นวัตกรรมใหม่! ม.มหิดล วิจัยยาใหม่สำหรับคนเอเชียที่ป่วยโรค “หัวใจเต้นผิดจังหวะ” มีประสิทธิภาพมากกว่ายาเดิม

by ThaiQuote, 29 เมษายน 2565

 “ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ” อาจเป็นอาการธรรมดาสามัญที่หลายคนไม่ให้ความสนใจ แต่คุณทราบหรือไม่ว่านี่อาจเป็นอาการของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หนึ่งในโรคหัวใจที่พบได้บ่อยชนิดหนึ่งซึ่งไม่เพียงบั่นทอน คุณภาพชีวิตแต่ยังเป็นภัยคุกคาม

 

โดยทั่วไปแล้วอัตราการเต้นของหัวใจคนเราจะอยู่ที่ประมาณ 60 - 100 ครั้งต่อนาที มีจังหวะการเต้นสม่ำเสมอ โดยหัวใจห้องข้างบนและข้างล่างจะเต้นในจังหวะที่สัมพันธ์กัน แต่เมื่อใดก็ตามที่หัวใจเต้นช้า เต้นเร็วเต้นเป็นจังหวะไม่สม่ำเสมอ ไม่สัมพันธ์กัน มีหยุดบางช่วง นั่นหมายถึงว่าเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะขึ้น

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะพบได้ทั่วไปในผู้ป่วยทุกกลุ่มวัย โดยเกิดจากสาเหตุที่แตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งสาเหตุสำคัญ ๆ ไว้ดังนี้

• ความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด เช่น มีผนังหัวใจหนามาก ผู้ป่วยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะที่อายุน้อย ๆ มักมีสาเหตุมาจากความผิดปกติมาตั้งแต่กำเนิด
• ความผิดปกติทางร่างกายที่มีผลต่อการทำงานของหัวใจ อาทิ เบาหวานความดันโลหิต ไขมันในเลือด หลอดเลือดหัวใจตีบ ความดันโลหิตสูงไขมันในเลือดสูง เบาหวาน ซึ่งมักพบในผู้ป่วยกลุ่มที่เป็นผู้สูงอายุ
• อาหารบางอย่าง เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม ช็อกโกแลต
• ยารักษาโรคบางชนิด อาทิ ยาที่มีส่วนประกอบของแอมเฟตามีน ยารักษาโรคหอบหืด
• ความผิดปกติอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ อาทิ ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ อิเล็กโทรไลต์ในร่างกายผิดปกติ เช่น แมกนีเซียม โพแทสเซียม เป็นต้น
• ความเครียดและความวิตกกังวล

ประเทศไทย มีผู้ป่วยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะจำนวนมากถึง 1.5 ล้านคน การแพร่หลายของโรคสอดคล้องกับอายุที่เพิ่มมากขึ้น โดยพบในประชากรอายุระหว่าง 65 – 74 ปี 1.5% ถัดมา คือ 75 – 84 ปี 2.2% และ 85 ปีขึ้นไป 2.8% ตามลำดับ สาเหตุและปัจจัยการเกิดโรค ได้แก่ อายุที่มากขึ้น (ผู้สูงอายุ) กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) อาทิ ความดันสูง เบาหวาน รวมถึงภาวะไทรอยด์เป็นพิษ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคไตเรื้อรัง และหัวใจล้มเหลว

 

 

รองศาสตราจารย์ เภสัชกรสุรกิจ นาฑีสุวรรณ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และอาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเภสัชศาสตร์เฉพาะด้านเกี่ยวกับโรคหัวใจ และยังเป็นเจ้าของผลงานวิจัย เรื่อง “การเปรียบเทียบประสิทธิผล และความปลอดภัยของยาต้านการแข็งตัวของเลือดชนิดกินรุ่นใหม่ กับยาวาร์ฟาริน ในประเทศที่กำลังพัฒนา โดยอาศัยข้อมูลจากการใช้จริงในระบบสุขภาพ” (Real-World Comparative Effectiveness and Safety of Non-Vitamin K Antagonist Oral Anticoagulants vs. Warfarin in a Developing Country) ซึ่งสามารถคว้ารางวัลระดับโลก ”Nagai Award Thailand 2021″ จาก The Nagai Foundation Tokyo ประเทศญี่ปุ่น เมื่อเร็ว ๆ นี้ คือ ความหวังของผู้ป่วยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะของไทย ในการเข้าถึงยาใหม่

รางวัล ”Nagai Award” เป็นรางวัลที่ริเริ่มโดย Professor Tsuneji Nagai ประธาน Nagai Foundation ซึ่งเป็นผู้ให้การสนับสนุนการประชุมวิชาการมาโดยตลอดตั้งแต่ พ.ศ.2541 รางวัลนี้เป็นรางวัลที่มีเกียรติและทรงคุณค่าทางการวิจัยและจัดเป็นรางวัลที่มีผู้รู้จักมากที่สุดรางวัลหนึ่งในสาขาเภสัชกรรมและเภสัชศาสตร์ ซึ่ง Professor Nagai จะเป็นผู้มอบรางวัลนี้แก่นักวิจัยชาวไทยด้วยตนเอง

รองศาสตราจารย์ เภสัชกรสุรกิจให้สัมภาษณ์ Thaiquote ว่า โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะมีหลายประเภท แต่ประเภทที่พบบ่อยที่สุดในประชากรทั่วโลก รวมถึงประชากรไทยด้วย คือ ภาวะหัวใจห้องบนเต้นผิดจังหวะ โดยมีลักษณะที่สั่นพลิ้ว ขาดการบีบตัวที่ดี ทำให้การไหลเวียนเลือดในหัวใจไม่ดี และนำไปสู่การเกิดก้อนเลือดในหัวใจ

ก้อนเลือดดังกล่าวเมื่อเกิดขึ้น อาจหลุดขึ้นไปอุดตันหลอดเลือดที่สมองแบบเฉียบพลันและรุนแรง และทำให้เนื้อสมองขาดเลือดไปเลี้ยง ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต เกิดอัมพาต หรืออัมพฤกษ์ได้

ด้วยเหตุนี้วิธีการหนึ่งในการรักษาภาวะดังกล่าว คือ การใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดก้อนเลือดอุดตันในสมอง

ในอดีตยาต้านการแข็งตัวของเลือดที่ใช้กันอย่างแพร่หลายคือ “วาร์ฟาริน” (Warfarin) อย่างไรก็ตาม ยาดังกล่าวมีปัญหาในการใช้ค่อนข้างมาก การควบคุมระดับการแข็งตัวของเลือดให้เหมาะสมตลอดเวลาทำได้ยาก และมีข้อเสียที่สำคัญ คือ พบอาการข้างเคียงที่ค่อนข้างรุนแรงจากการทำให้เกิดเลือดออกได้โดยเฉพาะเมื่อควบคุมการใช้ยาได้ไม่ดีพอ

ด้วยความสนใจในการศึกษายารักษาโรคหัวใจอยู่แล้ว รองศาสตราจารย์ เภสัชกรสุรกิจ นาฑีสุวรรณ ได้ศึกษาต่อยอดถึงประสิทธิภาพและผลข้างเคียงของยารักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะในกลุ่มใหม่ที่ชื่อว่า “Non-Vitamin K Antagonist Oral Anticoagulants” ซึ่งยังไม่มีการศึกษาในผู้ป่วยที่เป็นคนไทยมาก่อน โดยเปรียบเทียบกับยาเก่า “วาร์ฟาริน” (Warfarin) ที่ใช้ต้านการแข็งตัวของเลือด และลดการเกิดก้อนเลือด แต่มีข้อเสีย คือ มักพบอาการข้างเคียงที่ค่อนข้างรุนแรงจากการทำให้เกิดเลือดออกได้

กรณีที่พบบ่อยมากที่สุดของผู้ป่วยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะคือ การที่ผู้ป่วยต้องกลายเป็นอัมพฤกษ์ และอัมพาต จากการเต้นผิดจังหวะของหัวใจ แล้วทำให้เลือดในหัวใจไหลไม่ดี จนเกิดก้อนเลือดขึ้น และไหลตามกระแสเลือดจากหัวใจขึ้นไปอุดตันในสมอง

“Non-Vitamin K Antagonist Oral Anticoagulants” เป็นยากลุ่มใหม่ที่แม้อาจมีราคาที่สูงกว่าและในปัจจุบันยังใช้สิทธิเบิกจ่ายไม่ได้ แต่จากผลการวิจัยกับผู้ป่วยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะไทยกว่า 2,000 ราย พบว่ายาใหม่เหล่านี้มีอัตราการเกิดผลข้างเคียงที่น้อยกว่ายา “วาร์ฟาริน” (Warfarin) อย่างมาก ช่วยลดอัตราการเกิดเลือดออกได้สูงถึงร้อยละ 50 – 70

นอกจากนี้พบว่า “Non-Vitamin K Antagonist Oral Anticoagulants” มีประสิทธิภาพที่ดีกว่ายา “วาร์ฟาริน” (Warfarin) ในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับยา “วาร์ฟาริน” (Warfarin) แต่ควบคุมระดับการแข็งตัวของเลือดได้ไม่ดีพอ โดยความแตกต่างด้านประสิทธิในการตอบสนองยาแต่ละชนิดต่อสายพันธุ์กรรมที่แตกต่างกัน มีการตอบสนองต่างกัน “วาร์ฟาริน” (Warfarin) มีความสามารถตอบสนองในกลุ่มชาวตะวันตกซึ่งเป็นคนผิวขาว แต่สำหรับ “Non-Vitamin K Antagonist Oral Anticoagulants” สามารถตอบสนองต่อคนทางฝั่งเอเชียได้ดีกว่า การรักษาดีกว่า ผลข้างเคียงน้อยกว่า

ด้วยเหตุนี้ยากลุ่ม “Non-Vitamin K Antagonist Oral Anticoagulants” จึงควรค่าต่อการบรรจุไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อที่จะทำให้ประชาชนคนไทย ซึ่งอยู่ในกลุ่มโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ไม่ว่าจะยากดีมีจน ก็สามารถที่จะเข้าถึงยาใหม่นี้ได้

“การที่งานวิจัยได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการที่มีชื่อเสียง ไม่สำคัญเท่าการได้เห็นงานวิจัยที่ทำนั้นมีประโยชน์ต่อสังคม ทำให้ประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้น และสามารถทำให้สังคมได้เห็นว่างานวิจัยเป็นสิ่งที่มีคุณค่าเพียงใด ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สังคมสนับสนุนงานวิจัยที่มีประโยชน์ ให้เจริญเติบโตต่อไปมากขึ้นเรื่อย ๆ” รองศาสตราจารย์ เภสัชกรสุรกิจ นาทีสุวรรณ นอกจากนี้ยังกล่าวเสริมว่า

“จากอายุการใช้ยาตัวนี้ในต่างประเทศมานานสักระยะหนึ่งแล้ว ระยะเวลาของสิทธิบัตรยาก็จะหมดลง จะทำให้ประเทศต่าง ๆ ที่มีปัญหาด้านการเข้าถึงตัวยาดังกล่าว สามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น มีราคายาที่ถูกลง” รองศาสตราจารย์ เภสัชกรสุรกิจ กล่าวทิ้งท้าย.