นวัตกรรม เทอร์โมพลาสติก “กรวยจราจร” จากยางพารา ลดการใช้พลาสติก

by ThaiQuote, 24 ธันวาคม 2564

กรวยจราจรยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติก เกิดจากการผสมยางธรรมชาติและพลาสติก ทดแทนกรวยจราจรแบบเดิมที่ผลิตจากพลาสติก ลดเวลาการฉีดขึ้นรูป กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ไม่แตกหักง่าย ช่วยลดของเสียจากกระบวนการผลิต และลดการใช้พลาสติก

 

ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า เอ็มเทคได้ส่งต่องานวิจัย การผลิตกรวยจราจรที่มียางธรรมชาติเป็นส่วนประกอบ เพื่อผลิตเป็นกรวยจราจรเกรดพิเศษ

 

 

โดยการใช้เทคโนโลยีการผลิตยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติก (Thermoplastic Natural Rubber, TPNR) จากเดิมที่ผลิตจากพลาสติกประเภทเอทิลีนไวนิลแอซีเทตโคพอลิเมอร์ (Ethylene Vinyl Acetate Copolymer, EVA)

 

ปัจจุบันรัฐบาลมีการส่งเสริมให้ใช้ ยางพาราหรือยางธรรมชาติมา เป็นวัตถุดิบในการพัฒนาและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยางสำหรับอุตสาหกรรมภายในประเทศ มากยิ่งขึ้น เพื่อให้เพิ่มชนิดและความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ และช่วยให้เกษตรกรชาวสวนยางมีรายได้มากขึ้น

 

 

ทีมวิจัยเอ็มเทค สวทช. ได้ช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นกรวยจราจรที่มีส่วนผสมของยางธรรมชาติ มีสมบัติยืดหยุ่น ไม่แตกหักง่ายเมื่อถูกรถเหยียบ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งผลงานที่ตอบโจทย์ภาคเอกชนและต่อยอดไปจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้

 

นายวษุวัต บุญวิทย์ ผู้บริหาร บริษัท ธนัทธร จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจาก สวทช. ในการเตรียมยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติก สำหรับผลิตกรวยจราจร และจดแจ้งผลิตภัณฑ์ “กรวยจราจรยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติก” ให้อยู่ในบัญชีนวัตกรรมไทย


ดร.ภาสรี เล้ากิจเจริญ นักวิจัยเอ็มเทค สวทช. กล่าวถึงเทคโนโลยีการผลิตยางผสมพลาสติก หรือ ‘ยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติก’ (Thermoplastic Natural Rubber, TPNR) ว่าเป็นการผสมยางธรรมชาติและพลาสติกเข้าด้วยกันในเครื่องอัดรีดสกรูคู่ (Twin Screw Extruder) ร่วมกับเทคนิคไดนามิกวัลคาไนเซชัน

 

 

ก่อนนำไปฉีดขึ้นรูปด้วยเครื่องฉีดพลาสติก (Injection Molding Machine) จึงได้ผลิตภัณฑ์กรวยจราจรที่มีลักษณะและผิวสัมผัสเหมือนยางซึ่งมาจากส่วนผสมยางธรรมชาติ 30% ต่อมาได้ร่วมทดสอบสมบัติเบื้องต้นและสมบัติการใช้งานจริง กับ บริษัท ธนัทธร จำกัด ประมาณ 1 ปี ขณะนี้ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้กับบริษัทแล้ว

 

และบริษัทฯ ได้นำไปผลิตตามมาตรฐานทันทีอีกกว่า 7 ตัน โดยผู้ประกอบการได้ซื้อยางแท่งจากการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต ซึ่งถือเป็นการส่งเสริมการใช้งานและแปรรูปยางพาราในประเทศไทย

 

กรวยจราจรดังกล่าว ทนต่อการฉีกขาด และทนทานต่อการแตกหักได้สูงขึ้น เนื่องจากมีส่วนผสมของยางพารา นอกนั้นยังสามารถขึ้นรูปได้สะดวก รวดเร็วขึ้น แกะชิ้นงานออกจากแม่พิมพ์ได้ง่าย ส่งผลให้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น และยังเกิดของเสียในกระบวนการผลิตน้อยลง

 

 

ขณะเดียวกันยังยึดเกาะพื้นผิวถนนได้ดีขึ้น เพราะน้ำหนักที่มากขึ้นราว 0.2 กม./ชิ้น และมียางพาราหรือยางธรรมชาติที่ยืดหยุ่นเป็นส่วนผสม

 

อีกประเด็นที่สำคัญคือ การเลือกใช้งานวัสดุประเภท “ยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติก” นี้ ยังสามารถทำให้ขึ้นรูปและนำกลับมาใช้ใหม่ได้เหมือนพลาสติก ถือว่าสอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy) ตามนโยบาย BCG Economy Model ที่ช่วยเพิ่มมูลค่าการใช้ยางพาราในประเทศ โดยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจากยางพารา และส่งเสริมอุตสาหกรรมปลายน้ำอีกด้วย