นายกฯ ย้ำ “นิสิตจุฬาฯ” หา “จุดสมดุล” ร่วมกัน

by ThaiQuote, 13 เมษายน 2561

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึง การปาฐกถาพิเศษภายใต้หัวข้อ “บทบาทสถานศึกษากับการขับเคลื่อน Thailand 4.0” ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ว่า สำหรับการเดินทางไปแสดงปาฐกถาพิเศษ ภายใต้หัวข้อ “บทบาทสถานศึกษากับการขับเคลื่อน Thailand 4.0” นั้น ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งถือเป็นสถาบันการศึกษาอันทรงเกียรติ เป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของประเทศไทย อยู่คู่สังคมไทยมายาวนานกว่า 101 ปี นั้น ตนได้มีโอกาสเยี่ยมชมผลงาน วิจัยและนวัตกรรมของนิสิตจำนวนมาก ตามที่มีรายงานข่าวไปแล้ว ขณะที่ตนได้ย้ำกับนิสิตจุฬาฯ ในวันนั้น และขอกล่าวกับทุกๆ คน ก็คือพระราชดำรัส ของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ที่ว่า “ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง...ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง” ซึ่งมีความหมายชัดเจน ตรงตัว ว่า “เราควรคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม ก่อนประโยชน์ส่วนตน” ในทุกๆ เรื่อง ทั้งนี้เพราะสังคมหรือบ้านเมือง เป็นที่ๆ เราอยู่ร่วมกันเป็นจำนวนมาก หากต่างคนก็เรียกร้องในสิ่งที่ตนพึงพอใจ โดยไม่สนใจส่วนรวม แล้วความสุขจะอยู่ที่ตรงไหน การเดินหน้าประเทศ การลงทุนโครงการต่างๆ บางโครงการที่ติดขัด ก็ด้วยเหตุนี้ เราต้องหา “จุดสมดุล” ร่วมกันให้ได้ เพื่อจะรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติในภาพรวม บางครั้งเราก็ต้องยอมเสียบางส่วน เพื่อให้ได้สิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าในวันข้างหน้า นอกจากนี้ตนอยากจะกล่าวถึง “เทเลเมดิซีน” (Telemedicine) ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับสังคมของเราในอนาคต รวมถึงการก้าวไปสู่ “สังคมผู้สูงวัย” สอดคล้องกับการเตรียมการเพื่อวันข้างหน้าที่รัฐบาลนี้กำลังดำเนินการอยู่อย่างต่อเนื่อง อาทิ (1) การให้ความสำคัญกับแพทย์ปฐมภูมิ ตั้งแต่ระดับชุมชน-หมู่บ้าน (2) การวางโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ “เน็ตประชารัฐ” เกือบ 40,000 หมู่บ้าน (3) การเชื่อมโยงข้อมูล BIG DATA ภาครัฐนะครับ ซึ่งก็หมายรวมถึง การเชื่อมโยงข้อมูลหมอ จากสถาบัน การศึกษา โรงพยาบาลรัฐ และโรงพยาบาลเอกชน ที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการ เป็นต้น สำหรับทั้ง 3เรื่องนี้ หากมี “เทเลเมดิซีน” เข้ามาเสริม ก็จะช่วยให้พี่น้องประชาชน สามารถเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุข ด้วย “มือถือ – อินเตอร์เน็ต” ที่บ้านได้เลย จะช่วยลดค่าใช้จ่ายจากการเดินทาง จากค่าตรวจ ประหยัดเวลาทั้งผู้ป่วยที่ต้องติดตามอาการจากแพทย์ และแพทย์เองก็สามารถรับผู้ป่วยต่อวันได้เพิ่มมากขึ้น ส่วนผลตรวจร่างกายเบื้องต้น เช่น น้ำหนัก ส่วนสูง ความดัน ปัสสาวะ และเลือด ก็ได้จากคลินิก – สุขาภิบาล – อนามัยใกล้บ้าน ซึ่งมีแทบทุกชุมชน ไม่ต้องไปรอคิวตั้งแต่เช้าที่โรงพยาบาลใหญ่ๆ ในเมือง นอกจากนี้ หากยังจำกันได้ ตนเคยกล่าวถึงหุ่นยนต์ “ดินสอ” ที่คนไทยสร้าง เป็นนวัตกรรมเพื่อดูแลผู้สูงอายุ ได้ส่งออกไปญี่ปุ่นมานานแล้ว ซึ่งตนคิดว่าสามารถเพิ่มประสิทธิภาพระบบ “เทเลเมดิซิน” ที่กล่าวมาได้อีกมาก เพราะหุ่นยนต์นี้สามารถโต้ตอบ รับคำสั่ง แจ้งเตือน และเพิ่มเติมขีดความสามารถอื่นๆ ได้ภายหลัง แล้วแต่เราจะพัฒนาต่อยอดไปอย่างไร
Tag :