บัตรสวัสดิการคนจน กับ การปฏิรูปการแก้ปัญหาคนจน

by ThaiQuote, 17 พฤษภาคม 2561

ในวาระครบ 4 ปีครั้งนี้ นับเป็นเวลานานเท่ากับวาระเทอมของการบริหารประเทศตามกรอบกติกาของการเลือกตั้งที่กำหนดไว้ตามปรกติ 4 ปี  ทั้งนี้ ในทางการเมืองมีความชัดเจนระดับหนึ่งว่า จะเกิดการเลือกตั้งครั้งใหม่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญใหม่ ในอีกไม่ช้า  ซึ่งทางคสช. ได้มีการผ่อนปรนกิจกรรมทางการเมืองมาเป็นลำดับ พร้อมๆไปกับการการร่างกติกาของกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้อง   ด้วยบรรยากาศของการเมืองที่พอเห็นเค้าลางของการเลือกตั้งในอนาคตอันใกล้  ทำให้บรรดานักการเมือง นักเลือกตั้งต่างออกมาขยับ แสดงวิสัยทัศน์แสดงความเห็นในเรื่องต่างๆกันมากขึ้น   แน่นอนว่า ในวาระจะครบรอบ 4 ปีของคณะรัฐประหาร การวิพากษ์วิจารณ์ ผลงานด้านต่างของรัฐบาล คสช. จึงเกิดขึ้นด้วยเป้าประสงค์เฉพาะทางอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะ ประเด็นการปฏิรูปประเทศ นับเป็นประเด็นใหญ่ ที่หลายฝ่ายหยิบขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์   ทั้งนี้หากมองด้วยความเป็นธรรม ต้องยอมรับว่า ในการปฏิรูปประเทศ โดยเฉพาะเมืองไทยนี้นับว่าเป็นเรื่องยากมาก ด้วยโครงสร้างทางสังคมและวัฒนธรรมแบบไทยๆที่มีความสลับซับซ้อน  มีทั้งระบบราชการ ระบบอุปถัมภ์ ระบบเสรีนิยมทางการค้า ระบบอำนาจนิยม ฯ ปะปนกันจนเกือบจะเรียกได้ว่า เป็นสังคมเฉพาะตัวที่ไม่ค่อยจะเหมือนใครในโลกนี้ด้วยซ้ำไป ดังนั้น การปฏิรูปประเทศไทย จึงเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องยาก มีบางเรื่องอาจจะผลักดันไปได้โดยเร็ว  บางอย่างต้องริเริ่ม บางอย่างต้องปูพื้นฐานเพื่ออนาคต  ผลสำเร็จรูปธรรมในเร็ววันในบางเรื่องจึงยากจะเห็นได้   มีประเด็นหนึ่งของแนวทางการปฏิรูปที่น่าหยิบยกขึ้นมาก็คือ  แนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจนของคนในประเทศ  ย่อมเป็นที่ทราบดีกันว่า ประเทศไทยมีช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยห่างกันมากที่สุดประเทศหนึ่ง โดยในปี 2559ที่ผ่านมา สถาบันการเงินเครดิตสวิส ออกรายงานความมั่งคั่งของโลก (Global Wealth Report 2016) ระบุว่า ไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำเป็นอันดับ 3 ของโลก ยิ่งสะท้อนชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อมีการประกาศอันดับคนรวยของนิตยสารฟอร์บส ล่าสุดที่บอกว่า ตระกูลเจ้าสัว 50 คน ไปเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ในปี 2559 พบว่ามีสัดส่วนถึง 30% ของจีดีพี  ในขณะคนจนในประเทศที่มาลงทะเบียนเพื่อรับสวัสดิการจากรัฐสูงถึงกว่า 11 ล้านคน ซึ่งคนเหล่านี้ มีรายได้ต่อปี ต่ำสุดคือ 3 หมื่นบาท สูงสุดคือ 1 แสนบาท แต่ตระกูลเจ้าสัวซีพี กลับมีรายได้เพิ่มปีเดียวประมาณ 1 แสนล้านบาท ประเด็นความต่างของรายได้ของคนที่ห่างกันขนาดนี้ จะแก้ไขอย่างไร  แก้ได้เมื่อไร เป็นโจทย์หินยิ่งกว่าหิน  แล้ว มีการทำอะไรเพื่อจะแก้ไขหรือไม่อย่างไร ?    ประเด็นการแก้ไขปัญหาความยากจน หรือ นโยบายช่วยเหลือคนจน  หากลองย้อนดู ถือเป็นประเด็นหลักของสังคมไทยมายายนาน และ พรรคการเมืองทุกพรรคต่างหยิบยกนโยบาย และ เคยออกมาตรการในการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้กันมาตลอดเช่นกัน แต่เหตุใด กว่า 80 ปี หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง  ผ่านการเลือกตั้งบ้าง ยึดอำนาจจัดตั้งรัฐบาลพิเศษขึ้นมาบ้าง  ประเทศไทยจึงยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ  ปัญหาความยากจนได้   สำหรับรัฐบาลนี้  การแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือคนจน   ต้องถือได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงจากแนวทางเดิมๆ ค่อนข้างชัดเจน  การออก มาตรการ และนโยบาย ถือว่ามีการวางระบบวางโครงสร้างแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เป็นระบบ และชัดเจนนั้นก็คือ มีการสำรวจและลงทะเบียน เพื่อจัดทำฐานข้อมูล    มาตรการลงทะเบียนเพื่อรับบัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย หรือ ที่คนทั่วไปเรียกว่า บัตรคนจน  ถือเป็นการจัดทำฐานข้อมูลคนจนที่ชัดเจน โดยใช้ฐานรายได้ที่ต่ำมากตั้งแต่ 30,000 -100,000 บาทต่อปี เพื่อจะได้รู้สภาพคนที่ขาดรายได้ ขาดโอกาสอย่างแท้จริง  ซึ่งผลการดำเนินงานมีผู้มาลงทะเบียนกว่า 14 ล้านคนแต่ผ่านการคัดกรอกแล้วมีฐานตัวเลขกว่า 11 ล้านคน   การช่วยเหลือเบื้องต้น จากฐานตัวเลขกว่า 11 ล้านคน ทำให้แนวทางการช่วยเหลือมีความชัดเจนยิ่งขึ้น  โดยรัฐบาลได้กำหนด มาตรการช่วยเหลือระยะแรก คือ การออกบัตรประจำตัวพร้อมกับวงเงินสำหรับการใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภคต่อเดือน รวมถึงค่าเดินทางให้กับแต่ละคน ในวงเงิน 300 บาทต่อเดือน   การลงทะเบียนคนมีรายได้น้อยทำให้ การออกมาตรการช่วยเหลือพุ่งตรงเป้า ตรงจุดไปยังคนที่ขาดอย่างแท้จริง ทำให้การรั่วไหลน้อย หรือแทบจะไม่เกิดขึ้น  สามารถลดภาระค่าใช้จ่ายจากคนที่ไม่ควรได้ประโยชน์จากมาตรการ  อย่างเช่น มาตรการรถเมล์ รถไฟฟรี  มาตรการนี้ถือว่ารั่วไหลโดยไม่จำเป็นเพราะ เป็นการเหมาจ่ายจากรัฐไปยังผู้ประกอบการตรง ส่วนผู้ใช้บริการจะเป็นใครก็ได้  ไม่ว่าจะเป็นคนจน  คนทำงาน อาเสี่ย หรือมหาเศรษฐีก็ใช้บริการได้  แต่การกำหนด ค่าเดินทางให้กับคนลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย ที่ถือบัตรนำไปรูดใช้จ่าย สำหรับเดินทาง เป็นการจ่ายตรงให้กับคนที่ไม่มีโอกาสโดยตรง  การรั่วไหลจึงไม่เกิดขึ้น   การเติมเงินค่าใช้จ่ายอุปโภคบริโภครายเดือน เพื่อบรรเทาค่าใช้จ่าย  ต่างกับนโยบายการปั๊มเงินให้กับคนเพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย ที่หวังกระตุ้นตัวเลขการจับจ่ายใช้สอย กระตุ้นตัวเลขเศรษฐกิจ ที่ผ่านๆมาโดยสิ้นเชิง  เพราะที่ผ่านมาเป็นการหว่านเงินลงไปโดยไม่มีการคัดกรอกคนจนที่แท้จริง เป็นการหว่านเงินระยะสั้นไม่มีการสานต่อแก้ไขปัญหาต่อเนื่องอย่างเป็นระบบ ปลดหนี้นอกระบบ การเปิดลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย เพื่อรับบัตรสวัสดิการครั้งนี้ ยังสามารถ ตรวจสอบปัญหาพื้นฐานของผู้มีรายได้น้อย  ที่โยงใยไปถึงปัญหาหนี้สินต่างๆ  โดยเฉพาะปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งทำให้ทางการรู้ถึงข้อมูลว่า นอกจากปัญหารายได้น้อยแล้ว ในส่วนของผู้ลงทะเบียน ยังมีปัญหาหนี้นอกระบบมากถึง 1.6 ล้านรายที่เดียว ทำให้สามารถเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวเพื่อปลดล็อคของวงจรหนี้  เหล่านี้ให้หมดไปอีกด้วย   ต่อยอดสร้างอาชีพเพื่อความยั่งยืน การออกมาตรการสวัสดิการแห่งรัฐผ่านการลงทะเบียน ทำให้ รัฐบาลสามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง  หลังจากวางระบบเงินช่วยเหลือ บรรเทาภาระค่าใช้จ่ายแล้ว จึงสามารถ ออกมาตรการต่อเนื่อง โดยเปิดให้ผู้ลงทะเบียนมาลงทะเบียนเพื่อเข้าโปรแกรมพัฒนาคุณภาพชีวิต และอาชีพที่ภาครัฐจัดไว้ให้  พร้อมกับเพิ่มค่าใช้จ่ายผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐขึ้นมาเป็น300 บาทและ 500 บาท ซึ่งถือเป็นการแก้ปัญหาระยะที่สอง  เป็นการวางแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน เพราะหาก ผู้ด้อยโอกาส ผู้มีรายได้น้อยสามารถฝึกอาชีพ เพื่อนำไปทำมาหากินย่อมมีโอกาสในการสร้างรายได้ที่มั่นคงขึ้นในอนาคต   ล่าสุดหลังจากปิดลงทะเบียนเมื่อวันที่ 28 ก.พ. มียอดผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแจ้งความประสงค์สมัครผ่านธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ไม่ต่ำกว่า 6.2 ล้านคน จากผู้มีสิทธิทั้งหมด 11.4 ล้านคน ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 5.3 ล้านคน   ทั้งหมดนี้ถือเป็นแนวทางที่ ที่มีการปรับเปลี่ยนไปจากมาตรการเดิมๆอย่างชัดเจน ถือเป็นการปฏิรูปการช่วยเหลือคนมีรายได้น้อย ที่น่าจับตายิ่ง เพราะเป็นการดำเนินการที่มาฐานข้อมูล  ทำให้การ ออกมาตรการต่อๆไปในอนาคตพุ่งเป้าตรงจุดอย่างแท้จริง  ส่วน ประชาชนผู้มีรายได้น้อยจะพ้นสภาพจากความยากจนหรือไม่นั้น  ก็ขึ้นอยู่กับโอกาส  และ ความตั้งใจที่จะพัฒนาตัวเอง ได้มากน้อยเพียงใดอีกด้วย  และ ภาครัฐจะช่วยพัฒนาต่อยอดให้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อยเพิ่มเติมจนสามารถดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ และมีความยั่งยืนในรายได้อย่างไร   แต่ด้วยแนวทางที่รัฐบาลได้วางไว้ต้องถือว่า เป็นการปรับเปลี่ยนวิธีการช่วยเหลือคนจนไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง   โดย ประภาคาร
Tag :