10 สมุนไพรไทยที่ควรมีอยู่คู่เรือน

by ThaiQuote, 11 มีนาคม 2561

1.กระเพราแดง กะเพราแดงจะมีฤทธิ์ที่แรงกว่ากะเพราขาว ในสรรพคุณทางยาจึงนิยมใช้กะเพราแดง โดยส่วนที่นำมาใช้ทำเป็นยาสมุนไพรก็ได้แก่ ส่วนของใบ ยอดกะเพรา (ทั้งสดและแห้ง) และทั้งต้น สรรพคุณมีมากมาก หลักๆ ใช้สำหรับ แก้ปวดท้อง ท้องอืด แก้ลมจุกเสียดแน่นท้อง

2.มะกรูด สารเคมีที่สำคัญที่พบได้ในผลมะกรูดก็คือน้ำมันหอมระเหย ซึ่งมีทั้งในส่วนของเปลือกผลหรือผิวมะกรูดและในส่วนของใบ โดยเปลือกผลจะมีน้ำมันหอมระเหยประมาณ 4% และในส่วนของใบนั้นจะมีน้ำมันหอมระเหยอยู่ประมาณ 0.08% และยังสกัดยากกว่าน้ำมันในเปลือกผลอีกด้วย แต่ก็ยังมีจุดเด่นตรงที่น้ำมันจากใบจะมีกลิ่นมากกว่านั่นเอง จึงนิยมใช้ทั้งน้ำมันมะกรูดทั้งจากใบและเปลือกผล ซึ่งน้ำมันหอมระเหยนี้ก็สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่างและยังมีสรรพคุณเป็นยาอีกด้วย สรรพคุณหลักๆ ของมะกรูดคือ แก้อาการหน้ามืด วิงเวียน แก้ไอ ขับเสมหะ และใช้บำรุงผม

3.มะระขี้นก ผลจะมีรูปร่างคล้ายกระสวย ผิวเปลือกขรุขระและมีปุ่มยื่นออกมา โดยผลอ่อนจะมีสีเขียว แต่ถ้าเป็นผลแก่จะออกสีเหลืองอมแดง ปลายของผลจะแตกเป็น 3 แฉก  สาเหตุของการตั้งชื่อเพราะนกชอบมาจิกกินทั้งผลและเมล็ด แล้วก็ถ่ายเมล็ดไว้ตามที่ต่าง ๆ จึงเป็นที่มาของชื่อนี้ มะระขี้นกถือเป็นผักที่สะสมวิตามินและสารอาหารที่มีประโยชน์มากชนิดหนึ่ง จึงมีสรรพคุณทางยามากมาย ส่วนใหญ่ที่นำมาใช้ได้แก่ แก้ไข้ แก้ร้อนใน เจริญอาหาร

4.ชะพลู หรือ ช้าพลูมักมีการจำสับสนกับพลูทั้งที่เป็นคนละชนิดกัน ซึ่งใบจะรสไม่จัดเท่ากับพลูและยังมีขนาดเล็กกว่า สำหรับสรรพคุณของชะพลูที่สำคัญนั้นก็ได้แก่ ช่วยบำรุงธาตุ เจริญอาหาร ขับลม แก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ และช่วยในการขับเสมหะ เป็นต้น และประโยชน์ของชะพลูในด้านของสุขภาพนั้นก็คือ มีวิตามินเอและธาตุแคลเซียมในปริมาณสูงเป็นพิเศษ และยังมีธาตุเหล็ก ธาตุฟอสฟอรัส คลอโรฟิลล์ เส้นใยอีกด้วย ซึ่งล้วนแล้วแต่มีประโยชน์ต่อร่างกายแทบทั้งสิ้น ใบชะพลู หากรับประทานในปริมาณมากหรือติดต่อกันเป็นเวลานาน แคลเซียมที่มีอยู่ในใบชะพลูจะเปลี่ยนเป็นแคลเซียมออกซาเลต (Oxalate) ซึ่งสารชนิดนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคนิ่วในไตได้ ดังนั้นคุณจึงควรดื่มน้ำตามมาก ๆ เพื่อให้สารออกซาเลตเจือจางลง

5.สะระแหน่ สะระแหน่อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ หลายชนิด เช่น เบต้าแคโรทีน วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 วิตามินซี ธาตุแคลเซียม ธาตุฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก เป็นต้น และยังให้พลังงาน 47 กิโลแคลอรี่ (ใน 100 กรัม) โดยใบสะระแหน่นั้นควรเลือกใช้ใบสดและยอดอ่อนจะได้สรรพคุณที่ดีกว่าใบแห้ง สรรพคุณทางยาของสาระแหน่คือ บรรเทาอาการวิงเวียน หน้ามืด ขับลม

6.ว่านหางจระเข้ เมื่อพูดถึง สมุนไพรว่านหางจระเข้ เรามักจะนึกถึงสรรพคุณในการรักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก แผลสด ช่วยบรรเทาอาการปวดแสบปวดร้อน ใช้ทาเพื่อป้องรอยแผลเป็นมาตั้งแต่เด็ก ๆ ซึ่งสารที่สามารถใช้รักษาแผลดังกล่าวได้เป็นสาร Glycoprotein ที่มีชื่อว่า Aloctin A เป็น Anti-inflammatory ที่พบได้ในทุก ๆ ส่วนของว่านหางจระเข้ ซึ่งนอกจากสรรพคุณดังกล่าวแล้วยังมีประโยชน์ของว่านหางจระเข้อื่น ๆ อีกมากมาย อาทิ ป้องกันโรคเบาหวาน แก้อาการปวดศีรษะ รักษาแผลในกระเพาะอาหาร เป็นต้น

7.ฟ้าทะลายโจร  มีสารสำคัญที่ออกฤทธิ์ทางยาสมุนไพรอยู่ 3 สารด้วยกัน โดยเป็นสารในกลุ่ม Lactone ซึ่งก็คือ สารแอดโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide), สารนีโอแอนโดรกราโฟไลด์ (Neo-Andrographolide), และสาร 14-ดีอ๊อกซี่แอนโดรกราโฟไลด์ (14-deoxy-andrographolide) โดยส่วนที่นำมาใช้เป็นยาสมุนไพรได้แก่ ใบสด ใบแห้ง และทั้งต้น โดยใบจะเก็บมาใช้ได้เมื่อต้นมีอายุได้ราว 3-5 เดือน สรรพคุณใช้สำหรับ แก้ไขบรรเทาอาการเจ็บตัว บรรเทาอาการของโรคหวัด

8.ใบบัวบก มีสารประกอบสำคัญหลายชนิด อย่างเช่น บราโมซัยด์ บรามิโนซัยด์ ไตรเตอพีนอยด์ มาดิแคสโซซัยด์ ซึ่งมีฤทธิ์ช่วยต้านการอักเสบ และยังมีกรดมาดิแคสซิค วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 6 วิตามินเอ วิตามินเค ธาตุแคลเซียม ธาตุแมกนีเซียม ธาตุโซเดียม และกรดอะมิโน อย่างเช่น แอสพาเรต กรดกลูตามิก เซรีน ทรีโอนีน อะลานีน ไลซีน ฮีสทีดิน เป็นต้น สรรพคุณหลักๆ ที่เป็นที่รู้จักโดยทั่วไปได้แก่ แก้ร้อนใน แก้ช้ำใน ใช้เป็นยาภายนอก รักษาแผลทำให้แผลหายเร็ว แต่บัวบกยังมีสรรพคุณอื่นด้วย เช่น เป็นยาอายุวัฒนะ ช่วยเพิ่มความอ่อนเยาว์ ช่วยบำรุงประสาทและสมอง ชะลออาการสมองเสื่อมในผู้สูงวัย

9.ตะไคร้เป็นทั้งยารักษาโรคและยังมีวิตามินและแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อร่างกายอีกด้วย เช่น วิตามินเอ ธาตุแคลเซียม ธาตุฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก ฯลฯ มีสรรพคุณทางยามากมาย แต่ที่เป็นที่รู้จักโดยทั่วไปคือ ขับลมในลำไส้ เจริญอาหาร ขับปัสสาวะ

10.ขิง จัดเป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งที่มีประโยชน์ต่อร่างกายในหลาย ๆ ด้าน เพราะอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่มีความสำคัญอย่างมากต่อร่างกายของเรา เช่น วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 วิตามินซี เบต้าแคโรทีน ธาตุเหล็ก ธาตุแคลเซียม ธาตุฟอสฟอรัส แถมยังมีโปรตีน คาร์โบไฮเดรต และเส้นใยจำนวนมากอีกด้วย ซึ่งประโยชน์ของขิงนั้น เราสามารถนำมาใช้ได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นราก เหง้า ต้น ใบ ดอก แก่น และผลก็ได้ทั้งนั้น สรรพคุณบรรเทาอาการท้องอืด จุกเสียด ขับลม บรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียน จากอาการเมารถ เมาเรือ

ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก เว็บไซต์เมดไทย,วิกิพีเดีย

ขอขอบคุณภาพจาก Samunpai,google sites, Halsat,เมดไทย, pstip,พิกุลดอทคอม, prerananature,พืชเกษตรคอม,

Tag :