รู้มั้ย? โรคผิวหนังติดฮิตอันดับ 1 ของไทยคือโรคอะไร

by ThaiQuote, 18 มกราคม 2561

โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) เป็นโรคผิวหนังเรื้อรังที่เกิดจากการแบ่งตัวผิดปกติของเซลล์ผิวหนังอย่างรวดเร็วกว่าปกติโดยการกระตุ้นของสารเคมีจากเซลล์เม็ดเลือดขาวที่เรียกว่า ลิมโฟไซต์ (Lymphocytes) ชนิดเซลล์ที (T-cell) ทำให้เกิดการอักเสบจนเกิดเป็นผื่นหนาขนาดใหญ่ มีลักษณะสีเงินและแดงที่ผิวหนังได้ทั่วร่างกาย โรคนี้สามารถเกิดได้ในคนทุกเพศทุกวัย นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา  กล่าวว่า โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) คือ โรคผิวหนังเรื้อรังที่เป็นๆ หายๆ จากสถิติพบผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินประมาณร้อยละ 2-4 ของประชากรทั่วโลก เป็นโรคไม่ติดต่อพบได้ทุกเพศทุกวัยและทุกเชื้อชาติทั่วโลก สาเหตุที่แท้จริงยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มักเกิดจากความผิดปกติของภูมิคุมกัน ทำให้การแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังเร็วกว่าปกติ การเจริญเติบโตและการพัฒนาการของผิวหนังไม่สมบูรณ์ โรคสะเก็ดเงินเป็นโรคผิวหนังที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ถูกกระตุ้นโดยสิ่งแวดล้อม เช่น เป็นหวัด ความเครียด อาการที่พบคือเป็นผื่นแดงหนาขอบเขตชัดเจนมีสะเก็ดสีเงินปกคลุม เมื่อขูดสะเก็ดออกจะพบจุดเลือดเล็กๆ ใต้ผิวหนัง มักเป็นบริเวณข้อศอก หัวเข่า หน้าแข้ง ผื่นอาจมีขนาดเล็กหรือใหญ่กระจายทั่วร่างกาย ศีรษะมีผื่นแดงลอกเป็นขุยขาวๆ คล้ายรังแค อาจมีการเปลี่ยนแปลงที่เล็บ เช่น มีเล็บหนา เนื้อเล็บผุกร่อน ลอกเป็นขุยขาวหรือเป็นหลุมเล็กๆ บริเวณผิวเล็บ และอาจมีอาการปวดข้อร่วมด้วย หากจำแนกตามประเภทของโรคพบว่ามีอยู่หลายชนิด แต่ที่พบได้บ่อยมีดังนี้

  • โรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นหนาหรือปื้นหนา (Plaque Psoriasis/Psoriasis Vulgaris) เป็นชนิดที่พบมากที่สุดประมาณ 80% บริเวณผิวหนังจะมีลักษณะเป็นผื่นแดงหนาคลุมด้วยสีเงิน ส่วนใหญ่มักเกิดกับผิวบริเวณข้อศอก หัวเข่า และหนังศีรษะ
  • โรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นขนาดเล็ก (Guttate Psoriasis) เป็นชนิดที่มักเกิดกับเด็กและวัยรุ่นเป็นส่วนใหญ่ โดยพบได้ประมาณ 10% ของโรคสะเก็ดเงินที่เกิดกับผู้ป่วย ลักษณะผิวหนังจะเป็นจุดสีชมพูขนาดเล็ก และอาจกลายเป็นผื่นหนาสีแดงได้เหมือนกับชนิดผื่นหนา สามารถเกิดได้บ่อยที่แขน ขา หรือตามลำตัว
  • โรคสะเก็ดเงินชนิดที่มีตุ่มหนอง (Pustular Psoriasis) เป็นชนิดที่เกิดได้มากในวัยผู้ใหญ่ บริเวณผิวหนังมีตุ่มหนองสีขาวกระจายเป็นวงกว้างและเกิดการอักเสบจนแดง มักพบมากตามแขนขา อาจเกิดการแพร่กระจายไปทั่วลำตัวได้ บางรายอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ไข้ขึ้น รู้สึกคันตามผิวหนัง ไม่อยากอาหาร
  • โรคสะเก็ดเงินชนิดเกิดตามข้อพับ (Inverse Psoriasis/Intertriginous Psoriasis) ผิวหนังเป็นผื่นแดง มีความเรียบและเงา มักเกิดขึ้นตามข้อพับและซอกต่าง ๆ ตามร่างกาย เช่น หน้าอก รักแร้ ขาหนีบ หรือรอบอวัยวะเพศ
  • โรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นแดงลอกทั่วตัว (Erythrodermic Psoriasis) เป็นชนิดที่รุนแรงและพบได้น้อย เพราะสามารถเกิดขึ้นได้ประมาณ 3% โดยผิวหนังจะเกิดผื่นแดงขนาดใหญ่และลอกอย่างรุนแรง ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกคันและเจ็บ

ด้านการรักษาโรคสะเก็ดเงินไม่สามารถรักษาได้หายขาด แต่การรักษาทำได้เพียงบรรเทาอาการให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้น ลดการอักเสบและผิวหนังที่ตกสะเก็ด ชะลอการเติบโตของเซลล์ผิวหนัง และขจัดผิวหนังที่เป็นแผ่นแข็ง “การรักษาโรคสะเก็ดเงินต้องวางแผนระยะยาวและต่อเนื่อง เพื่อป้องกันโรคกำเริบ กรณีเป็นผื่นไม่มากรักษาด้วยการใช้ยาทา หากอาการไม่ดีขึ้น อาจใช้ร่วมกับการฉายแสงอัลตราไวโอเลต ถ้าผู้ป่วยมีอาการรุนแรง อาจใช้ยารับประทานร่วมด้วย ยาเหล่านี้มีผลข้างเคียงไม่ควรซื้อยามาทาหรือรับประทานเอง ส่วนผื่นที่หนังศีรษะควรใช้แชมพูยาที่มีส่วนผสมของ TAR ร่วมกับการทายา และควรดูแลตัวเองด้วยการทาครีมหรือโลชั่นให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวเป็นประจำทุกวัน หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังเนื่องจากจะทำให้โรคสะเก็ดเงินกำเริบ เช่น ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อในการทำความสะอาด ดื่มเหล้าหรือแอลกอฮอล์ เกาหรือพยายามแกะสะเก็ดออกจากผื่นจะทำให้เลือดออก และควรเลือกใช้สบู่อ่อนๆ รวมถึงควรดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ไม่เป็นหวัด ไม่เครียด” นายแพทย์สุพรรณ กล่าว ส่วนการป้องกันโรคสะเก็ดเงิน เนื่องจากโรคสะเก็ดเงินยังไม่พบสาเหตุการเกิดที่แน่ชัด การป้องกันโรคจึงยังไม่สามารถทำได้เต็มประสิทธิภาพ แต่ทางที่ดีที่สุดในการป้องกันโรค คือ ต้องพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นของการเกิดโรค เช่น พยายามหลีกเลี่ยงความเครียดในชีวิตประจำวันให้มากที่สุด การรับประทานยาบางชนิดควรมีการปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยา เช่น ยาลิเทียม ยาต่อต้านมาลาเรีย ยาลดความดันโลหิต ยาในกลุ่มลดการอักเสบ พยายามดูแลผิวหนังไม่ให้บาดเจ็บจากสิ่งแวดล้อมภายนอก หากเกิดอาการผิดปกติบริเวณผิวหนังควรมีการพบแพทย์ ดูแลร่างกายไม่ให้ติดเชื้อ เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่ในสัดส่วนที่เหมาะสมในแต่ละวัน

Tag :