นายกฯ สั่งใช้ “ประชารัฐ” แก้ยากจน แม่ฮ่องสอน ยกระดับคุณภาพชีวิต

by ThaiQuote, 20 มกราคม 2561

ทั้งนี้จังหวัดแม่ฮ่องสอน ถือเป็นจังหวัดที่มีปัญหาความยากจนอยู่ในอันดับต้นๆ ของประเทศ พื้นที่ส่วนใหญ่ 377 หมู่บ้านจากทั้งหมด 445 หมู่บ้าน อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ เขตป่าสงวนและรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำ, ต้นน้ำสำคัญของประเทศ ทำให้มีข้อจำกัดด้านที่ดินทำกินของประชาชน เพราะผลผลิตทางการเกษตร ไม่สามารถนำมาขายได้ เนื่องจากผิดกฎหมาย แม้ว่ากฎหมายในอดีตจะมีเจตนารมณ์ที่ดี ที่ต้องการอนุรักษ์ผืนป่าและลุ่มน้ำในประเทศไว้ให้มากและสมบูรณ์ที่สุด แต่ในขั้นการบังคับใช้กฎหมายอาจจะสร้างปัญหาใหม่ เพราะประกาศพื้นที่ป่าอาจจะทับพื้นที่ทำกินของพี่น้องประชาชน ที่ส่วนใหญ่เป็นชนเผ่า, ชาวเขา ซึ่งมีวิถีชีวิตอยู่ร่วมกับป่ามาก่อน เมื่อเวลาผ่านไปยิ่งทำให้ปัญหาลุกลามมากขึ้น และดูเหมือน “การอนุรักษ์จะสวนทางกับการพัฒนา” สำหรับหลักคิดในการแก้ปัญหาของรัฐบาลนี้ มี 2 หลักใหญ่ๆ คือ (1) ใช้นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ มาร่วมพิจารณา เพื่อกำหนดแนวทางในการแก้ปัญหา (2) แก้ปัญหาบนพื้นฐานความแตกต่าง ไม่ใช้โมเดลเดียวกับทุกปัญหาทั่วประเทศ เพราะข้อเท็จจริงแตกต่าง ทั้งพื้นที่ ทั้งประชาชน อาชีพ นะครับ สภาวะแวดล้อมต่างๆ ไม่เหมือนกันทั้งหมดนะครับ เพราะฉะนั้นเราต้องประยุกต์หลักการต่างๆ หลักกฎหมาย ให้เหมาะสมกับเอกลักษณ์ของพื้นที่นะครับ แต่ต้องทำให้ถูกต้อง จากการพูดคุยกับพี่น้องประชาชนที่เข้าร่วมในโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐ ได้แก่ โครงการเกษตรแปลงใหญ่ โครงการตามพระราชเสาวนีย์ ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เช่น โครงการขยายพันธุ์กล้วยไม้ป่าเอื้องแซะ เป็นกล้วยไม้ที่หายากชนิดหนึ่ง การส่งเสริมการเลี้ยงไก่เพื่อเพิ่มอาหารโปรตีนให้กับพี่น้องประชาชน และการส่งเสริมการเลี้ยงแกะของศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์แม่ฮ่องสอน รวมไปถึงการส่งเสริมสินค้าเกษตรกรรม เช่น บุก ถั่วลายเสือ กาแฟ รวมความไปถึงเรื่องผ้าขนสัตว์ ซึ่งทั้งหมดนั้นเป็นผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรและชุมชนต่อไปด้วย จะต้องนำเข้าสู่การขับเคลื่อนให้ได้อย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันจากการประชุมคณะรัฐมนตรี ร่วมกับภาคเอกชนในพื้นที่ สรุปได้ว่า รัฐบาลจะเร่งแก้ไขปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ และยกระดับการดำรงชีวิตของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ผ่านหลายมิติด้วยกัน อาทิ (1) การแก้ไขปัญหาความยากจน โดยเราจะกระตุ้นเศรษฐกิจ การลงทุน และการท่องเที่ยวในพื้นที่ เช่น การท่องเที่ยวเชิงคุณภาพน้ำพุร้อนธรรมชาติในจังหวัดแม่ฮ่องสอนจำนวน 6 แห่ง ซึ่งต้องหาความแตกต่างจากที่อื่นๆ ของประเทศ และสร้างจุดขาย สร้างเรื่องราว (2) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานได้แก่ การพัฒนาโครงข่ายทางอากาศ เส้นทางบินตรงกรุงเทพฯ – แม่ฮ่องสอน ซึ่งเร็วๆ นี้ จะมีสายการบินเปิดให้บริการเส้นทางเชียงใหม่ – แม่ฮ่องสอนเพื่อเพิ่มทางเลือกให้ผู้ใช้บริการ ส่วนการขนส่งระบบโครงข่ายรางนั้น ต้องกลับไปศึกษาความเป็นไปได้โดยต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าด้วย อนาคตอาจจะมีได้ (3) การลดความเหลื่อมล้ำ โดยจะเร่งการจัดที่ดินทำกินตามที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ซึ่งจะทำไปทุกๆจังหวัดด้วย (4) การพัฒนาประสิทธิภาพการเข้าถึงการให้บริการของภาครัฐ ทั้งบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข การพัฒนาแหล่งน้ำ และการพัฒนาสถานศึกษาในพื้นที่ห่างไกล ทั้งเรื่องของไฟฟ้า และอินเตอร์เน็ตให้กับพี่น้องประชาชน ที่กล่าวมานั้นเป็นเพียงสวนหนึ่งที่ รัฐบาลรับฟังมา และเราก็จะนำสู่การปฏิบัติ รัฐบาลจะไม่ทิ้งข้อเสนอทุกข้อ ก็ขอให้ภาคเอกชน ประชาชน จงเชื่อมั่นต่อการทำงานของรัฐบาล และขอให้บุคลากรของรัฐทุกระดับได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงาน เราต้องทำงานอย่างหนักและต้องเน้นการทำงานอย่างมีส่วนร่วมด้วยความเข้าใจกับทุกภาคส่วน ข้าราชการต้องเข้าใจให้มากที่สุด ให้เกิดความยั่งยืนภายใต้แนวคิด “ไทยนิยมยั่งยืน”

Tag :