ข้าวฮาง (Hang Rice) มรดกแห่งภูมิปัญญาของคนไทย

by ThaiQuote, 19 กุมภาพันธ์ 2561

หลายท่านอาจจะได้เคยยินชื่อ “ข้าวฮาง” มาบ้างแล้ว บางท่านอาจจะคิดว่า “อ๋อ.. พันธุ์ข้าวชนิดใหม่แน่เลย” ในความเป็นจริง “ข้าวฮาง” เป็นชื่อเรียกตามลักษณะของเตาที่ใช้นึ่งข้าว ซึ่งภาษาอีสาน เรียกว่า “เตาฮาง” ซึ่งเป็นเตาที่ขุดดิน ทำเป็นเรื่องหรือราง (ฮาง) สำหรับให้เปลวไฟขึ้นและตั้งหม้อนึ่ง ข้าวฮาง เป็นผลผลิตทางภูมิปัญญามาตั้งแต่โบราณ เป็นมรดกตกทอดจากบรรพชนสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน เนื่องจากคนสมัยก่อน (คนภูไท) นิยมอาศัยบนพื้นที่สูงตามเชิงเขา หุบดอย ตั้งบ้านเรือนพิงภูเขา ส่วนด้านหน้าเป็นที่ราบลุ่มมีสายน้ำไหลผ่าน จึงมักมีพื้นที่ทำนาน้อย ผลิตข้าวไม่พอกินตลอดปี จึงจำเป็นต้องหาวิธีที่จะเอาข้าวที่ยังยืนต้นเขียวอยู่ แต่มีรวงค้อมแล้ว มานึ่งกินไปพลาง ก่อนที่ข้าวใหม่จะให้ผลผลิตออกมาตามฤดูกาล กระบวนการผลิตข้าวฮาง ประกอบด้วย แช่ - บ่ม - นึ่ง - ผึ่ง - สี โดยขั้นตอนการบ่ม เป็นขั้นตอนที่ผู้ผลิตต้องการที่จะเร่งให้ข้าวเกิดการงอกราก เพื่อให้ข้าวฮางมีสารกาบาเป็นองค์ประกอบเช่นเดียวกับข้าวเพาะงอก ที่กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบัน ซึ่งสารกาบานี้มีฤทธิ์ในการป้องกันโรคเกี่ยวกับระบบปราสาท ลดความดันโลหิต ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด เพื่อสืบสานภูมิปัญญาไทย ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ส่งต่อคุณค่าแห่งวิถีความเป็นไทยให้คงอยู่อย่างยั่งยืน “Hang Rice” หรือ “ข้าวฮาง” แอพพลิเคชั่น นำเสนอเรื่องราวของข้าวฮาง ภายใต้โครงการความร่วมมือของหน่วยงานต่าง ๆ  ประกอบด้วยจังหวัดสกลนคร จังหวัดนครพนม และจังหวัดมุกดาหาร โดยการพัฒนาของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร จัดทำแอพพลิเคชั่น “Hang Rice” ที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับข้าวฮางทั้งหมด ตั้งแต่กระบวนการผลิต คุณประโยชน์ของข้าวฮาง ในรูปแบบหนังสือมัลติมีเดีย ที่ภายในหนังสือจะนำเสนอเรื่องราวของข้าวฮางผ่านทั้งวีดิทัศน์ ภาพนิ่ง แอนิเมชั่น ต่าง ๆ แสดงให้เห็นถึงวิถีความเป็นไทยและการดำเนินชีวิตในคนไทยภาคอีสาน ให้ได้ซึมซับวิถีชีวิตที่แฝงด้วยภูมิปัญญา โดยแสดงเนื้อหาในรูปแบบ ๓ ภาษา ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน ดาวน์โหลด “Hang Rice” ได้ทั้ง App Store และ Play Store เพื่อร่วมซึบซับวิถีแห่งไทย และทำความรู้จัก “ข้าวฮาง” มรดกแห่งภูมิปัญญาของคนไทยอีสานไปพร้อม ๆ กัน
Tag :