พาณิชย์เข้ม"ชั่ง ตวง วัด" สร้างมาตรฐาน "ผลไม้ไทย” ได้จริงหรือ

by ThaiQuote, 6 พฤษภาคม 2561

"ปีทองผลไม้ไทย” นาทีทองเกษตรกรขายผลผลิตในช่วงขาขึ้น ก.พาณิชย์ เร่งจัดระเบียบ “ชั่ง ตวง วัด”สร้างความเป็นธรรม เกษตรกร-ผู้ซื้อ สู่มาตรฐานระดับโลก รองรับ“มหาอำนาจผลไม้เมืองร้อนของโลก” ในช่วงเวลานี้เส้นทางภาคตะวันออก โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัด จันทบุรี ก็จะได้เห็นภาพของรถบรรทุกผลไม้ โดยเฉพาะทุเรียน เงาะ และยังมีผลไม้ตามฤดูกาลอีกหลายชนิดที่เตรียมออกสู่ตลาด ซึ่งเกษตรกรก็จะขนส่งจากสวนไปขายยังล้ง หรือ ขายให้กับผู้บริโภครายย่อย อีกทั้งกระแสของผลไม้อย่าง “ทุเรียน” กำลังได้รับความนิยมอย่างสูงและมีราคาดี เป็นผลมาจากนโยบายการทำการตลาดของรัฐบาลที่ขับเคลื่อนโดยกระทรวงพาณิชย์ ในการขยายตลาด จนกลายเป็น “นาทีทองของเกษตกร” หรือ ที่เรียกว่าปีทองของผลไม้ในภาคตะวันออกเลยก็ว่าได้ ปีทองผลไม้ไทยนี่เอง ยังเป็นช่วงเวลาดีๆ สำหรับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ให้ประเทศไทย เป็น “มหาอำนาจผลไม้เมืองร้อนของโลก” ซึ่งเป็นนโยบายของ “นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งประกาศไว้ชัดเจน!! เช่นนั้นทางกระทรวงพาณิชย์ จึงเร่งเดินหน้ารับฟังปัญหาเพื่อนำไปแก้ไขและพัฒนาเกษตรกรให้ได้ประโยชน์อย่างเต็มที่สำหรับตลาดผลไม้ที่อยู่ในช่วงขาขึ้น ปัญหาสำคัญประการหนึ่งที่ รมว.พาณิชย์ ได้รับเสียงสะท้อนหลังลงพื้นที่เยี่ยมชมสวนผลไม้และผู้ประกอบการผลไม้ในจังหวัดจันทบุรี เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา คือเรื่องของมาตรฐานการ “ชั่ง ตวง วัด” ซึ่งเป็นเสียงสะท้อนมาจากเกษตรกรโดยตรง ปัญหาเกี่ยวกับการ “ชั่ง ตวง วัด” ไม่เพียงส่งผลต่อเกษตรกรในเวลานำผลผลิตไปขาย ที่หลายๆ ครั้งถูก ล้ง หรือ ผู้รับซื้อ เอารัดเอาเปรียบด้วยการบิดเบือนน้ำหนักที่แท้จริง และนำมาซึ่งการกดราคา โดยนอกจากการนำผลผลิตไปขายและประสบปัญหาดังกล่าวแล้ว ในกรณีกลับกันของการซื้อผลไม้โดยผู้บริโภคก็มักประสบปัญหาดังกล่าวเสมอๆ กลายเป็นมาที่มาของ “ความไม่เป็นธรรม” และเป็นการเอาเปรียบซึ่งกันและกันเป็นหนึ่งในปัญหาและอุปสรรคที่กระทรวงพาณิชย์ ได้รับเสียงสะท้อนผ่านเกษตกรและภาคส่วนต่างๆ ในวงจรแห่งการค้าขายผลไม้ “นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “ผลไม้เมืองร้อนถือว่าเป็นสินค้าเศรษฐกิจที่สำคัญของภาคตะวันออก และในช่วงนี้เป็นฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลไม้หลายชนิดในภาคตะวันออก เช่น ทุเรียน มังคุด เงาะ จึงมีการซื้อขายผลไม้ที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวส่งขายให้ผู้รับซื้อรายใหญ่หรือล้ง ผู้ค้าขายปลีกขายผลไม้ให้กับผู้บริโภคทั่วไป ในการซื้อขายทุกขั้นตอนจะต้องใช้เครื่องชั่งเพื่อชั่งน้ำหนักผลไม้คิดคำนวณราคาซื้อขาย การจัดสายตรวจพิเศษในการตรวจสอบเครื่องชั่งที่ใช้ชั่งซื้อขายทุกขั้นตอนให้มีมาตรฐาน เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจในความเป็นธรรมทางการค้าให้กับเกษตรกร ผู้บริโภค และผู้รับซื้อรายใหญ่ และเป็นไปตามยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนให้ ประเทศไทยเป็นมหาอำนาจด้านผลไม้เมืองร้อนของโลก สร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้กับเกษตรกรไทย ในการลงพื้นที่พบปะเกษตรกรจันทบุรี เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่่านมา มีพิธีปล่อยรถขบวนรถผลไม้ที่ลงไปรับซื้อผลไม้จากเกษตรกร ส่งต่อไปยังสาขา ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ ที่ได้ลงนาม MOU ในการรับซื้อผลไม้ฤดูกาลผลิตในปี 2561 จำนวน 330,000 ตัน มูลค่า 20,000 กว่าล้านบาท เพื่อนำผลผลิตกระจายออกสู่ตลาดภายในประเทศ ซึ่งเป็นการส่งเสริมและเพิ่มช่องทางในการขายผลผลิตให้มากขึ้น และมีแหล่งรองรับผลไม้ที่ออกมา และเป็นการสร้างการรับรู้ และส่งเสริมการบริโภคผลไม้ไทยให้กับผู้บริโภค ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ "การปล่อยคาราวานรถตรวจสอบเครื่องชั่ง เป็นการสร้างความมั่นใจในความเป็นธรรมทางการค้าให้กับเกษตรกร ผู้บริโภค และผู้รับซื้อรายใหญ่ด้วย”รมว.พาณิชย์ กล่าว เมื่อมีกติกาที่ชัดเจน และความเอาใจใส่อย่างจริงจังจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกระทรวงพาณิชย์ และกรมการค้าภายใน ก็เป็นอีกหนึ่งในปัจจัยที่จะช่วยส่งเสริมให้ตลาดผลไม้ไทยมีแนวโน้มที่สดใส และเกษตรกรไทยได้รับประโยชน์จาก “ปีทองผลไม้ไทย” และ เป็น “นาทีทอง”ของการขยายผลผลิตทางการเกษตร บนมาตรฐานที่มั่นใจได้ในเรื่องของการ “ชั่ง ตวง วัด” ที่อย่างน้อยก็เห็นถึงความจริงจังและเอาใจใส่ของหน่วยงานภาครัฐอย่างกระทรวงพาณิชย์ และกรมการค้าภายใน เพียงพอที่จะมั่นใจได้ว่า “ปีทองผลไม้ไทย” และ “นาทีทองของเกษตรกรไทย” จะขับเคลื่อนต่อไปด้วยมาตรฐาน ด้วยความเป็นธรรม ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย และมั่นใจได้ว่า แนวทางการสร้างมาตรฐานนี้ ไม่เพียงแต่จะเกิดขึ้นในช่วงเวลานี้เท่านั้น แต่ยังเป็นบรรทัดฐานสำหรับ “ตลาดผลไม้ไทย” ในอนาคต อย่างไรก็ตาม แม้กระทรวงพาณิชย์ พยายามเข้าไปดูแลเรื่องการชั่ง ตวง วัด ผลไม้ไทย แต่ทางปฏิบัติไม่สามารถลงไปถึงทุกสวนผลไม้ ทำอย่างไรจึงจะทำให้ ทุกฝ่ายยึดมั่นในมาตรฐานนี้ เพื่ออนาคตของผลไม้ไทยอย่างแท้จริง