กยท. ลุ้นระทึก ! คลอด"บริษัทร่วมค้า"แก้ราคายาง

by ThaiQuote, 18 พฤษภาคม 2561

รก.ผู้ว่าการ กยท. ระบุ แนวทางจัดตั้ง บริษัทร่วมค้าแก้ปัญหาราคายางพารา จะชัดเจนภายในเดือน พ.ค.นี้ หนุน แปรรูปเป็นส่งออก ขณะที่ "ทศพล ขวัญรอด"ประธานภาคีเครือข่ายชาวสวนยาง ตั้งป้อมค้าน ชี้ภาครัฐสู้พ่อค้าไม่ได้ ควรใช้รูปแบบค้าขายผ่านสหกรณ์เหมือนเดิม แนะ ชาวสวนยาง เจียดที่ดิน ทำอาชีพเสริม นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ รักษาการผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาราคายางพาราว่า จะต้องเปลี่ยนแนวคิดการส่งออกยางพาราดิบ เป็นผลิตภัณฑ์ยางพาราแปรรูปมากขึ้น โดยจะจัดตั้งบริษัทร่วมค้าร่วมกับสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อรวบรวมยางพารา เช่น ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง ยางคอมปาวด์และน้ำยางข้น เพื่อแปรรูปเป็นหมอน ที่นอนยางพารา ถุงมือ ถุงเท้ายาง ของใช้ในครัวเรือน เครื่องมือการแพทย์ และยางล้อรถยนต์ โดยนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาแปรรูปยางเป็นผลิตภัณฑ์ยางในระดับอุตสาหกรรม เพื่อส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศและใช้ในประเทศ ทั้งนี้ ปัญหาราคายางพาราตกต่ำที่ เกิดจากประเทศผู้ผลิตยางไม่สามารถกำหนด ราคายางในตลาดโลกเองได้ เพราะราคายางพาราในตลาดส่งมอบจริง ถูกกำหนดจากราคาตลาดซื้อขายล่วงหน้า ที่ผ่านมาประเทศผู้ผลิตยาง พยายามแก้ปัญหาแต่ช่วยยกระดับราคาได้เพียงช่วงสั้น โดยเฉพาะ ราคายางพาราของไทยที่อ้างอิงกับราคาตลาดล่วงหน้าของเซี่ยงไฮ้ ญี่ปุ่น และ สิงคโปร์ ทำให้ราคายางดิบของไทยมีปัญหาราคาตกต่ำ เพราะถูกควบคุมจากราคาตลาดซื้อขายล่วงหน้า อย่างไรก็ตาม หลังจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ประสานงานกับประเทศผู้ผลิตยางพาราอีก 3 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และ เวียดนาม มีแนวคิดที่จะตั้งคณะกรรมการ กำหนดราคายางพาราสำหรับผู้ผลิตยางพารารายใหญ่ เพื่อสร้างตลาดและการต่อรองของประเทศผู้ผลิตรายใหญ่คล้ายกับกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันอย่าง โอเปก ซึ่งขณะนี้แต่ละประเทศมีความเห็นสอดคล้องกันในระดับทูตแล้ว รอเพียงการยืนยันระดับรัฐบาล ซึ่งคาดว่าภายในเดือนพฤษภาคมนี้จะเห็นความชัดเจน และขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อรักษาเสถียรภาพของราคายาง แต่จะไม่มีการโค่นต้นยางอย่างแน่นอน เว้นแต่เป็นต้นยางถึงอายุ 25-30 ปี ที่เกษตรกรมีแผนจะโค่นอยู่แล้ว นายทศพล ขวัญรอด ประธานภาคีเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางและปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย เปิดเผย ถึงกรณีนายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ เข้ามารักษาการผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) มีแผนจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศว่า น่าเป็นห่วง เพราะผู้ประกอบการจะมีความชำนาญมากกว่า เครื่องจักรแปรรูปยางก็ทันสมัย ควรใช้ในรูปแบบสหกรณ์ไม่ใช่ในรูปแบบบริษัท โดยควรปรับปรุงโรงงานของ กยท.ที่ เดิมเป็นขององค์การสวนยาง (อ.ส.ย.)ให้ทันสมัย เพื่อรองรับการเข้ามาทำธุรกิจการค้าของ กยท. ซึ่ง อ.ส.ย.ก็มีสวนยางอยู่แล้ว 4 หมื่นกว่าไร่ ทำพอเลี้ยงตัวเองได้ นายทศพล กล่าวอีกว่า ไม่เห็นด้วยที่นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ มีมาตรการให้ชาวสวนยางหยุดกรีดยาง 3 เดือนแล้วหาเงินมาชดเชยการขาดรายได้ เป็นการสูญเสียงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์ ไม่ยั่งยืน ควบคุมไม่ให้ชาวสวนลักลอบกรีดยางยาก ยังมีการลักลอบกรีด ราคายางจึงไม่ขยับขึ้น ดังนั้น การแก้ปัญหาราคายาง-ปาล์มน้ำมันตกต่ำควรเดินตามการทำเกษตรทฤษฎีใหม่เศรษฐกิจพอเพียง โดยแบ่งพื้นที่สวนยางออกมาครอบครัวละ 1-2 งานหรือ 1 ไร่ มาปลูกพริกไทย ปลูกเหรียง ทำประมง เลี้ยงสัตว์ ซึ่งจะช่วยให้มีรายได้ไม่ต่ำกว่าวันละ 1,500-2,000 บาท ส่วนสวนยางเมื่อไม่กรีดยางขาย ก็เท่ากับเป็นที่เก็บสต๊อกยางในตัว กยท.ต้องนำงบฯมาส่งเสริมชาวสวนทำอาชีพเสริม
Tag :