“อาหารเป็นพิษ” กับ 10 เมนูเสี่ยงที่ต้องระวัง

by ThaiQuote, 11 มีนาคม 2561

เดือนมีนาคม คือเดือนซึ่งย่างเข้าสู่ฤดูร้อนของประเทศไทย ด้วยอุณหภูมิที่สูงขึ้น ทำให้คนอย่างเราๆท่านๆจะต้องหาวิธีการเพื่อคลายร้อน เรื่องของการรับประทานเครื่องดื่มเย็นๆ ก็ช่วยให้คลายความร้อนได้ในระดับหนึ่ง แต่รู้หรือไม่ เครื่องดื่มที่ว่าอาจจะเป็นที่มาของการเกิดโรคอาหารเป็นพิษได้

     ช่วงหน้าร้อนซึ่งเชื้อแบคทีเรียมีอัตราการเติบโตได้ดี ซึ่งอาหารที่เรารับประทานจึงมีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียเพิ่มมากขึ้น มีการบูดเสียได้ง่าย ดังนั้นก่อนรับประทานอาหารทุกครั้งจึงต้องระวังเป็นพิเศษ รวมถึงการบริโภคน้ำจากตู้กดน้ำที่ไม่สะอาด ไม่มีคุณภาพด้วย

     ข้อมูลล่าสุดจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม - 26 กุมภาพันธ์ 2561 พบผู้ป่วยแล้ว  22,950 ราย แต่ไม่พบผู้เสียชีวิต โดยกลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ 15 - 24 ปี รองลงมา อายุ 25 - 34 ปี  และ 45 - 54 ปี ส่วนจังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด5 อันดับแรก คือ 1.ลำพูน  2.อำนาจเจริญ 3.ตราด 4.อุบลราชธานี  และ 5.ร้อยเอ็ด 

     สำหรับโรคอาหารเป็นพิษเกิดจากการกินอาหารหรือดื่มน้ำ น้ำแข็ง ที่อาจปนเปื้อนเชื้อโรค (แบคทีเรีย ไวรัส และพยาธิ) สารพิษ หรือสารเคมี ซึ่งมักพบในอาหารที่ปรุงสุกๆ ดิบๆ อาหารไม่สะอาด และอาหารที่ปรุงไว้นานแล้ว ไม่ได้แช่เย็นหรือไม่นำมาอุ่นก่อน

      โดยอาการของผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษ คือ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายอุจจาระ ปวดหัว คอแห้ง กระหายน้ำ อาจมีไข้ เป็นต้น

     ทั้งนี้10 เมนูอาหารที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคอาหารเป็นพิษ ซึ่งควรระมัดระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ 1.ลาบ/ก้อยดิบ  2.ยำกุ้งเต้น  3.ยำหอยแครง/ยำทะเล  4.ข้าวผัดโรยเนื้อปู 5.อาหารหรือขนมที่มีส่วนประกอบของกะทิสด 6.ขนมจีน 7.ข้าวมันไก่ 8.ส้มตำ 9.สลัดผัก และ 10.น้ำแข็งที่ผลิตไม่ได้มาตรฐาน

     ดังนั้นข้อแนะนำ สำหรับการป้องกันความเสี่ยงต่อโรคอาหารเป็นเป็นพิษ คือ จะต้องสำรวจอาหารก่อน หากมีกลิ่น รส หรือรูปเปลี่ยนไป ไม่ควรรับประทานต่อ  หากว่าปกติควรอุ่นให้ร้อนก่อนรับประทาน โดยหลักข้อปฏิบัติ “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” ทั้งก่อนและหลังปรุงประกอบอาหาร และหลังขับถ่าย

      อย่างไรก็ตาม หากพบว่าป่วยด้วยโรคอาหารเป็นพิษ สามารถปฐมพยาบาลเบื้องต้นด้วย การจิบสารละลายเกลือแร่ (โออาร์เอส) ผสมน้ำสะอาดบ่อยๆ เพื่อป้องกันการขาดน้ำและถ่ายเหลวมากกว่าปกติ หากอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

Tag :