้อม ด้วยอากาศ การมีแม่น้ำล้อมรอบ และเติบโตมาท่ามกลางการอยู่ร่วมกันแบบญาติพี่น้อง”

“แคทรียา” บอกกับเราว่า การกลับมาอยู่บ้าน นอกจากจะได้ดูแลคนที่เธอรัก ทั้งแม่ และยายแล้ว เธอยังมีความสุขกับสิ่งแวดล้อมที่อยู่ภายในชุมชน ตื่นมาได้สูดอากาศบริสุทธิ์ ได้นั่งมองแม่น้ำในตอนเช้า ผู้คนต่างใช้ชีวิตแบบไม่เร่งรีบ การได้กลับมาอยู่ตรงนี้จึงทำให้เธอมีความสุข

“ก่อนหน้านี้ ตอนที่เรียนจบ เราก็ทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ ใช้ชีวิตในเมือง พอเราอยู่ กทม.นานๆ เข้า พบว่าแม้จะมีรายได้มาก แต่ก็มีรายจ่ายมากเช่นกัน ค่าครองชีพ ค่าภาษีสังคมสูง มีความวุ่นวาย เร่งรีบแข่งขัน พอเรากลับมาอยู่บ้านแล้วมีความสุขมาก ได้เงินน้อยลง และภาษีสังคมก็น้อยลงตามไปด้วย”

วันนี้หน้าที่ของเธอ นอกจากจะเป็นรับสืบทอดกิจการสินค้าโอทอปของครอบครัวแล้ว เธอยังร่วมกับชาวบ้านอีกจำนวนหนึ่งช่วยเหลืองานของชุมชน แนะนำรับแขกผู้ใหญ่ ไปจนกระทั่งเด็กนักเรียนนักศึกษาที่เข้ามาศึกษาประวัติศาสตร์ความเป็นมาของ “เกาะเกร็ด” ซึ่งเธอบอกับเราว่า การกลับมาพัฒนาพื้นที่ที่เธอรักนี้ ไม่ใช่การพัฒนาแต่เพียงด้านวัตถุ แต่เป็นการนำความรู้ที่เธอมีเข้ามาแบ่งปันกับคนในชุมชน

 

 

“เราต้องการพัฒนาพื้นที่ชุมชนของตัวเอง แต่ไม่ใช่การพัฒนาด้วยการนำเอาของใหม่เข้ามา เพราะสิ่งที่มีอยู่เดิมไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรม วิถีชีวิตนั้นควรจะต้องอนุรักษ์เอาไว้ แต่สิ่งที่เราภูมิใจคือการที่เราได้มีโอกาสใช้ความรู้ที่เรียนมานั้น ช่วยชุมชนเรื่องของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน การออกแบบผลิตภัณฑ์เอาความรู้ที่มีอยู่นั้นมาปรับใช้กับการสร้างรายได้ภายในชุมชนเราเอง”

เราถามเธอว่า เธอมีความสุขกับสิ่งที่ทำหรือไม่ และคำตอบของเธอ ทำให้เราต้องรู้สึกอึ้ง เมื่อรู้ว่าเธอป่วยด้วยโรคมะเร็ง และเธอกำลังใช้ชีวิตให้มีความสุขในทุกๆ วันที่เธอตื่นขึ้นมา

 

 

“เราทำงานหนัก ทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย ใช้ชีวิตเยอะ ผลคือมะเร็งลามไปทั่วแล้ว  ทำให้เราต้องใช้ชีวิตให้มีความสุขมากขึ้น เรารู้แล้วว่าชีวิตมีค่า จนมาคิดได้ว่าสุดท้ายแล้วชีวิตเราก็ไม่มีอะไรที่ต้องไขว่คว้ามากไปกว่าความสุขที่ได้กลับมาอยู่บ้าน เราคิดว่าเวลาชีวิตเรามันสั้นกว่าคนอื่นอยู่แล้ว เราจึงต้องดูแลตัวเองให้มีความสุขให้ได้ในทุกๆ วัน กอดคนมากขึ้น โกรธคนน้อยลง”

 

“ลุงติ” ครูเครื่องปั้นดินเผา รุ่นสุดท้าย

“แคทรียา” พาเรามารู้จักกับ “ลุงติ โชคชัย พุ่มไม้ใหญ่” แห่งโรงปั้นดินเผา “ดินเปรอะ” “ลุงติ” ถือเป็นครูเครื่องปั้นดินเผาโบราณเพียงไม่กี่คนที่ยังเหลืออยู่ ลุงเล่าย้อนอดีตอดีตในสมัยที่ คนมอญอพยพมานั้น มีเพียงวิชาฝีมือผิดตัว เมื่อนึกอยากจะใช้โอ่งไว้เก็บน้ำ จึงปั้นโอ่ง นึกอยากจะหม้อ ก็ปั้นหม้อขึ้นมา ความภูมิใจของช่างเครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ดนั้นคือ การที่ “หม้อน้ำลายวิจิตร” ได้ถูกใช้ในตราสัญลักษณ์ประจำจังหวัด “นนทบุรี”

 

 

 

“เครื่องปั้นดินเผาของเกาะเกร็ด แตกต่างจากที่อื่นคือ เรื่องของรูปทรงและลวดลาย ครกที่ใช้ตำพริกก็จะมีรูปทรงต่างๆ เช่น ครกเรือจ้าง ครกตีนช้าง ฯลฯ หม้อก็จะมีหม้ออีแร้ง หม้อน้ำลายวิจิตร ซึ่งมีรูปทรง 3 อย่างคือ ฐาน (ขา) ลำตัว และฝา ขึ้นพูช่วงลำตัวให้เป็นลายฟักทอง โดยแกะสลักเป็นลวดลาย “กระจังตาอ้อย” เป็นลวดลายหลัก”

 

 

“ลุงติ” พูดพลางหยิบครกรูปทรงต่างๆ มาให้เราดู พร้อมกับหนังสือเก่าซึ่งได้รับมอบจากช่างปั้นที่นับถือมาประกอบ โดยย้อนอดีตให้เราฟังว่า สมัยก่อนนั้น โรงปั้นของลุง มีช่าง 9 คน แต่ละคนปั้นหม้อขนาดใหญ่ได้วันละ 300-400 ใบ มีเตาเผาขนาดใหญ่ ที่ต้องเปิดเตานับสิบครั้งต่อเดือน เพื่อเผาเครื่องปั้นดินเผาส่งออกไปขายในพื้นที่ต่างๆ

 

 

น่าเศร้าที่วันนี้ ความเจริญเพิ่มมากขึ้น "ถนน" เข้ามาทดแทน “แม่น้ำ” ซึ่งเป็นเส้นทางสัญจรหลักในอดีต แม้เกาะเกร็ด ยังคงไม่มีถนนเชื่อมกับแผ่นดินใหญ่ แต่วัตถุดิบหลักที่ใช้ในงานปั้นอย่างดินเหนียว จำเป็นต้องนำเข้ามาจากที่อื่น ทำให้มีต้นทุนค่าขนส่งเพิ่มขึ้น

“หากยังทำอยู่เป็นอาชีพหลักมันก็ไม่คุ้นทุน เพราะดินเหนียวต้องเอามาจากที่อื่น ตั้งแต่ ปทุมธานี อยุธยา ไล่ไปจนถึง อ่างทอง นครสวรรค์ เราต้องซื้อดินเขามาทำ ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่เราใช้ดินบนเกาะ แต่ทุกวันนี้ดินบนเกาะก็หมดไป เพราะใช้กันมาเป็นร้อยปีแล้ว ทำให้มีต้นทุนเพิ่ม ทั้งค่าเรือค่าช่าง ไม่คุ้มทุน”

 

 

 



วันนี้ที่โรงปั้นของ “ลุงติ” จึงเปลี่ยนมาเป็นศูนย์การเรียนรู้ให้กับเยาวชน นักเรียน นักศึกษา ที่ต้องการเข้ามาหาความรู้ เรียนรู้วิธีการปั้นเครื่องดินเผา พร้อมกับการจำหน่ายงานเครื่องปั้นดินเผาที่ระลึก

 

 

“วันนี้เราต้องเปลี่ยนมาปั้นเครื่องปั้นดินเผาเพื่อเป็นของที่ระลึก สร้างมูลค่าเพิ่มขึ้น อิงไปกับการท่องเที่ยวชุมชนของเกาะเกร็ด ส่วนของเก่าในอดีตลุงก็ยังเก็บไว้ ให้คนรุ่นหลังเขาได้ดู วันนี้เครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ดเหลือแต่เพียงตำนานเท่านั้น”

 

 

นี่คือเรื่องราวแต่เพียงมุมหนึ่งของ “เกาะเกร็ด” ชุมชนท่องเที่ยวที่ซ่อนเร้นอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา จากพื้นที่นี้ไม่ไกลเกินไปนักที่เรามองเห็นตึกสูงเสียดสีฟ้าเครื่องหมายตีตราแทน “ความเจริญ” ที่กำลังย่างกรายอย่างเงียบเชียบเข้ามากลืนกินวัฒนธรรมประเพณีของชาวมอญในอดีต

 

 

ก่อนเราอำลาเกาะเกร็ด ด้วยเรือโดยสารข้ามแม่น้ำลัดเกร็ด พร้อมหันกลับไปมองดู “เจดีย์เอน” แลนด์มาร์กของเกาะเกร็ดอีกครั้ง พลางหวังว่าในอนาคต สถานที่ท่องเที่ยวชุมชนแห่งนี้จะยังคงรักษาวิถีชีวิตและวัฒนธรรมประเพณีของชาวมอญแต่ครั้งอดีตไว้ได้ตลอดไป

 

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ

“ช่างทำเครื่องถม” วิชาเปิด ที่อยากให้ทุกคนได้ทำความรู้จัก