ศึกชิงตั๋ว 4 จี...จุดหักเหธุรกิจโทรคม

by ThaiQuote, 23 ธันวาคม 2558

ตลอดช่วงระยะเวลาการประมูล ทั้ง 4ราย ต่างเคาะเสนอราคากันแบบไม่หยุดหย่อน มีพักบ้าง หยุดบ้าง ปั่นราคาเรียกคู่แข่งตามเกมของตนเอง โดยเฉพาะการตีกันรายใหม่ นั่นก็คือ บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ หรือ JAS  และลุ้นว่า รายเดิมๆ หรือไม่   จนสุดท้ายเวทีนี้ ผู้ที่ชนะการประมูลคลื่น 900 MHz คือ บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ภายใต้กลุ่มบริษัท จัสมิน ที่ได้คลื่นในชุดที่ 1 ช่วงคลื่น 895-905 MHz คู่กับ คลื่น 940-950 MHz ในราคา 75,654 ล้านบาท และบริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ภายใต้บริษัท ทรูมูฟ เอช  ได้คลื่นชุดที่ 2 ช่วงคลื่น 905-915 MHz คู่กับ คลื่น 950-960 MHz  ในราคา 76,298 ล้านบาท จากราคาเริ่มต้นประมูลเริ่มต้นที่ 12,864 ล้านบาท ซึ่ง ราคารวม 2 ใบอนุญาตอยู่ที่ 151,952 ล้านบาทโดยมีการเคาะราคากัน 198 รอบ  ซึ่งการประมูลครั้งนี้ต่างพลิกความคาดหมาย อาจจะต้องบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2558 หรือ ค.ศ. 2015  คือ 1. ประเทศไทยจัดประมูลคลื่นความถี่ที่มีมูลค่าที่สูงที่สุดในโลก มีระยะเวลาไม่ยาวนาน  2. อุตสาหกรรมมือถือเปลี่ยนผ่านเต็มรูป โดยมีผู้แข่งขันรายใหม่เข้าสู่ตลาด  คือ JAS  และ 3. ประเทศไทยเดินหน้าเข้าสู่ยุค 4G  ในระบบการแข่งขันเสรี

 

การประมูลครั้งนี้ จัดได้ว่า เป็นการประมูลที่หลายๆฝ่าย ต่างจับจ้อง มิใช่แค่เพียงกลุ่มผู้อยู่ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม  เป็นคนไทยทั้งประเทศต่างติดตามเหตุการณ์ เพราะต่างลุ้นว่าการประมูลรอบนี้จะขับเคี่ยวกันขนาดไหน จะมีมูลค่าเท่ากับประมูลคลื่น 1800 MHz ในรอบที่แล้วหรือไม่ ที่ได้ราคารวมทั้งสิ้น 80,778 ล้านบาท โดย บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมูนิเคชัน จำกัด ได้คลื่น  1710 – 1725 MHz  คู่กับ 1805 – 1820MHz เสนอราคา 39,792 ล้านบาท และบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด เสนอราคา 40,986 ล้านบาท ได้คลื่นช่วง 1725 – 1740 MHz คู่กับ 1820 – 1835MHz 


จากการประมูลคลื่นทั้ง 2 ครั้ง ส่งผลให้ กสทช. เก็บเกี่ยวผลประโยชน์ทรัพยากรของประเทศนำรายได้เข้าสู่รัฐ นำส่งกระทรวงการคลัง ได้ถึง 232,730 ล้านบาท  ซึ่งในส่วนนี้ กสทช. ได้เงินก้อนแรกมาแล้ว 22,479  ล้านบาท จากผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่1800 MHz  เพื่อชำระค่าประมูลงวดแรกจำนวน 50%   และหากรวมเงิน ส่วนของ ผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี 900 MHz ในอีกมี่สัปดาห์ข้างหน้านี้   75,976 ล้านบาท ในปีนี้ กสทช. จะต้องนำส่งเงินเข้ารัฐ  98,455 ล้านบาท

 

เมื่อพิจารณามูลค่าเม็ดเงินที่เข้ากระเป๋ารัฐในรอบนี้   หลายคนอาจจะส่งเสียงว่าน้อยไป เมื่อเทียบกับมูลค่าจากระบบสัมปทาน ที่ในแต่ละปีจะมีรายได้เข้ารัฐ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นก็เป็นไปตามข้อตกลงว่าด้วยการแข่งขันเสรี  และการยกเลิกระบบสัมปทานของรัฐในกิจการโทรคมนาคม  โดยให้มีการกำกับดูแลขององค์กรอิสระ ซึ่ง กสทช. ตามรัฐธรรมนูญในปี 2551 จึงทำให้การดูแลทรัพยากรของประเทศ มีกระบกวนการกำกับดูแล องค์กรอิสระแทน

 

การประมูลครั้งนี้นั้นเกิดผลดีกับประเทศไทยอย่างไร คนไทยจะได้อะไรหรือไม่  หากจะกล่าวในพื้นที่ในทางระบบการค้าเสรี และทางเศรษฐศาสตร์  ก็คงจะต้องร่ายยาว  เล่าไปมาอาจจะสับสนผิดพลาด คลาดเคลื่อนทั้งผู้เขียน และความเข้าใจของผู้อ่าน  แต่สิ่งแรกที่อยากจะพูดถึง คือ เราได้เห็นว่า การประมูลครั้งนี้ได้สร้างผู้ประกอบการรายใหม่ ที่จะเข้ามาให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ในยุคที่ 4 ซึ่งนั่นก็คือ JAS หรือ แจส โมบาย บรอดแบนด์  จากเดิมเรามีแค่ 3 รายยักษ์ใหญ่ ที่ขับเคี่ยวแข่งขันให้บริการ อย่างเอไอเอส ดีแทค ทรู  และอีก 2 ราย 3G TOT และ My by CAT  ซึ่ง 3 รายแรก เราจะเห็นว่า มีการทำตลาด มีบริการในหลากหลายรูปแบบอย่างเห็นได้ชัด มีวางขายทุกซอกทุกมุม  แต่ 2 รายหลัง กลับเห็นมีน้อย บริการคุณภาพมากน้อย ไม่อาจเปรียบเทียบได้  ถึงแม้ว่าจะมีคุณสมบัติที่ดีในแง่ราคา และการรองรับใช้งานข้อมูลที่ดีพอ แต่ถ้าไปบางจุดพื้นที่ใช้งาน ออกไปนอกอาณาเขตเมือง  ไปหัวเมืองจังหวัดต่างๆ การใช้งานอย่างมากก็ได้แค่โทรพูดคุย หากเชื่อมต่อบริการข้อมูลอาจจะไม่ตอบสนองได้ดีพอ

 

รายใหม่เข้ามา ความดุเดือดในด้านบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ คงจะเห็นได้อย่างชัดเจน ที่รายเดิม โดยเฉพาะทั้ง 3 รายคงจะต้องสร้างพื้นที่แข่งขันให้ดีขึ้น  หลังจากที่การแข่งขันในตลาดมือถือของสามค่ายใหญ่อยู่ในสภาพหยุดนิ่งมาหลายปี  และบางรายจะต้องรักษาสภาพการแข่งขัน หรือ การเร่งตักตวงผลประโยชน์  ก่อนหมดสิทธิ์ในช่วงคลื่นที่ตักตวงบุญเก่าจากระบบสัมปทานเดิม โดยที่ไม่สามารถเข้าไปแอบตักตวงประโยชน์ในระบบการเมือง ระบบอุปถัมภ์ ได้อีกแล้ว

 

เรื่องของการให้บริการ หากจะให้คาดเดา สิ่งแรก เราจะได้เห็นสงครามแพกเกจราคาในรูปแบบเฉพาะมากขึ้น โดยเฉพาะด้านการเชื่อมต่อข้อมูล 3G/4 G  ที่รายใหม่รายเก่า ต้องอัดราคากันมากขึ้น  แถมอาจจะมีเกมตลาดซื้อเครื่องพ่วงบริการในราคาที่ต่ำลงกว่าที่เห็นกว่าในปัจจุบัน  เช่นจ่ายแค่ 5,000 บาท ได้เครื่อง พ่วงใช้งานต่อ 3G/4G ไม่อั้น 12 เดือน   หรือการพ่วงบริการเสริมใหม่ๆ โดยไม่ต้องจ่ายปลีกย่อย  

 

เรื่องที่ 2 คือ การประมูลครั้งนี้ประเทศไทยได้บรรทัดฐานใหม่ ในการจัดสรรกับการนำรายได้เข้ารัฐ หรือการใช้จ่ายในโครงการมุลค่าระดับหมื่นถึงแสนล้านบาท ด้วยวิธีการประมูลหาผู้เหมาะสมกับโครงการ ด้วยการเปิดให้ผู้สนใจเข้ามายื่นเสนอราคา หากโครงการอื่นๆ เลือกกระบวนการคล้ายการประมูลคลื่นครั้งนี้ และมอง กระบวนการแข่งขัน จะเห็นได้ชัดว่า ใครคือคนพร้อม  ใครที่เหมาะสม และยังเปิดโอกาสให้คนใหม่ๆ  ผู้ลงทุน บิ๊กเนมรายใหม่ ได้เข้ามาแข่งขันกับเกมใหม่ๆ ที่เป็นผู้ชนะตัวจริง มีเม็ดเงินลงทุนจริง ในการที่จะมาเป็นผู้ดำเนินการระบบโครงสร้างพื้นฐานของรัฐได้  ซึ่งถ้ารัฐบาลมองเห็นก็อาจจะทำให้สิ่งที่นักลงทุนต่างชาติ มองประเทศไทยมีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเปิดตลาดการค้า การลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง และช่วยยกระดับเป็นประเทศที่น่าลงทุนได้มากยิ่งขึ้น

 

เรื่องที่ 3 รายได้ที่เข้ามาแตะในระดับแสนล้านในเบื้องต้น รัฐบาล สามารถนำไปจัดสรรในโครงการเร่งด่วน อย่าง โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง หรือ รถไฟฟ้าในเขต กรุงเทพ ปริมณฑล ดำเนินงานได้อย่างรวดเร็วขึ้น  ด้วยเพราะงบรัฐที่มีอยู่ในกระเป๋าตอนนี้ก็มีไม่มาก  หากจะใช้จ่ายโครงการขนาดใหญ่ๆ มากเกินไป อาจจะกระทบต่อระบบเงินสำรองประเทศไทย แต่ถ้ามีเม็ดเงินที่ดึงจากกระเป๋านักลงทุน ด้วยเงินสดแบบนี้  หลายสิ่งหายอย่างมันพอช่วยให้รัฐหายใจได้คล่องขึ้น จากที่อยู่ในสภาวะตีบตันมาหลายปี

 

ทางรัฐบาลเองก็มีการติดตามสถานการณ์ประมูล ซึ่งนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที ได้กล่าวหลังเข้าไปให้กำลังใจสื่อมวลชน และสังเกตการณ์ประมูลด้วยตนเองว่า ตนเองได้รายงานเรื่องการประมูลต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แล้ว และท่านได้แสดงความขอบคุณมายัง กสทช.ซึ่งเป็นผู้จัดประมูลและได้เม็ดเงินนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์  โดยเฉพาะการนำไปใช้ในการพัฒนาภาคเกษตรในวงกว้าง ซึ่งจากการร่วมประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้มีการพูดถึงการใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ต โดยในระหว่างประชุมได้รายงานที่ประชุมถึงการประมูลคลื่นความถี่ให้ที่ประชุมทราบ ซึ่งที่ประชุมได้แสดงความสนใจ โดยทางจีนได้แสดงความสนใจที่จะร่วมมือในการพัฒนาอินเทอร์เน็ตพลัส เพื่อสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย

 

ในขณะเดียวกัน เรื่องของโครงข่าย  ถึงแม้ JAS จะมีโครงข่าย 3BB หรือ ทริปเปิลทรี บรอดแบนด์  แต่ถ้าหากจะใช้ของตนเองก็คงอาจจะไม่ทันต่อการแข่งขันในสงครามมือถือ 4G ได้  สิ่งหนึ่งผู้เขียนเชื่อว่า  โครงข่าย ของ TOT และ CAT  จะเป็นตัวช่วยอีกทางหนึ่ง  รัฐก็ยังคงไม่เสียประโยชน์ จากระบบสัมปทาน  ที่อาจจะให้ผู้แข่งขันรายใหม่เข้ามาเช่าใช้โครงข่าย หรือ แม้กระทั่ง  การใช้เสาสัญญาณ สถานีฐานร่วม  เพราะหาก JAS จะรอวาง Network เอง ก็อาจจะไม่ทันกิน โดยเฉพาะการปูพรมกับการเชื่อมต่อสัญญาณให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ต่างๆ มีความสมบูรณ์และครอบคลุม  ทั้งในกทม. และปริมณฑล นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ  ในสิ่ง JAS ได้ทำการสื่อสารออกมาสู้สังคมไทยหลังชนะประมูล  ในคำที่ว่า  พร้อมเป็น 4G ที่ "ใช่" สำหรับคุณ

 

จากทั้ง 3 เรื่องที่ได้กล่าวมานั้น เป็นแค่มุมหลักๆในสิ่งที่คนไทยจะได้เห็น และจะเกิดกลไกทางสังคมในแง่การติดตามตรวจสอบในการทำงานของรัฐมากยิ่งขึ้น  กับการดำเนินงานโครงการระดับชาติ ที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคทุนการค้าเสรี  การเปิดประเทศต้อนรับนักลงทุน  ตลอดจนการเข้าสู่เวทีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน  ซึ่งหากประเทศไทยมีการขับเคลื่อนในมิติใหม่ บริบท ผ่านกระบวนการที่นักลงทุนยอมรับ  การขับเคลื่อนเศรษฐกิจและวิถีคุณภาพชีวิตคนไทยจะก้าวไกลไปอย่างที่ทุกคนต่างรอคอย  อีกทั้งประเทศไทยได้เพิ่มการเข้าถึงระบบสื่อสารโทรคมนาคมากขึ้น จากการขยายตัวในด้านโครงสร้างพื้นฐานบริการโทรคมนาคมรองรับต่อการเติบโตของประชากรและขยายตัวทางเศรษฐกิจ ที่จะต้องคู่ขนานไปด้วยกัน