โลกดิจิทัล สื่อออนไลน์กวาดนิตยสารใหญ่ยกแผง

by ThaiQuote, 15 ธันวาคม 2560

จากรายงานของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยระบุว่าธุรกิจ สื่อสิ่งพิมพ์ นิตยสาร วารสาร จัดเป็นธุรกิจดาวร่วงลำดับ 3 ของปีหน้า ซึ่งปรากฎการณ์นี้ได้เริ่มฉายแววมาตั้งแต่ปี 2559 ที่นิตยสาร หนังสือพิมพ์ ที่มีตลาดเฉพาะกลุ่ม หรือมีส่วนแบ่งตลาดในระดับรองได้ทยอยปิดตัวไป เช่น สกุลไทย เปรียว นิตยสารสำหรับหญิงไทยในกลุ่มเป้าหมายที่ต่างกัน นิตยสาร Music Express  นิตยสารเพลงสากลเล่มแรกของไทย นิตยสารหนังสือและวิดีโอ นิตยสาร POP  ดาราภาพยนตร์  The Boy Image ลลนา เธอกับฉันเป็นต้น สิ่งที่เป็นเรื่องน่าตกใจคือในปี 2560 นิตยสารหัวใหญ่ที่มีอายุยาวนานเกือบ 40 ปีต้องมาอำลาแผงไป คือขวัญเรือน ดิฉัน และคู่สร้างคู่สม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคู่สร้างคู่สมที่มียอดขายมากที่สุดและครองความเป็นผู้นำของยอดการตีพิมพ์มาอย่างยาวนาน ต้องลาแผงไป เป็นการสะท้อนว่าโลกดิจิทัล และอิทธิพลของสื่อออนไลน์ได้เข้ามากลืนกินธุรกิจเหล่านี้ที่เมื่อยุค 90 ถือเป็นยุคอู่ฟู่ของกลุ่มธุรกิจนิตยสาร มีงบโฆษณาทั้งประมาณ 7,000-8,000 ล้านบาท อัตราการเติบโตในแต่ละปีไม่ต่ำกว่า 10 % ในรอบ 8 ปีที่ผ่านมา รายได้จากงบโฆษณาซึ่งเป็นรายได้หลักของนิตยสารจากเดิมมีมูลค่าตลาดโดยรวมอยู่ที่ประมาณ 5,000 ล้านบาท มาในปี 2560 เหลืออยู่เพียง 1,600 ล้านบาท และคาดว่าในปีหน้าจะเหลือเพียงประมาณ 1,400 ล้านบาท ในขณะที่งบที่ใช้กับสื่อออนไลน์ทะลุกว่า 12,000 ล้านบาท และมีอัตราการเติบโตแบบก้าวหน้าทุกปี “ดิฉัน”ใต้ร่มปีย์ กัดฟันขาดทุน 3 ปี นิตยสารดิฉัน เปิดลงแผงมาเป็นเวลา 37 ปีแล้ว จากเริ่มต้นมีคุณพอล สิทธิอำนวยเป็นเจ้าของ ต่อมาคุณปีย์ มาลากุล ณ อยุธยาได้เข้ามาซื้อกิจการและเป็นเจ้าของ หลังจากที่คุณปีย์เข้ามาบริหาร นิตยสารเล่มนี้ได้รับการปรับปรุง ปรับโฉมให้อยู่ในตำแหน่งของหนังสือผู้หญิงยุคใหม่ ไฮโซ มีเรื่องของความสวยความงาม แฟชั่น เป็นจุดขาย ตลอดจนมีนิยายที่รับมาจากนักเขียนรุ่นใหม่ในขณะนั้นมาเป็นตัวดึงลูกค้าประจำ ในยุคที่ “ดิฉัน”เฟื่องฟู หนังสือถูกเพิ่มจำนวนหน้ามากกว่า 200 หน้า หน้าโฆษณามากกว่าหน้าเนื้อหา แต่เนื่องจากไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่ที่ไม่สอดคล้องกับจุดยืนของนิตยสารทำให้จำนวนคนอ่านลดลง และส่งผลให้งบโฆษณาไปด้วย ซึ่งคุณปีย์พยายามที่จะประคับประคองให้หนังสือเล่มนี้อยู่ต่อไป เพราะเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต แต่จากรายได้ 6 ปีที่ผ่านมา มีเพียงปี 2555-56 เท่านั้นที่กำไร และกำไรในหลักแสน นับตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมานิตยสารอยู่ในภาวะขาดทุนจาก 5 ล้านบาท มาเป็น 34 ล้านบาทในปี 2559 และคาดว่าในปี 2560 ก็อยู่ในสภาพที่ไม่ต่างกัน คู่สร้าง-คู่สมไป ที่เหลือจะรอดไหม นิตยสาร คู่สร้าง คู่สมวางแผงครั้งแรกวันที่ 1 มกราคม 2523 ราคาฉบับละ 8 บาท และมีการปรับราคาเป็น 12 และ 20 บาท และ 30 มาจนถึงปัจจุบัน กลุ่มคนอ่านคือครอบครัว เน้นสาระและบันเทิง วางแผงครั้งแรกทุกสิบวัน กลุ่มผู้อ่าน เป็นแม่บ้าน หนุ่มสาววัยทำงาน มี รายได้ตั้งแต่ C+ ถึง A+ เป็น คนกรุงเทพฯ 50%, ต่างจังหวัด 35% และกลุ่มผู้อ่านต่างประเทศ 15% จุดเด่นของนิตยสารเล่มนี้คือต้องเป็นเรื่องเด่นที่อยู่ในกระแส และที่เป็นเอกลักษณ์คือ เรื่องที่ ผู้อ่านหรือแหล่งข่าวแฟนคลับเขียนเรื่องส่งมาจากทั่วโลก ทำให้เรื่องมีจุดเด่น สนุก และแตกต่าง นิตยสารคู่สร้างคู่สมไม่ได้เป็นเพียงนิตยสารสำหรับครัวเรือน และร้านเสริมสวยเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์ในแง่ของการสื่อสารกับคนไทยในต่างประเทศ ทั้งนี้เพราะมีนักอ่านคนไทยในต่างประเทศจำนวนมาก เมื่อกระทรวงการต่างประเทศต้องการสื่อสารไปยังคนไทยในต่างแดนจึงมักใช้คู่สร้างคู่สมเป็นสื่อกลาง ด้วยวัตถุประสงค์ที่อยากให้หนังสือเข้าถึงชาวบ้าน ราคาของคู่สร้างคู่สมจึงถูกสุด แต่รายได้จะอาศัยจากงบโฆษณา ราคาโฆษณาของคู่สร้างคู่สมจะสูงสุด ปกหลังนอกราคา 240,000 บาท จำนวนพิมพ์ 340,000 เล่ม  เฉพาะต่างประเทศเกือบ 40,000 เล่ม มากกว่าหนังสืออื่นที่พิมพ์ขายในประเทศไทย คู่สร้างคู่สมไม่จำเป็นจะไม่ขึ้นราคา เพราะไม่ต้องการผลักภาระให้คนอ่าน แต่จะใช้วิธีปรับราคาโฆษณาเอง ทุกปีจะต้องปรับขึ้น 10 % สิ่งที่เป็นผลกระทบหลักของคู่สร้างคู่สมคือคนอ่านหนังสือน้อยกว่าดูมือถือ แฟนพันธุ์แท้ที่เคยส่งจดหมายมาคุยกันก็ลดน้อยลง นอกจากนี้แผงหนังสือก็ล้มหายตายจาก เอเย่นต์จัดจำหน่ายก็แย่ คุณดำรงเคยพยายามที่จะปรับตัวด้วยการรับสมาชิก แต่ธรรมชาติคนซื้อหนังสือของคู่สร้างคู่สมคือเดินมาซื้อที่แผง เพราะตั้งแต่เริ่มนิตยสารเล่มนี้ก็ใช้ระบบการขายผ่านเอเย่นต์มาโดยตลอด เพราะต้นทุนต่ำกว่าการทำระบบสมาชิก สมาชิกต่างประเทศก็ลดลง เพราะพฤติกรรมการเสพสื่อเปลี่ยน เน้นการอ่านออนไลน์มากขึ้น มามองที่รายได้ของคู่สร้าง-คู่สมก็อยู่ในภาวะถดถอยในรอบหลายปีที่ผ่านมาจาก 2558 มีรายได้ 296 ล้านบาท หดตัว 12.08% กำไรสุทธิ 100 ล้านบาท ลดลง 10.69% ปี 2559 มีรายได้ 200 ล้านบาท หดตัว 32.28% กำไรสุทธิ 64 ล้านบาท ลดลง 36.21% ปี 2560 มีรายได้ 125 ล้านบาท หดตัว 37.49% กำไรสุทธิ 38 ล้านบาท ลดลง 40.18% นี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้คุณดำรงตัดสินใจเลิกนิตยสาร คู่สร้าง-คู่สม หนึ่งในนิตยสารในตำนานของไทย จากแผงสู่ออนไลน์ หินดี ๆ นี่เอง แล้วถ้านิตยสารที่มีชื่อเสียงในอดีตจะปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัลด้วยการปรับขึ้นสู่แฟรตฟอร์มใหม่ๆ บนโลกออนไลน์ เช่น ทำเป็นเว็บคอนเท็นต์ ทำบนSocial Media อื่นๆ ได้หรือไม่ คำตอบคือได้ แต่ต้องเผชิญหน้ากับการแข่งขันที่รุนแรงกว่าเมื่อสมัยที่สื่อสิ่งพิมพ์แข่งขันกัน ทั้งนี้เพราะสื่อออนไลน์ได้มีการเปิดตัวของเว็บไซต์สำหรับคนรุ่นใหม่ไปสักระยะหนึ่งแล้ว ยังไม่มีรายไหนที่ครองส่วนแบ่งเป็นผู้นำที่ชัดเจน ทั้งนี้เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคนี้มีความเป็นเอกลักษณ์ เฉพาะตัว มีความเป็นปัจเจกชนสูง ความสนใจและรสนิยมจึงถือว่าจำเพาะเจาะจงมาก แล้วการที่นิตยสารจะมาขึ้นยังแฟรตฟอร์มออนไลน์ ต้องเผชิญหน้ากับการต่อสู่คำค้นหา SEO จำนวนคนดูที่จะแจ้งกว่าการทำนิตยสาร สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นข้อจำกัดที่นิตยสารลายครามจะปรับตัว

Tag :