“ต้องปรับองค์กรเปลี่ยนความคิด”

by ThaiQuote, 24 ธันวาคม 2558

ผมว่าทุกคนต้องช่วยกัน การที่ปล่อยให้เจ้าหน้าที่ของรัฐบางคนไม่ว่าใครนะครับทำงานโดยคำนึงว่าต้องให้เอกชนมาหา มาขอความช่วยเหลือ ผมว่าต้องเปลี่ยนแนวคิดครับไม่ใช่เลยเด็ดขาด เราเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐมีหน้าที่อำนวยความสะดวก มีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนให้เขาอยู่ดีมีสุขสามารถประกอบธุรกิจได้ดี ตอนที่ผมทำกฏหมายยุทธศาสตร์ชาติผมได้เชิญประธานหอการค้า ประธานสภาอุตสาหกรรม นายกสมาคมธนาคารไทย ประธานสภาการท่องเที่ยวมาพบ ท่านเหล่านี้บอกว่าเห็นด้วยที่จะต้องมียุทธศาสตร์ชาติเพราะนโยบายของประเทศจะได้ไม่เปลี่ยน ไม่ใช่รัฐบาลเปลี่ยนทีนโยบายก็เปลี่ยนแล้วสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือว่าทำอย่างไรจะให้ลดต้นทุนของรัฐที่มีต่อภาคเอกชน อันนี้ชัดเจนนะครับความหมายตรงนี้คือหมายความว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐไปสร้างภาระที่ไม่จำเป็นให้ภาคเอกชน

ฉะนั้นในการปฏิรูประบบราชการตรงนี้จะเป็นความเร่งด่วนที่เราจะต้องทำ ต้องแก้ไข ต้องทำให้ได้ ตรงนี้ก็จะรวมไปถึงเรื่องของนอกจากธรรมาภิบาล ประสิทธิภาพ ต้องพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้วย เราก็ต้องพยายามเปลี่ยนแนวคิดให้มีจิตบริการประชาชนบริการภาคเอกชนเพราะอะไร เวลาคือต้นทุน ข้าราชการจำนวนไม่น้อยผมกล้าพูดเลยในฐานะที่ผมรับราชการมาตลอดชีวิต ข้าราชการบางคนไม่ได้ใส่ใจว่าเวลาเป็นต้นทุนของภาคเอกชนเพราะว่าอะไร ข้าราชการบางคนเขาคิดอยู่อย่างเดียวคือเวลา มาถึงทำงานให้จบพวกคุณประชาชนที่มาก็รอไป ช้าไปหน่อยเขาก็ไม่เห็นเดือดร้อน ผมว่าต้องเปลี่ยนเด็ดขาดเลย

ผมว่าเรามาช่วยกันดีกว่า ช่วยแก้ในสิ่งที่มันช้า สิ่งที่ไม่ถูกต้องสิ่งที่ไม่ดีให้มันดี เพื่อประเทศของเราได้พ้นจากประเทศกำลังพัฒนาเสียที ตอนนี้เราเป็นประเทศกำลังพัฒนานะครับยังไม่เป็นประเทศพัฒนาเสียทีฉะนั้นตรงนี้ก็ต้องมาร่วมกันช่วยกัน

งานที่ไม่เกี่ยวกับระบบราชการจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่เช่นกรณีให้เอกชนเข้ามาดูเรื่องรปภ.

                มีครับมีแน่นอนอยู่ในคณะอนุกรรมาธิการชุดแรกก็คือในเรื่องของอนุกรรมาธิการโครงสร้างภาครัฐก็จะมีการดูว่ามีเรื่องใดที่ไม่จำเป็นที่ภาครัฐจะต้องไปทำเองก็ให้เอกชน ถ้าสิ่งใดภาคเอกชนเขาทำได้ดีกว่าแล้วไม่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศ มั่นคงทางเศรษฐกิจหรืออะไรเป็นต้น ก็ให้เอาท์ซอสไปดำเนินการก็คือให้ภาคเอกชนรับไปเขาทำได้ดีกว่า ถ้าจะว่าไปตรงนี้ก็มองไปถึงเรื่องการงบประมาณและการคลังภาครัฐด้วย คือตอนนี้ทุกภูมิภาคผู้ว่าฯทั้งหลายมักบ่นว่างานทั้งหลายมันจะขึ้นอยู่ส่วนกลาง รวมถึงงบประมาณด้วย ทำยังไงถึงจะกระจายไปอยู่ส่วนภูมิภาคบ้างแล้วทำยังไงท้องถิ่นจะได้รับการกระจายไปบ้าง ตรงนี้ต้องดูด้วยกันเราถึงว่าเราจะทำงบประมาณเป็น 2 ขา ไม่ใช่ดูเฉพาะว่าการจัดสรรงบประมาณอย่างเดียว แต่เรามองดูด้วยว่าแล้วจะทำไงภาครัฐจะสามารถหารายได้เข้ามาในประเทศอย่างถูกต้องได้มากยิ่งขึ้นกว่าในปัจจุบัน

                อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ว่าเราต้องช่วยกันดู สิ่งเหล่านี้ก็อยู่ระหว่างการดำเนินการของคณะอนุกรรมาธิการชุดต่าง ๆ แต่ทั้งหลายทั้งปวงเราจะบูรณาการงานร่วมกันทั้งหมดของคณะอนุกรรมาธิการทั้งเรื่องของโครงสร้าง เรื่องของบุคคล เรื่องของประสิทธิภาพแล้วเรื่องของการเงินการคลังด้วย นี่ก็เป็นแผนที่เราเตรียมเอาไว้เมื่อเราทำแผนแม่บทเสร็จแล้ว เราก็จะมีเวลาอีก 18 เดือนเราก็แยกออกเป็น 3+15 ก็คือว่า 3 เดือนนั้นเราวางแผนไว้ว่าเราจะดูว่าเรื่องไหนมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องทำ โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานที่จะรับไปดำเนินการมาปรึกษาหารือกัน ร่วมกันคิดกับเขาเพราะว่าสิ่งเหล่านี้เราทำเองไม่ได้ หน่วยงานของรัฐต้องเป็นหน่วยงานหลักที่จะต้องทำ เมื่อเป็นหน่วยงานหลักเราก็ต้องให้เขามีความรู้สึกว่าเขามีส่วนร่วมคิด ไม่ใช่อยู่ ๆเราคิดแล้วก็ส่งต่อหรือโยนไปให้เขา เพราะว่าถ้าเราทำแล้วเราก็ต้องส่งไปคณะรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีก็ต้องไปถามส่วนราชการต่าง ๆ

                ในฐานะที่ผมเป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรีมาก่อนก็ต้องถามหน่วยงาน ถ้าหน่วยงานเขารู้สึกว่าไม่ดี ไม่เห็นด้วยเรื่องนั้นก็จอดอยู่ตรงนั้น แต่ถ้าสมมติให้เขามาคิดร่วมกันแล้วเราก็ถามความเห็นด้วย ให้ทุกคนมีส่วนร่วม ทุกคนเป็นเจ้าของถ้าเห็นว่าเรื่องไหนดี เมื่อส่งเรื่องไปครม.ทางครม.ก็ถามไปยังส่วนราชการ กระทรวง ทบวง กรม ถ้าเขาเห็นดีด้วยแล้วมีงบประมาณ คือเวลาที่เราคิดเราต้องคิดด้วยว่ามีงบประมาณพอที่จะทำมั้ย ถ้าไม่มีงบประมาณเราจะหาเงินจากแหล่งไหนต้องคิดประกอบกันไป ถ้าอย่างนี้ก็มีโอกาสสำเร็จ ฉะนั้นตรงนี้เราถึงวางแผนไว้ว่าเดือนที่ 1ของสปท.ดูว่าสปช.ทำอะไรไป เดือนที่ 2 มาทำแผนแม่บท เดือนที่ 3,4,5 เราจะมาทำแผนเชิงยุทธศาสตร์ โดยถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาคิดกับเราว่ามันมียุทธศาสตร์อะไรที่ยังไม่สำเร็จเมื่อผ่านครม.แล้ว หลังจากนั้นหน่วยงานที่จะรับไปปฏิบัติก็มาทำแผนปฏิบัติการหรือแอ๊คชั่นแพลน มันก็จะไล่เรียงลำดับดังนี้แผนแม่บท แผนเชิงยุทธศาสตร์ แผนปฏิบัติงาน ตรงนี้มันก็ต้องพยายามทำให้เสร็จใน 20 เดือนแต่ว่าการปฏิรูปประเทศนี่ไม่สามารถจะทำได้แล้วเสร็จทั้งหมดใน 20 เดือนนะครับแต่ว่าเราก็จะดูอันไหนเร่งด่วนกว่า ในขณะเดียวกันนอกจากเร่งด่วนแล้วมีอะไรที่เราจะทำได้โดยที่ว่าใช้งบประมาณมาก ไม่ต้องใช้เวลามากเราก็รีบทำเรื่องนั้นไปก่อน นี่ก็คือแผนการดำเนินงานที่เตรียมเอาไว้

                ยังมีมุมมองและหลักแนวความคิดที่น่าสนใจที่ ประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) ด้านบริหารราชการแผ่นดินได้กล่าวแสดงความคิดเห็น อดใจไว้รอติดตามกันต่อในคราวหน้า

ที่มา : Thaiquote