“Alibaba Effect” ดี-ร้าย SMEsไทย ต้องระวัง

by ThaiQuote, 18 เมษายน 2561

สำหรับปรากฏการณ์การทุ่มเม็ดเงินก้อนแรกในปีนี้จำนวน 1.1 หมื่นล้านบาท เพื่อการก่อสร้างโครงการ Smart Digital Hub ที่ประกอบไปด้วย ดิจิทัลแพลตฟอร์ม ศูนย์กระจายสินค้า การขนส่งที่จับมือกับทางไปรษณีย์ไทย รวมถึงการลงทุนด้านระบบไอที ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ที่เปิดให้ผู้ประกอบการ SMEs ไทยที่สามารถวางระบบได้เข้าไปร่วม ซึ่ง Smart Digital Hub เป็นโครงการที่จะอาศัยเทคโนโลยีด้านการประมวลข้อมูลโลจิสติกส์ เพื่อทำให้การขนส่งสินค้าระหว่างไทยกับจีน การขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนสู่ประเทศเพื่อนบ้าน (CLMV) และไปยังที่อื่นทั่วโลก นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า การที่อาลีบาบา กรุ๊ป เข้าลงทุนในประเทศไทย ในรูปแบบการค้าของอาลีบาบาที่เปิดกว้างนั้น เป็นสัญญาณเชิงบวกและเชิงเตือนให้กับผู้ประกอบการไทยให้เตรียมพร้อมกับการก้าวไปสู่อนาคต ซึ่งการค้าขายสามารถที่จะเปลี่ยนมือไปสู่อีกมือหนึ่งได้ในทันที   “ 10 ปีจะเห็นได้ว่าเกิดผู้ค้าที่แข็งแรงมากขึ้นในระดับสากลที่พร้อมจะเข้ามาช่วงชิงพื้นที่ทางการค้า ขณะเดียวกันมิตินี้ก็เป็นเชิงบวกที่จะทำให้เกิดการยกระดับของกลุ่มผู้ประกอบการต้องเร่งเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน เพราะนี่คือสัญญาณเตือนที่จะบอกว่า ไม่เปลี่ยนแปลงไม่ได้อีกแล้ว ในขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสในเชิงบวก เหมือนเป็นการเปิดน่านน้ำการค้าใหม่ที่ทำให้ผู้ประกอบการไทยได้ทดลอง ได้เข้าไปร่วมทำกิจกรรมใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น”   ดังนั้นจึงเป็นเรื่องปกติของการค้า ซึ่งทุกคนต้องเตรียมพร้อมอยู่บนเวทีของการแข่งขัน แข่งขันได้แข็งแรงก็เป็นผู้ชนะ ใครที่อ่อนแอก็ยังไม่ถือว่าแพ้ แต่เป็นการทดลองสนาม สร้างประสบการณ์ ซึ่ง สสว.ก็พร้อมที่จะรับมือกับเรื่องดังกล่าว โดยมีโครงการปรับแผนธุรกิจและเพิ่มขีดความสามารถ ( SME Turnaround) สำหรับคนที่ยังไม่แข็งแรงและประสบปัญหาต่างๆ ทั้งเรื่องของ Business Model หรือ ปัญหาทางการเงิน ขณะเดียวกันสถาบันการศึกษาก็พร้อมที่จะตื่นตัวรับกับการลงทุนในครั้งนี้ด้วย โดย รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เปิดเผยกับ “ThaiQuote” ว่า จากการเปลี่ยนแปลงของระบบการค้าในทุกวันนี้ ซึ่งเปลี่ยนไปสู่การค้าขายผ่านออนไลน์เพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกับการลงทุนของ กลุ่มอาลีบาบา ซึ่งถือเป็นเว็บไซต์มาร์เก็ตเพลสระดับโลก ทำให้สถาบันการศึกษาต้องตื่นตัวพร้อมรับมือ ดังนั้นต่อไปนี้หลักสูตรของสถาบันการศึกษาจำเป็นที่จะมุ่งสู่การเป็นดิจิทัล ในเทรนด์ของมาร์เก็ตติ้งออนไลน์ ซึ่งจะทำให้นักศึกษาที่เรียนจบออกมา หรือระหว่างเรียนสามารถที่จะเป็นผู้ประกอบการ หรือค้าขายผ่านออนไลน์ได้ ซึ่งช่วยให้มีรายได้ในระหว่างเรียน   “ วันนี้เมื่อประเทศไทยเปิดสู่การเชื่อมโยงกับตลาดใหญ่ของโลกอย่าง อาลีบาบา ตนมองว่าเราก็มีทั้งโอกาส ในขณะเดียวกันเราจำเป็นที่จะต้องสร้างมาร์เก็ตเพลสสัญชาติไทยให้ไปสู่ระดับสากลด้วย เพื่อที่จะแชร์ทั้ง 2 ตลาดเข้าไปสู่การค้าการขายร่วมกันได้” รศ.ดร.ประเสริฐ กล่าว ด้านผู้ประกอบการ อย่าง ศิริวรรณ พิริยะเมธากุล ผู้จัดการทั่วไป บ.มอลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการ www.thailandmall.com เว็บไซต์ E-Marketplace สัญชาติไทย กล่าวว่า การเข้ามาลงทุนในประเทศไทยของ อาลีบาบา กรุ๊ป ในครั้งนี้ แน่นอนว่ามีผลกระทบต่อ ผู้ประกอบการ E-Marketplace แต่จะกระทบมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับการปรับตัว โดยผู้ประกอบการจำเป็นที่จะต้องหาความต้องการหรืกลุ่มลูกค้าของตนเอง ซึ่งจะต้องสร้างความมั่นใจทั้งกับลูกค้าและกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นผู้ผลิตสินค้า   “ทั้งนี้ในส่วนของ Thailandmall.com นั้นมีผลกระทบที่น้อยเนื่องจากเน้นการส่งออกต่างประเทศมากกว่า แต่ผู้ประกอบการที่ขายค้าขายภายในประเทศจะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง จากการประมาณการของหลายฝ่ายพบว่า การเข้ามาลงทุนของ อาลีบาบา อาจเกิดผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบการหลักของประเทศด้านมาร์เก็ตเพลสประมาณ 5% จากที่มีผู้ประกอบการายหลักอยู่ประมาณ 30 ราย ขณะที่เรื่องหนึ่งซึ่งต้องฝากให้รัฐบาลเข้ามาดูแลคือเรื่องของการขนส่งและโลจิสติกส์ ซึ่งผู้ประกอบการไทยมีต้นทุนค่าขนส่งที่มีราคาแพงกว่าผู้ประกอบการต่างชาติ อาทิในประเทศจีนที่ไม่มีต้นทุนด้านค่าขนส่ง ดังนั้นหากรัฐบาลสามารถช่วยเหลือในด้านดังกล่าวได้ ก็จะช่วยลดต้นทุนของผู้ประกอบการไทยให้น้อยลงและมีศักยภาพเพียงพอที่จะแข่งขันในตลาดโลกได้ ” ผู้จัดการทั่วไป บ.มอลล์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว   อย่างไรก็ตาม จากการคาดการณ์การเติบโตของธุรกิจ E-Commerce ของประเทศไทยในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 30-40 % จากปีที่แล้ว ซึ่งการเติบโตดังกล่าวส่วนใหญ่จะอยู่ที่ผู้ประกอบการรายหลักของประเทศ โดยจากผลสำรวจของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) พบว่ามูลค่าอี-คอมเมิร์ซไทยในปี 2559 มีมูลค่าทั้งสิ้น 2,560,103.36 ล้านบาท และคาดการณ์ไว้ว่าในปี 2560 นี้ อี-คอมเมิร์ซไทยจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นประมาณ 2,812,592.03 ล้านบาท
Tag :