“เจ้าของห้องเช่า” 4,000 แห่งรวมตัวต้านกฎหมายใหม่ ชี้นับ 10,000 รายต้องล้มตาย พึ่งศาลปกครอง

by ThaiQuote, 16 พฤษภาคม 2561

กรณีที่มีการประกาศใช้กฎหมายหอพักฉบับใหม่ และมีประกาศจาก สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) กำหนดให้หอพักห้ามเก็บค่าน้ำ-ค่าไฟฟ้าเกินจริง ห้ามเก็บค่าล่วงหน้าเกิน 1 เดือน และห้ามเข้าไปในห้องพัก รื้อย้ายสิ่งของๆผู้เช่าที่ไม่จ่ายค่าเช่า สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ประกอบการหอพัก ได้มีการรวมตัวกันเพื่อเคลื่อนไหวปัญหา โดยได้ข้อสรุปยื่นฟ้องต่อศาลปกครองและศาลปกครองได้นัดไต่สวนฉุกเฉินในวันที่ 17 พฤษภาคม 2561 นั้น ภานุวัฒน์ ฉัตรรัตนมาลัย ผู้ประกอบการอพาร์ทเม้นท์ย่านบางแค กล่าวกับ “ThaiQuote”ว่า ได้มีผู้ประกอบการรวมตัวกันประมาณ 3,000-4,000 คนเพื่อคัดค้านในเรื่องนี้ หากไม่เดือดร้อนคนเหล่านี้จะไม่รวมตัวกัน เพราะทุกคนคือคู่แข่งในธุรกิจเดียวกัน บางคนอยู่ในซอยเดียวกันปกติยังไม่คุยกันเลย แต่ประกาศของ สคบ.คนที่ไม่คุยกันกลับมารวมตัวกัน เขา กล่าวว่า ปัจจุบันแม้ไม่มีประกาศจาก สคบ. บรรดาห้องเช่า  อพาร์ทเม้นท์ ก็มีการควบคุมด้วยกลไกทางการตลาดที่มีการแข่งขันสูง ทั้งด้านบริการ สิ่งอำนวยความสะดวกมาแข่งขันนำเสนอให้กับผู้บริโภค ด้วยจำนวนห้องเช่าที่เพิ่มขึ้น ผู้เช่ามีสิทธิ์เลือกมากขึ้น ธุรกิจนี้จึงมีเดิมพันอยู่ที่ความพึงพอใจของผู้บริโภค ในขณะที่กำไรจากผลประกอบการมีเพียงน้อยนิด   ขณะเดียวกันอีกหนึ่งข้อควบคุม คือสัญญาเช่า โดยเป็นการยอมรับทั้ง 2 ฝ่ายเมื่อมีการทำสัญญาในวันก่อนการเช่าหรือเข้าอยู่ ซึ่งถือว่ามีกฎหมายแพ่งรองรับอยู่แล้ว “เราไม่ใช่เสือนอนกิน เมื่อก่อนคนอาจจะคิดอย่างนั้น แต่ปัจจุบัน การสร้างอพาร์ทเม้นท์ ห้องเช่าให้คนเช่าอยู่ต้องลงทุนเป็นล้าน หลายคนอาจลงทุนเป็นหลัก 10 ล้าน ระยะเวลาคืนทุน ในอดีต อาจจะ 8-10ปี แต่ปัจจุบันอาจนานถึง 15 ปี เพราะทุกวันนี้ธุรกิจนี้มีการแข่งขันสูง ผู้ประกอบการต้องง้อผู้เช่า ผู้เช่ามีอำนาจสูงสุดในการตัดสินใจ”นายภานุวัฒน์ กล่าว ผู้ประกอบการธุรกิจหอพักทั่วประเทศ คาดว่ามีผู้ที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลอยู่ประมาณ 1-2 หมื่นราย และประเภทบุคคลธรรมดาอีกนับแสนราย โดยมีจำนวนห้องเช่าตั้งแต่ 5 ห้องขึ้นไปจนถึงหลักร้อยห้อง ประมาณการจำนวนผู้เช่าเป็นล้านราย   “ที่ประชุมผู้ประกอบการได้สะท้อนผลกระทบจากประกาศ สคบ.ทั้งค่าน้ำค่าไฟ ค่าประกันล่วงหน้า ไม่จ่ายค่าเช่าก็สามารถอยู่อาศัยต่อไปได้ รวมถึงข้อบังคับที่ว่าจะต้องแจ้งก่อนล่วงหน้า 30 วันเมื่อจะยกเลิกการเช่า และการห้ามล็อกห้องเมื่อมีการทำผิดกฎระเบียบ โดยมองว่าเรื่องดังกล่าวล้วนไม่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการ ประกาศของสคบ.บังคับแบบเหมายกเข่ง ทั้งที่มีปลาเน่าเพียงบางตัวเท่านั้น” นายภานุวัฒน์ กล่าว   ส่วนการเก็บค่าน้ำค่าไฟ ค่าประกัน เขา กล่าวว่า ทุกอย่างมีราคาชัดเจน ตามที่ระบุในสัญญา แทนการที่จะต้องขึ้นราคาค่าเช่า หรือเก็บค่าส่วนกลาง เพราะเมื่อทำอย่างนั้นผู้เช่าก็เลือกที่จะเช่าห้องชุด คอนโดฯ และจะสะท้อนปัญหากลับมายังผู้เช่าที่มีรายได้น้อยอีกด้วย “ค่าน้ำค่าไฟ ผมแนะนำให้รัฐเข้ามาช่วยแก้ปัญหา เพราะมิเตอร์ไฟฟ้าและน้ำประปา  อพาร์ทเม้นท์หรือห้องเช่าส่วนใหญ่จะมีการแยกหม้อของแต่ละห้อง ซึ่งเหล่านี้รัฐสามารถแยกเก็บค่าน้ำค่าไฟได้ตามจริง โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่พร้อมยินยอมให้ใช้หลักการเดียวกันกับคอนโดมิเนียม แต่มีข้อสังเกตว่าที่หน่วยงานที่รับผิดชอบไม่ทำนั้น เพราะการเรียกเก็บกับผู้ประกอบการโดยตรง จะเป็นการเรียกเก็บในอัตราก้าวหน้า ซึ่งคุ้มทุนกว่าการเรียกเก็บทีละห้อง แต่หากมีการตั้งเป็นหน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ คิดว่าจะเป็นแนวคิดซึ่งได้ประโยชน์มากกว่าเสียกับทุกฝ่าย” ผู้ประกอบการรายหนึ่ง กล่าวเพิ่มเติม   ด้าน บารมี เรืองกาญจนเศรษฐ์ ผู้ประกอบการอพาร์ทเม้นท์ย่านพญาไท กล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจนี้มีความหลากหลาย เนื่องจากมีผู้เล่นเยอะ แต่ประกาศของ สคบ.จะทำให้ผู้ประกอบการหน้าใหม่ไม่กล้าเข้ามาลงทุน ส่วนพวกที่มีอยู่เดิมก็จะทยอยล้มหายตายจาก เพราะไม่มีผู้เช่า รายได้ที่มีไม่พอจ่ายหนี้ธนาคาร จะเหลือเพียงรายใหญ่เท่านั้น กลายเป็นระบบผูกขาด ผลเสียก็ตกอยู่กับผู้บริโภคที่จะแบกรับค่าเช่าตามที่ผู้ประกอบการนั้นกำหนด “อีกเรื่องเป็นสิ่งที่น่ากังวลคือการบอกยกเลิกสัญญา ที่จะแจ้งล่วงหน้า 30 วัน โดยหากกรณีที่ผู้เช่าทำผิดร้ายแรง ทางห้องเช่าก็ไม่สามารถที่จะให้ออกได้ทันที แต่บางครั้งการกระทำของผู้เช่าบางคนอาจกระทบกับความปลอดภัยของผู้เช่ารายอื่นด้วยเช่นกัน เช่นกรณีทะเลาะวิวาท เสียงดัง ไม่มีมารยาท หากให้ปฏิบัติตามประกาศดังกล่าว สิ่งที่ตามมาคือการสูญเสียระบบสังคมห้องเช่า ที่ผู้เช่าและผู้ประกอบการล้วนรู้จักหน้าที่และเคารพซึ่งกันและกัน” บารมีกล่าว   บทสรุปสิ่งที่ผู้ประกอบการเรียกร้องจากศาลปกครอง คือการยกเลิกประกาศของ สคบ. ในขณะเดียวกันหาก สคบ.จะต้องเข้ามามีบทบาทในกรณีดูแลผู้บริโภค ขอให้มีการพิจารณาการร้องเรียนเป็นรายไป ไม่ใช่การเหมารวมทั้งหมด และก่อนที่จะออกข้อบังคับกฎเกณฑ์ก็ควรที่จะฟังความเห็นจากผู้ประกอบการเป็นข้อมูลในการพิจารณาด้วย  
Tag :