“ศาลผู้บริโภค” 9 ปีที่ยังวังเวง ???

by ThaiQuote, 15 ธันวาคม 2560

ถามกันตรง ๆใครบ้างที่เคยถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบการ เชื่อว่าหลาย ๆคนคงยกมือกันสลอน ทั้ง ๆที่การให้ความคุ้มครองต่อผู้บริโภคจะถูกระบุไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยอย่างชัดเจน แต่ในความเป็นจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ ซึ่งต้องยอมรับในความเป็นจริง เช่นกรณีของ “ศาลผู้บริโภค” หรือ “ศาลแผนกคดีผู้บริโภค” ที่เราหยิบยกขึ้นมา แค่เอ่ยชื่อหลายคนอาจพากันทำหน้าแบบฉงน งง ๆพร้อม ๆกับตั้งคำถามตามมาว่า มันมีด้วยเหรอหน่วยงานที่ว่านี้ เขาทำอะไร ทั้ง ๆที่ศาลดังกล่าวถูกตั้งขึ้นตั้งแต่ 23 สิงหาคม พ.ศ.2551 หรือ 9 ปีที่แล้วโน้น หากยังจำกันได้หลังหน่วยงานดังกล่าวถูกตั้งขึ้นเพียงแค่ 2 วัน มีการประเดิมพิจารณาคดีแรกที่สร้างความฮือฮาต่อสังคม ณ ขณะนั้น นั่นคือ คดีที่นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง นักวิชาการชื่อดังฟ้องสายการบินนกแอร์ และกรมการขนส่งทางอากาศ (ขอ.) กรณีที่ไม่ได้จัดให้มีเครื่องตรวจวัตถุระเบิดและโลหะหนัก เพื่อตรวจค้นตัวผู้โดยสารที่จะขึ้นเครื่องสนามบินจังหวัดนครศรีธรรมราช แถมชนะคดีความเสียด้วย ในความจริงแล้วศาลแผนกคดีผู้บริโภคนั้นอยู่ในศาลแขวง ศาลจังหวัด รวมถึงศาลแพ่งทุกแห่ง ซึ่งผู้บริโภคสามารถเรียกใช้บริการตามแต่สะดวก จะเป็นที่ไหนก็เลือกเอา ส่วนการฟ้องร้องสามารถฟ้องด้วยวาจาหรือจะเป็นหนังสือก็ได้ หรือจะฟ้องด้วยตนเอง หรือแต่งทนายความ หรือจะขอให้คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สมาคมที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภครับรอง ดำเนินการฟ้องร้องแทนให้ก็ได้ ที่สำคัญคือไม่ต้องควักกระเป๋าเสียสตุ้งสตางค์ค่าธรรมเนียมด้วย แล้วคดีประเภทไหนเป็นคดีผู้บริโภค ศาลถึงจะรับพิจารณา ก็ต้องบอกไว้ตรงนี้เลยว่าต้องเป็นคดีแพ่งเท่านั้น แต่ต้องเกี่ยวเนื่องในประเด็นดังต่อไปนี้คือ ประการแรก ต้องเป็นคดีระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจมีข้อพิพาทกัน เนื่องจากการบริโภคสินค้าหรือบริการ ประการที่สอง คดีที่ประชาชนได้รับความเสียหายอันเกิดจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย ประการที่สาม ต้องเป็นคดีที่เกี่ยวพันกับคดีทั้ง 2 ข้อข้างต้น ประการสุดท้าย เป็นคดีแพ่งอื่นที่มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นคดีผู้บริโภค ส่วนขั้นตอนในการยื่นฟ้องต่อศาลฯ กำหนดหรือวางหลักเกณฑ์ไว้อย่างไรบ้าง ติดตามอ่านต่อได้ที่ https://goo.gl/BGm5Q7
Tag :