“ESG 100” เครื่องหมายการันตีบริษัทมหาชน ก้าวสู่การบริหารที่ยั่งยืน เปิดโอกาสธุรกิจเชื่อมต่อทั่วโลก

by วันทนา อรรถสถาวร , 10 กันยายน 2565

นักลงทุนสถาบัน ตลอดจนบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ต่างคุ้นเคย และรู้จักกับรางวัล ESG 100 แล้วเกณฑ์นี้มีประโยชน์อย่างไร และจะส่งผลต่อการดำเนินการของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์อย่างไร

 

 

ESG กำลังเป็นเกณฑ์ภาคบังคับ ตลอดจนเป็นโอกาสทางธุรกิจให้สามารถเชื่อมต่อกับลูกค้า คู่ค้า และซัพพลายเชนหรือห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก หลายบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ที่ต้องการความยั่งยืนในการระดมทุนจากภาคสถาบันต่าง ๆ จำเป็นต้องมีหลักการันตีว่าบริษัทผ่านเกณฑ์เหล่านี้ ดังนั้นหลายบริษัทจึงต้องการเข้าสู่เกณฑ์ ESG 100

Thaiquote ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการณ์ จากสถาบันไทยพัฒน์ ซึ่งเป็นหน่วยงานสำคัญในการขับเคลื่อน ESG

 

ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการณ์ จากสถาบันไทยพัฒน์

ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการณ์ จากสถาบันไทยพัฒน์

 

สถาบันไทยพัฒน์เป็นหน่วยงานสำคัญในการประเมิน ESG 100 ให้กับบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ อยู่ภายใต้มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สถาบันไทยพัฒน์ทำงานในภาคส่วนของเอกชนเป็นหลัก งานส่วนใหญ่เป็นการสนับสนุนให้ภาคเอกชนเกี่ยวกับความยั่งยืน ESG, SDGs ตลอดจนกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบต่อสังคม การให้บริการหลัก ๆ คือให้คำปรึกษา ฝึกอบรม การทำวิจัย ที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน

ส่วน ESG 100 เริ่มต้นจากปี 2015 เรื่องความยั่งยืนเริ่มเข้ามาในตลาดทุนไทย ช่วงนั้นสถาบันฯได้เข้าไปช่วย กลต.ทำเรื่องเกี่ยวกับ CSR และการต่อต้านการคอร์รัปชั่น ช่วงนั้น ก.ล.ต.ให้เงินสนับสนุนก้อนแรกมา ในช่วงนั้นจะได้ข้อมูลของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ทั้งตลาดมา ทำให้สถาบันฯได้เห็นภาพของความยั่งยืนมากน้อยอย่างไร ทางสถาบันฯก็ได้ข้อมูลจากตรงนั้นมาต่อยอดมาทำทำเนียบ ESG 100 ซึ่งหมายถึง 100 บริษัทที่มีความโดดเด่นเรื่อง ESG ปีนี้เข้าปีที่ 8 ในการจัดทำทำเนียบ ESG 100 ปัจจุบันนี้มีกว่า 800 หลักทรัพย์ที่ทำการประเมินอยู่

หลักเกณฑ์การเข้าสู่ ESG 100

การประเมิน ESG ทั่วโลกมีการมองถึง 2 แนวทางใหญ่ ๆ ด้วยกันคือ แนวทางแรกให้ตอบแบบสอบถาม เพื่อนำคำตอบเหล่านั้นมาประมวลผล อีกแนวทางหนึ่งที่สถาบันไทยพัฒน์ดำเนินการคือการไปดูข้อมูลของบริษัทเปิดเผยข้อมูลในตลาดหลักทรัพย์

ส่วนของการประเมินนั้น เนื่องจากสถาบันไทยพัฒน์เป็นหุ้นส่วนดำเนินการกับ GRI หรือ Global Reporting Incentive ซึ่งเป็นหน่วยงานการประเมิน ESG ที่บริษัททั่วโลกกว่า 80% ได้ดำเนินการประเมินผ่านหน่วยงานดังกล่าว GRI เป็นหนึ่งในมาตรฐานความยั่งยืนที่ได้รับการยอมรับการทั่วโลก เสมือนหนึ่งที่ ISO ได้รับการยอมรับในภาคการผลิต

ประโยชน์ที่บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ได้รับประโยชน์จากการประเมิน ESG 100

ปัจจุบันกระแส ESG ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้แล้ว เริ่มเข้ามาเป็นกระแสหลัก ทุกบริษัทที่จดทะเบียนเข้าใจและเริ่มเข้ามาพูดเรื่อง ESG ซึ่งแตกต่างจากก่อนหน้านี้ที่ทางสถาบันฯต้องไปอธิบายความว่าอะไรคือ ESG เพราะเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำ เพราะนักลงทุนสถาบันปัจจุบันนี้ยึด ESG เป็นส่วนหนึ่งของการพิจารณาเข้ามาซื้อหุ้น โดยตั้งคำถามไปยังผู้บริหารฝ่ายการเงินว่ามีเรื่องของ ESG หรือไม่อย่างไร ปัจจุบันนี้การออกไป Road Show ในต่างประเทศเพื่อหานักลงทุนสถาบัน คำถามครึ่งต่อครึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับ ESG ในมิติต่าง ๆ ที่เหลือก็เป็นข้อมูลปกติของบริษัททั่วไป เป็นแรงกดดันหนึ่งที่มาจากผู้ลงทุนที่เป็นสถาบัน ซึ่ง ESG คือพลังสำคัญของภาคตลาดทุนที่ต้องการเข้าไปลงทุนในบริษัทที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

 

 

ในส่วนที่สองที่เป็นเหตุผลที่บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ต้องดำเนินการ ESG เพราะเป็นกฎเกณฑ์ หรือข้อระเบียบบางอย่างที่มาจากภาคการกำกับดูแลซึ่งก็คือ ก.ล.ต. โดยในปีที่ผ่านมานี้มีกฎระเบียบที่ออกมาบังคับใช้การจัดทำ 56-1 One Report ที่บริษัทจดทะเบียนทุกบริษัทต้องดำเนินการ ซึ่ง One Report มีข้อกำหนดใหม่ออกมาจากเดิมที่กำหนดให้บริษัทต้องดำเนินงานด้าน CSR ก็ปรับมาเป็น ESG ส่งผลให้ทุกบริษัทที่จดทะเบียนต้องมีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับ ESG ไม่มากก็น้อย ให้กับสาธารณะชนได้รับทราบ

ในส่วนที่สามเป็นเรื่องของโอกาสทางธุรกิจ ปัจจุบันนี้คู่ค้าที่อยู่ในห่วงโซ่ธุรกิจเริ่มมีการสอบถามว่า ถ้าหากต้องการซื้อบริการหรือธุรกิจของบริษัทเพื่อมาเป็นซัพพลายเชนนั้น หนึ่งปัจจัยในการพิจารณาคือ การดูแลพนักงานและแรงงานอย่างไร มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินเกณฑ์ที่กำหนดหรือไม่ ถ้าไม่ผ่านเกณฑ์เหล่านี้ บริษัทอาจจะซื้อสินค้าจากบริษัทซัพพลายเชนดังกล่าวไม่ได้ ซึ่งเป็นแรงกดดันระหว่างคู่ค้าธุรกิจด้วยกันเอง ถ้าไม่ทำโอกาสในการดำเนินธุรกิจและบริการก็จะมีความสุ่มเสี่ยง จึงกลายเป็นสิ่งที่ต้องทำ

คุณสมบัติของบริษัทที่ได้เกณฑ์ ESG 100

เกณฑ์ที่ใช้ในการประเมิน ESG 100 มี 2 เกณฑ์ใหญ่ด้วยกันคือ ชุดเกณฑ์แรกคือเกณฑ์คัดกรอง อีกชุดเกณฑ์หนึ่งคือชุดเกณฑ์ประเมิน ESG

เกณฑ์คัดกรองเบื้องต้นเรามีอยู่ทั้งหมด 3 เกณฑ์ ประกอบไปด้วย บริษัทต้องมีผลประกอบการกำไรติดต่อกันอย่างน้อย 2 ปีเป็นต้นไป เป็นบริษัทที่ต้องไม่ได้รับการร้องทุกข์กล่าวโทษโดยสำนักงาน ก.ล.ต. ในรอบปีการประเมิน มีการกระจายหุ้นให้กับผู้ถือหุ้นรายย่อยตามที่ก.ล.ต.กำหนดคือมากกว่า 15% ขึ้นไป เมื่อบริษัทผ่านเกณฑ์เหล่านี้ก็จะเข้าสู่เกณฑ์ประเมิน ESG

ส่วนการประเมิน ESG ก็มีอยู่ทั้งหมด 3 เกณฑ์ด้วยกัน คือ หนึ่งเกณฑ์การวิเคราะห์อุตสาหกรรม เป็นการนำเอาบริษัทที่ขอประเมินมาคลี่พิจารณาตามกลุ่มอุตสาหกรรม จะมีการประเมินเปรียบเทียบระหว่างอุตสาหกรรมเดียวกันเอง เช่น บริษัทอาหารก็จะเปรียบเทียบกับบริษัทอาหารด้วยกันเอง บริษัทพลังงานก็จะเปรียบเทียบกับบริษัทพลังงานด้วยกันเอง ทำให้การประเมิน ESG 100 เกลี่ยไปทุกอุตสาหกรรมที่เท่าเทียมกัน

 

 

ส่วนเกณฑ์ที่สองที่นำมาประเมินคือการวิเคราะห์กลยุทธ์องค์กร โดยมองว่ามีการตอบสนองต่อปัจจัย ESG มากน้อยเพียงใด เช่น การปล่อยก๊าซเรือนกระจก องค์กรได้มีการตั้งเป้า Net Zero กันหรือยัง มีการกำหนดเป้าหมายที่ 1 ที่ 2 กันอย่างไร และหากไม่มีการดำเนินการตามเป้าได้ในปัจจุบัน แล้วมีแผนจะมีการดำเนินการในอนาคตอย่างไร

เกณฑ์ที่สาม ดูเรื่องการรายงานทางการเงินด้วย เพราะท้ายที่สุด ESG 100 จะถูกนำมาใช้โดยนักลงทุน ซึ่งหากการลงทุนดังกล่าวทำไปแล้วไม่มีกำไร หรือมีผลตอบแทนด้านการลงทุนที่ไม่น่าพึงพอใจ นักลงทุนก็ไม่ต้องการหรือไม่ให้การสนับสนุน ยกตัวอย่างเช่นประเด็นเรื่อง Climate Change (การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) บริษัทได้มองโอกาสในส่วนนี้อย่างไร ที่จะนำมาปฏิบัติเพื่อก่อประโยชน์ให้กับบริษัททั้งในแง่ของการลดต้นทุน การทำกำไร หรือโอกาสธุรกิจอย่างไร เช่น การจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว องค์กรมองว่าจะช่วยให้ลดค่าใช้จ่ายอย่างไร องค์กรจะทำ ESG ด้วยการปลูกต้นไม้ ซึ่งเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นขององค์กร หรือองค์กรจะหันมาหาแนวทางเทคโนโลยีในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือการเปลี่ยนแหล่งพลังงานการผลิตที่เป็นพลังงานสะอาด ซึ่งให้ประโยชน์ต่อกระบวนการผลิตมากกว่า เป็นต้น ดังนั้นการวิเคราะห์เรื่องสถานะทางการเงินด้วยจะมีความแตกต่างระหว่างองค์กรที่มอง ESG เป็นส่วนหนึ่งของ CSR และการมอง ESG เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการผลิต ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อบรรทัดสุดท้ายของการดำเนินการที่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นการมองประเด็นเรื่อง ESG เป็นโอกาสในการดำเนินธุรกิจในอนาคตจึงเป็นประเด็นที่สำคัญมากกว่าที่จะมองเป็นต้นทุนเพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้กับองค์กร ซึ่งสามารถมองเป็นโจทย์ทางธุรกิจที่แก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กับการทำกำไรกลับคืนมาให้บริษัท เมื่อมองในมิตินี้ ส่งผลให้บริษัทต่าง ๆ หันมามอง ESG มากขึ้น

การยกระดับมาตรฐาน ESG

แม้ว่าในปัจจุบันทางสถาบันไทยพัฒน์ไม่มีการเปลี่ยนเกณฑ์การพิจารณา ESG แต่บริษัทต่าง ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ที่จะเข้าสู่เกณฑ์ของ ESG จะมีความเข้มข้นมากขึ้น เพราะจากอดีตที่บริษัทเสนอตัวเข้ามาพิจารณาประมาณ 500 บริษัท แต่ป้จจุบันนี้ได้เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 800 บริษัท ส่งผลให้มีการแข่งขันและมีตัวเลือกมากขึ้น และคาดว่าในอนาคตก็จะมีบริษัทในตลาดหลักทรัพย์เข้ามาพิจารณาเกณฑ์ ESG ที่มากขึ้น

 

 

ผลกระทบ ESG ต่อบริษัทต่าง ๆ

บริษัทที่มีส่วนเกี่ยวเนื่องกับ ESG มีทั้งหมด 3 กลุ่มหลัก ๆ ประกอบด้วย กลุ่มแรกคือกลุ่มที่ดำเนินธุรกิจร่วมกับบริษัทคู่ค้าหรือลูกค้าในต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับตลาดในกลุ่มอียูที่มีภาษีคาร์บอนกับบริษัทที่มีการค้าข้ามพรมแดนกัน โดยเขาจะพิจารณาว่าบริษัทดังกล่าวหากกระบวนการผลิตไม่ก่อให้เกิดการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น หลายผลิตภัณฑ์ที่ได้ผลกระทบจากกฎเกณฑ์ดังกล่าวก็ต้องปรับตัว ถ้าหากไม่ปรับตัวก็เกิดความเสี่ยงที่จะขายสินค้าได้ตามช่องทางที่มีอยู่เดิม

กลุ่มที่สองคือกลุ่มที่อยู่ในห่วงโซ่ธุรกิจของบริษัทส่งออกที่มีคู่ค้าในต่างประเทศ ซึ่งเป็นผลกระทบที่ส่งกันมาเป็นทอด ๆ เนื่องจากลูกค้าปลายทางไม่ต้องการบริษัทที่ผลิตแล้วปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือใช้พลังงานฟอสซิล คนที่อยู่ต้นทางตลอดห่วงโซ่อุปทานก็ต้องทำด้วย เพื่อให้อยู่ในมาตรฐานการตรวจสอบของลูกค้าส่งออกปลายทาง

กลุ่มที่สามคือกลุ่มเอสเอ็มอีที่เป็นคู่ค้ากับบริษัทในประเทศที่ปัจจุบันนี้ยังไม่ต้องปรับตัวเกี่ยวกับ ESG แต่คาดว่าในอนาคตอาจมีผลกระทบ

เป้าหมายการพัฒนาสถาบันไทยพัฒน์ในอนาคต

สถาบันฯก็จะพัฒนาการส่งเสริมให้บริษัทในประเทศเข้าสู่เป้าหมาย SDGs 17 ข้อตามที่สหประชาชาติกำหนดให้ดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันนี้ทางสถาบันฯก็เข้าไปให้คำปรึกษาแก่ธุรกิจว่าบริษัทของเขาเข้าสู่เกณฑ์ของ SDGs ข้อไหนบ้าง ซึ่งปัจจุบันนี้มีบริษัทในตลาดหลักทรัพย์กว่า 80% ที่เข้าเกณฑ์ SDGs แต่ประเด็นอยู่ที่บริษัทเหล่านั้นทำ 17 ข้อแล้วจบ แต่การวัดเกณฑ์มีเป้าหมายกว่า 100 ข้อ มีดัชนีวัดมากกว่า 200 มาตรฐาน ซึ่งการปฏิบัติจริงอาจเข้าข่าย แต่เมื่อพิจารณาจริงแล้วอาจไม่ใช่ทั้งหมด จึงเป็นหน้าที่ของสถาบันไทยพัฒน์ในการนำพาบริษัทเหล่านี้ เพื่อให้เข้าสู่เกณฑ์เหล่านี้ตามดัชนีชี้วัดที่ทางสหประชาชาติกำหนด.

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

GULF เปิดบริษัทใหม่ในสหรัฐ เพื่อทุ่ม 1.5 หมื่นลบ. ปิดดีลซื้อหุ้น 49% โรงไฟฟ้า Jackson ในสหรัฐ
https://www.thaiquote.org/content/248107

ดับบลิวเอชเอ เซ็นสัญญาซื้อขายที่ดินครั้งใหญ่ จำนวน 600 ไร่กับบีวายดี ตั้งโรงงานรถยนต์พลังงานใหม่ในเขต EEC
https://www.thaiquote.org/content/248098

ASW ผนึก UOB ขับเคลื่อนนวัตกรรมโซลาร์รูฟท็อป ลุยธุรกิจผ่านสินเชื่อ GREEN LOAN
https://www.thaiquote.org/content/248081