ไม่อยากเห็น “คนจนร้องไห้ในคุก” นายกฯ ชู “กองทุนยุติธรรม”ช่วยได้

by ThaiQuote, 10 กุมภาพันธ์ 2561

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวภายในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2561 ว่า เราทุกคนคงเคยได้ยิน เรื่องราวมากมายเกี่ยวกับปัญหาของผู้มีรายได้น้อย ที่ไม่สามารถเข้าถึงการอำนวยความยุติธรรมได้ด้วยตนเอง เพราะอาจจะไม่มีความรู้เพียงพอ อยู่ห่างไกล ไม่รู้สิทธิ์ ไม่รู้กระบวนการ โดยเฉพาะเรื่องการไม่มีค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรม บางรายต้องไปกู้หนี้ยืมสิน ไม่ว่าจะในระบบ หรือนอกระบบ หลายครอบครัวต้องล้มละลาย เพียงแค่ต้องการความเป็นธรรม ทั้งนี้จากข้อมูลทางสถิติ ปัจจุบันมีผู้ต้องขังถูกควบคุมตัว ระหว่างการสอบสวนและพิจารณาคดี มากกว่า 6 หมื่นคน ซึ่งตามกฎหมายถือว่า “ผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา”  และถึงแม้ว่าผู้ต้องหาทุกคนจะมีสิทธิได้รับการประกันตัวดังกล่าวเป็นการชั่วคราว เพื่อออกมารวบรวมพยานหลักฐานและ พบทนายความ แต่เมื่อไม่มีทุนทรัพย์ จึงไม่ได้ใช้โอกาสนั้น ซึ่งเป็นโจทย์หลักของ “กองทุนยุติธรรม” ที่ยังไม่อาจหยิบยื่นความยุติธรรมให้ถึงมือ “ผู้ต้องคดีที่ยากจน”ได้ เรื่องดังกล่าวจึงเป็นที่มาของนโยบายของรัฐบาลนี้ ที่เห็นความสำคัญของการอำนวยความยุติธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำโดยการตรากฎหมายจัดตั้ง “กองทุนยุติธรรมให้เป็นนิติบุคคล” สำหรับช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ให้ได้รับโอกาส สามารถเข้าถึงความเป็นธรรมได้ ตลอดกระบวนการ ในรูปแบบการช่วยเหลือด้านการเงิน เช่น ค่าใช้จ่ายในการปล่อยตัวชั่วคราว ค่าจ้างทนายความ  ค่าพาหนะ  ค่าที่พัก ค่าฤชาธรรมเนียมในทุกประเภทคดี และค่าใช่จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง “โดยไม่จำกัดวงเงิน” นอกจากนี้สามารถจะอนุมัติคำร้องนั้นๆ ได้ในจังหวัดของตนเอง โดยการรับคำร้องผ่าน “ศูนย์ยุติธรรมชุมชน” ซึ่งตั้ง ณ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใกล้บ้าน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ จังหวัด และยุติธรรมจังหวัด หรือที่ สำนักงานกองทุนยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม กล่าวโดยรวมได้ว่าเป็น “เครือข่ายยุติธรรมชุมชน” สำหรับการยกระดับกลไกในการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของกองทุนยุติธรรมดังกล่าวของรัฐบาลนี้ นับตั้งแต่กฎหมายมีผลบังคับใช้ เมื่อเดือนเมษายน 2559 สามารถลดความเหลื่อมล้ำ ช่วยให้พี่น้องประชาชนผู้มีรายได้น้อยซึ่งตกเป็นผู้ต้องหาได้รับการประกันตัว เพื่อออกไปปกป้องความบริสุทธิ์ของตนตามกระบวนการยุติธรรม ไม่ต้องติดคุก เหมือนที่ใครๆ มักกล่าวว่า “คนจนนอนคุก คนรวยนอนบ้าน” ในระยะเวลา 1 ปี 8 เดือนที่ผ่านมา กองทุนยุติธรรมได้ใช้เงินราว 271 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นเรื่องการช่วยให้มีการปล่อยตัวชั่วคราว คิดเป็นร้อยละ 90 เทียบกับก่อนที่จะมีกฎหมายนี้ ในระยะเวลา 12 ปีที่ผ่านมารวมกัน ใช้จ่ายเงินทำได้เพียง 742 ล้านบาท  ซึ่งพบว่าจากใช้จ่ายเงินในเรื่องดังกล่าวไม่ทั่วถึงกับความต้องการ นอกจากนี้ ในอนาคตประชาชนผู้มีรายได้น้อย จะต้องสามารถเข้าถึงการช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรมได้ง่าย และสะดวกขึ้น ณ ที่บ้านของตนเองผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ เพราะตนไม่อยากเห็น “คนจนร้องไห้ในคุก” ถ้าเขาไม่ได้ทำความผิด ถ้าผิดก็อีกเรื่องหนึ่ง อย่างไรก็ตามหลายคนก็อาจจะพูดว่า คนจนก็ยังคงไม่ได้รับสิทธิอยู่เช่นเดิม  ซึ่งตนเห็นควรว่าจะต้องไปดูที่กระบวนการในการที่จะเข้าถึง ในการที่จะอำนวยความสะดวกให้พี่น้องที่ยากจนจริงๆ ไม่ใช่แต่เฉพาะพรรคพวก เพื่อนฝูง ที่กล่าวอ้างกันในเวลานี้  ซึ่งจะต้องทำให้กระบวนการการเข้าถึงเรื่องเหล่านี้ชัดเจน โปร่งใส ทั่วถึง และเป็นธรรมต่อไป
Tag :