“ล่า”ละครอินเทรนด์ที่ล้ำเส้นความรู้สึกคนดู

by ThaiQuote, 16 ธันวาคม 2560

ละครเรื่องล่า เริ่มออกอากาศเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ได้รับความสนใจจากคนดูเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลจากวิกิพีเดียระบุว่าเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2560 ที่ผ่านมาเรตติ้งทั่วประเทศขึ้นมาเป็น 1.8 จากวันแรกที่ออกอากาศมีเรตติ้งที่ 1.2 และขณะนี้มีเรตติ้งเฉลี่ยอยู่ที่ 1.42

เรื่องย่อของละครเรื่อง “ล่า” เริ่มต้นจาก มธุสร ตัดสินใจหย่าขาดกับ เกรียงไกร สามีอารมณ์รุนแรงและเจ้าชู้ โดยยกทรัพย์สินทั้งหมดให้สามีเพื่อแลกกับ มธุกร หรือ ผึ้ง ลูกสาวคนเดียว หลังจากที่หย่า มธุสรและลูกก็มีชีวิตลำบาก มีเงินติดตัวไม่มาก มธุสรตัดสินใจเช่าบ้านย่านสลัมอยู่ ทั้งๆ ที่เพื่อนของเธอยินดีช่วยเหลือ แต่มธุสรก็ไม่อยากเป็นภาระใคร มธุสรทำงานใหม่เป็นเสมียน โดยมี กุลชาติ เจ้าของบริษัทคอยยื่นมือเข้ามาช่วย เนื่องจากลูกสาวเขาเป็นเพื่อนผึ้ง และเขาก็สนใจในตัวเธอ วันหนึ่งมธุสรและผึ้งได้ไปพัวพันกับแก็งนักเลงในย่านสลัมของ ไอ้แป๊ว และทำให้พวกมันถูกตำรวจจับ

ไอ้แป๊วและพวกโกรธแค้นมาก จึงได้พาลูกน้องในกลุ่มมาอีก 6คนนั่นคือ ไอ้ย้ง ไอ้ชัย ไอ้ชุ่ย ไอ้ไมเคิล ไอ้จั๊ว และ ไอ้แหลม ดักฉุดแม่ลูกไปข่มขืน และนำน้ำมันท่อรถกรอกปากผึ้ง หลังจากเหตุการณ์นั้น ผึ้งกลายเป็นคนเสียสติจนต้องทำการผ่าตัดเพื่อรักษา แต่แล้วผึ้งก็กลายเป็นคนไร้ความทรงจำ ไร้ความรู้สึก และกลุ่มนักเลงต่างไม่โดนลงโทษ ถึงโดนลงโทษ แต่ก็ติดคุกไม่แค่กี่ปีก็ออกมา เพราะพวกมันต่างมีอิทธิพลคุ้มหัว จึงทำให้มธุสรโกรธแค้นอย่างมาก เธอออกจากงานเสมียนไปเรียนเสริมสวย และได้รู้จักกับครูสอนแต่งหน้าชาวญี่ปุ่นที่ทำให้เธอรู้จักกับการฆ่า และทำให้เธอรู้จักคำว่า “ความพยาบาทเป็นของหวาน” และการล้างแค้นนั้นเป็นจุดเริ่มต้นให้มธุสรล่าทรชนที่ทำให้เธอกับลูกเป็นแบบนี้ เกม “ล่า” จึงเริ่มต้นขึ้น!! กับการตาม “ล่า” 7 ทรชน ที่สร้างตราบาปให้กับชีวิตของเธอและลูก

ละครเรื่องนี้เป็นการพลิกบทบาทของ ลลิตา ปัญโญภาส ภายใต้บทบาทของ มธุสร แม่ผู้รักลูกและเคียดแค้นคนมาทำร้ายลูกเข้าจิตวิญญาณ และด้วยแนวการทำละครของช่องวันที่เน้นความสมจริง จึงได้สะท้อนปัญหาของสังคมในประเด็นของกาข่มขืน และความอาฆาตของแม่ ได้อย่างกดดันความรู้สึกของคนดู หลายฉากคนดูบางส่วนต้องละสายตาลง ซึ่งการแสดงดังกล่าวกำลังเป็นประเด็นคำถามว่า เหมาะสมเพียงใดกับการนำเสนอที่สมจริงจนข้ามเส้นความเหมาะสม เพราะแม้แต่ข่าวที่เกี่ยวข้องกับการข่มขืนยังต้องไม่เผยแพร่ภาพอันไม่พึงประสงค์ออกสู่สายตาประชาชน สาเหตุสำคัญประการหนึ่งคือเป็นการตอกย้ำให้คนดูบางส่วนเคยชินกับปัญหาดังกล่าว ยิ่งหากละครไม่นำเสนอทางออกของปัญหา ยิ่งจะเป็นการทำร้ายคนดูหนักเข้าไปอีก 

อีกด้านหนึ่งละครเรื่องนี้ก็ได้สะท้อนถึงปัญหาความดิบของสังคมไทยที่เกิดจากการทำร้าย ข่มขืน ข่มเหง เพศที่อ่อนแอ เพื่อให้สังคมได้ตระหนักและระมัดระวัง

จากสถิติค่าเฉลี่ยในรอบ 5 ปีของคดีข่มขืนในไทยเฉพาะที่มีการแจ้งความ เกิดคดีข่มขืนปีละประมาณ 4,000 คดี จับคนร้ายได้ 2,400 คดี

แต่เมื่อมีการทำวิจัย กลับได้ข้อสรุปว่า มีคดีข่มขืนที่ไม่ได้แจ้งความประมาณร้อยละ 87 นั่นหมายความว่า 1 ปี อาจมีคดีข่มขืนในไทยมากถึง 30,000 คดี ไม่ใช่ 4,000 คดีไทยจะอยู่อันดับ 10 ของโลกที่มีคดีดังกล่าว แต่ถ้านับตามอัตราเฉลี่ยของคดีกับจำนวนประชากรหญิง ไทยจะสถิติคดีข่มขืนอยู่อันดับที่ 29 ของโลก

มีการรวบรวมข้อมูลว่าด้วย ปัจจัยที่ก่อให้เกิดคดีข่มขืนในไทย พบว่ามาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากที่สุด ขณะที่อาชีพ ที่ก่อคดีมากที่สุด คือ อาชีพลูกจ้างทั่วไป คนว่างงาน และนักเรียน นักศึกษา ส่วนอาชีพของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อคดีข่มขืน พบว่าเป็นนักเรียนนักศึกษา มากถึงร้อยละ 51.2 เป็นเด็กร้อยละ 6.6 แม้ตัวเลข 6.6 จะดูไม่สูง แต่มีแนวโน้มว่า เหยื่อจะเป็นเด็กมากขึ้นเรื่อยๆ

นักวิชาการด้านอาชญาวิทยา จากมหาวิทยาลัยมหิดล มองว่า คดีข่มขืนที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ สาเหตุหนึ่งอาจมาจากการซึมซับความรุนแรงผ่านสังคมออนไลน์ ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่เด็ก เมื่อโตขึ้นความรุนแรงที่สะสมได้ถูกระบายออกโดยไปกระทำต่อผู้อื่น

ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก ครอบครัวข่าว

Tag :