“เงินเดือน” ข้อบ่งชี้ความไม่เท่าเทียมในแรงงานหญิง-ชาย

by ThaiQuote, 8 มีนาคม 2561

จากข้อมูลของ แมนพาวเวอร์กรุ๊ป สำนักงานใหญ่สหรัฐอเมริกา ระบุว่า เพศหญิงในประเทศไทย เริ่มมีการทำงานในตำแหน่งผู้บริหารระดับกลางขึ้นไปและมีอัตราเงินเดือนค่อนข้างสูงเป็นจำนวนมาก ซึ่งในการประชุม World Economic Forum (WEF) 2015 ณ เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้เผยผลสำรวจจาก 145 ประเทศทั่วโลก ระบุว่า ผู้หญิงไทยมีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นลำดับที่ 19  และอยู่ในลำดับที่ 60 ซึ่งประสบปัญหาในการเข้าสู่ตลาดแรงงาน

    

แม้ว่าผู้หญิงไทยดูจะมีบทบาทในด้านภาคแรงงานของประเทศเพิ่มมากขึ้น แต่ในอีกมุมมองหนึ่งเรื่องของรายได้ที่ได้รับจากการทำงานกับสวนทางกับบทบาทหน้าที่ของพวกเธอเหล่านั้น

   

จากบทความ "3 ทศวรรษของการเปลี่ยนแปลงในตลาดแรงงานไทย”ของ ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ที่ปรึกษา ด้านหลักประกันทางสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (ทีดีอาร์ไอ) บ่งชี้ว่า แม้ว่าผู้หญิงจะมีการศึกษาระดับเดียวกันกับชายก็ตาม ผู้หญิงมักได้รับค่าจ้างต่ำกว่าชาย และในผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์มีอัตราการว่างงานสูงกว่าชายอย่างชัดเจน ปัจจัยเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันระหว่างผู้หญิง-ผู้ชายในตลาดแรงงานไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างเชื่องช้ามาก

     

ในปี 2560 กำลังแรงงานชายที่มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี มีจำนวนมากกว่าหญิงกว่า 4 ล้านคน แต่กำลังแรงงานหญิงที่จบปริญญาตรีขึ้นไปมีมากกว่าชายถึง 9 แสนคน ซึ่งกำลังแรงงานในระดับปริญญาตรีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2560 มีแรงงานในระดับนี้ถึงกว่า 6 ล้านคน และในอนาคตจำนวนแรงงานหญิงที่มีการศึกษาสูงจะเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากปี 2560 มีผู้หญิงกำลังเรียนระดับมัธยม อาชีวศึกษา และปริญญาตรีขึ้นไป มากกว่าผู้ชายเกือบ 3 แสนคน

   

เมื่อมีการเพิ่มขึ้นของกำลังแรงงานหญิงที่มีการศึกษาสูง จึงทำให้อัตราการว่างงานของแรงงานหญิงเพิ่มขึ้นตามไปด้วยโดยตลาดแรงงานของไทยยังคงมีความต้องการแรงงานไร้ฝีมือจำนวนมาก ทำให้อัตราการว่างงานของแรงงานที่มีการศึกษามัธยมหรือต่ำกว่าค่อนข้างต่ำจึงน้อยกว่าแรงงานที่มีการศึกษาในระดับปริญญาตรีขึ้นไป

      

ดร.วรวรรณ ยังชี้ว่า ตลาดแรงงานไทยมีการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมกับแรงงานหญิง ซึ่งมองว่าการตั้งครรภ์ของแรงงานเพิ่มต้นทุนให้แก่สถานประกอบการ ในปัจจุบันยังพบว่า ในใบสมัครงานของบางบริษัทมีคำถามแก่ผู้สมัครงานหญิงว่าตั้งครรภ์อยู่หรือไม่ ซึ่งตามกฎหมายนั้น หญิงสามารถลาคลอดได้เป็นเวลา 3 เดือนโดยที่นายจ้างยังต้องจ่ายค่าจ้างให้ตามเดิม

    

ประเด็นสำคัญ คือ แม้ว่าผู้หญิงจะมีโอกาสทางการศึกษาในระดับสูง แต่ค่าจ้างของหญิงมักต่ำกว่าชายตลอดสามทศวรรษที่ผ่านมา โดยมีงานวิจัยมากมายช่วยยืนยันอีกว่า แม้ว่าหญิงจะมีการลงทุนเพื่อการศึกษาและมีประสบการณ์ในการทำงานที่ดีขึ้นแล้วก็ตาม หญิงโดยเฉลี่ยก็ยังคงได้รับค่าจ้างต่ำกว่าชาย คำถามที่จะต้องค้นหาคือ หญิงมีคุณสมบัติในการทำงานด้อยกว่าชายหรือ ? หญิงทำงานคนละตลาดแรงงานกับชายหรือ ? หรือนี่คือการกดค่าจ้างเพราะว่าเป็นหญิง ?

    

โดยจากข้อมูล รายได้ของแรงงานหญิง-ชาย ที่มีการศึกษาในระดับปริญญาตรีในปี 2560 พบว่ามีมูลค่าความแตกต่างกันถึงเดือนละ 5,000 บาทหรือคิดเป็นร้อยละ 28 ของค่าจ้างของหญิง ทั้งที่การจ้างงานในระดับการศึกษาที่สูงนั้นไม่ได้ต้องการกำลังแรงกายที่มักเป็นข้ออ้างในความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบของแรงงาน

    

ในขณะที่งานที่ต้องใช้กำลังแรงกายมากกว่ากลับมีความแตกต่างของค่าจ้างลดลง สัดส่วนความแตกต่างของค่าจ้างของแรงงานหญิงชายที่มีการศึกษาประถมหรือต่ำกว่าลดลงประมาณครึ่งหนึ่งในสามทศวรรษที่ผ่านมา

     

ข้อมูลเหล่านี้จึงพอที่จะอธิบายได้ว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมกันระหว่างแรงงานชาย – หญิง ในตลาดแรงานของไทยยังคงมีอยู่

Tag :