ดูโมเดลญี่ปุ่น ขับเคลื่อนเกษตรไทยผ่านสหกรณ์ เน้นปลูกพืชผสมผสาน

by ThaiQuote, 12 กุมภาพันธ์ 2561

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวระหว่างร่วมงานสัมมนาขับเคลื่อนงานของสภาเกษตรกรแห่งชาติ ในการส่งเสริมและพัฒนาความเข้มแข็งแก่เกษตรกรและองค์กรเกษตรกร ว่า จังหวัดโออิตะ เป็นจังหวัดฐานะยากจนสุดของญี่ปุ่น เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดได้ร่วมกับสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร พัฒนาเกษตรแบบผสมผสาน เชื่อมโยงข้อมูลทุกสหกรณ์ในประเทศ สำรวจตลาดต้องการสินค้าใด ใช้รูปแบบการตลาดเป็นตัวนำ ใช้เทคโนโลยีมาพัฒนาเกษตร เดี๋ยวนี้จังหวัดฟูกูโอกะ โออิตะ กลายเป็นเมืองเทคโนโลยีเกษตร แปรรูปน้ำมะนาว  ชาชงชื่อเสียงดังที่สุดในญี่ปุ่น สตอเบอรี่ทำไอสครีม จากนั้นสหสกรณ์นำผลิตทางเกษตร จำหน่ายในที่พักริมทาง เชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวชุมชน สหกรณ์ค้าขายผ่านออนไลน์  สามารถสร้างรายได้ 600-700 ล้านบาทต่อปี นับว่าการเชื่อมโยงข้อมูล ช่วยเหลือผ่านองค์กรทางการเกษตรจนทำให้อาชีพเกษตรกรมีรายได้ดีขึ้นเป็นอาชีพภาคภูมิใจ นอกจากสหกรณ์ สภาเกษตรกรแล้ว รัฐบาลยังต้องการสร้างสมาร์ทฟาร์มเมอร์ เป็นผู้นำเกษตรกรในชุมชน  ขณะนี้ ธ.ก.ส.สร้างหัวขบวนได้แล้ว 7,000 ราย เพื่อให้คนรุ่นใหม่ใช้ความรู้ เทคโนโลยี มาพัฒนาการผลิต ช่องทางการตลาด เพื่อใช้ E-Commerce ขายไปยังต่างชาติ เพราะแนวโน้มกระแสโลกค้าขายผ่านออนไลน์มากขั้น ขณะที่รัฐบาลเร่งติดตั้ง อินเทอร์บอร์ดแบรนด์ไปถึงทุกหมู่บ้าน กระทรวงดิจิตอล กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ร่วมกันดูแล เพื่อส่งเสริมตลาด โดยรัฐบาลได้ดำเนินการผ่านหน่วยราชการ เช่น กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ควรจะจัดให้มีการบริหารจัดการด้านข้อมูล (Big data)ร่วมกันกับ กระทรวงดีอี ในเรื่องของอินเทอร์เน็ตชุมชน  ร่วมมือกับกระทรวงเกษตร เรื่องของการส่งเสริมและสนับสนุน รวมถึงกระทรวงพาณิชย์ ที่ลงไปช่วยพัฒนารูปแบบของสินค้าเกษตร โดยมีเป้าหมายความสำเร็จคือเกษตรกร ซึ่งเน้นย้ำการปฏิรูปด้านการเกษตรที่จะต้องเริ่มจากท้องถิ่น และมีการบริหารจัดการด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านการเงินที่มีประสิทธิภาพ ผ่านธนาคารรัฐ กองทุนหมู่บ้าน และหน่วยงานย่อยต่างๆ เช่นประชารัฐที่เกิดขึ้นทั้งประเทศ “ยอมรับว่าปาล์มราคา 4 บาทต่อกิโลกรัมเริ่มเป็นที่พอใจของเกษตรกร  ยางพาราต้องดูแลเพิ่มเติม เพื่อลดพื้นที่ปลูกยาง 11 ล้านไร่ หวังผลักดันไม่ให้ต่ำกว่า 50 บาทต่อกิโลกรัม ข้าวราคาเป็นที่พอใจ รัฐบาลจึงต้องการดูแลราคาสินค้าเกษตรทั้ง 3 ประเภท ให้เข้มแข็ง และต้องปลูกพืชผสมผสานอื่นเพิ่มเติมเพื่อลดความเสี่ยง และยังสั่งการให้ ธ.ก.ส.พิจารณาอัตราดอกเบี้ยเงินกู้กับเกษตรกรให้เหมาะสม ยอมรับมีต้นทุนทางการเงิน”ดร.สมคิดกล่าว   นายสมคิด กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงเดือนมีนาคม เมษายน งบกลางปี 1 แสนล้านบาท จะเริ่มออกสู่ระบบเมื่อผ่านการพิจารณาของสภา สนช.  ผ่านกระทรวงเกษตรฯ 35,000 ล้านบาท กระทรวงมหาดไทย 20,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาโกดังเก็บสินค้าเกษตร  การลดพื้นที่ปลูกข้าวนอกเขตชลประทาน  และรัฐบาลยังได้จัดงบประมาณในปี 62 มุ่งพัฒนาเกษตรกรเป็นสำคัญ การมอบหมายให้ ธ.ก.ส. และออมสิน เป็นพี่เลี้ยงสถาบันการเงินประชาชน เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว เพื่อให้เป็นแหล่งทุนและการสะสมเงินออม เพื่อต้องการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง ให้พึ่งพาตนเองได้ในระยะยาว  เมื่อนายกรัฐมนตรีประกาศนโยบายไทยนิยม เพื่อต้องการรับฟังความเห็นจากชาวบ้าน หวังออกนโยบายช่วยแก้ปัญหาและพัฒนาได้อย่างตรงจุด ในช่วง 1 ปีจากนี้ไปจะลงพื้นที่ประชุม ครม.ให้ได้ 36 จังหวัดกระจายลงไปในแต่ละภาค  มุ่งใช้ศาสตร์พระราชาในการช่วยเหลือชุมชน  เห็นตัวอย่างญี่ปุ่นยังช่วยเหลือเกษตรกร อนุรักษ์วิถีชีวิต จนดึงนักท่องเที่ยวเข้าไปถึงพื้นที่สร้างรายได้จำนวนมาก จึงต้องการให้เกษตรกรไทย เร่งปรับตัวพัฒนาสินค้าเกษตร ผ่านการช่วยเหลือของสหกรณ์ องค์กรด้านเกษตร สุดท้ายดร.สมคิดเน้นย้ำถึงการสร้างรากฐานด้านต่างๆทางการเกษตรเพื่ออนาคต การยกระดับและพัฒนาภาคการเกษตรคือหัวใจของการพัฒนาประเทศ ส่วนเรื่องของการเมืองนั้นย้ำว่า มีการเลือกตั้งแน่นอน และการขับเคลื่อนนโยบายในวันนี้จะเป็นประโยชน์ต่อไปในอนาคตหลังการเลือกตั้ง  

Tag :