ดาวรุ่งพุ่งแรง ธุรกิจร้านขายยาและเครื่องมือแพทย์

by ThaiQuote, 23 พฤษภาคม 2561

ในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าความสนใจดูแลสุขภาพและความงาม ยังถือเป็นกระแสที่มีแนวโน้มเด่นชัด และในระยะหลังที่การดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุ รวมถึงการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ กลายมาเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภค ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ล้วนส่งผลในเชิงบวกต่อแนวโน้มของธุรกิจร้านขายยา โดยเฉพาะในระดับผู้บริโภคซึ่งมีพฤติกรรมการซื้อสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพเปลี่ยนไป โดยสินค้าประเภทยา วิตามินและอาหารเสริม รวมถึงเครื่องมือทางการแพทย์ส่วนบุคคล ถูกมองว่าเป็นสินค้าที่มีความจำเป็น ซึ่งหากมองในภาพรวมของตลาดพบว่ารายได้เพิ่มขึ้นราว 10% ต่อปี

นอกจากนี้พฤติกรรมในการซื้อสินค้าเพื่อสุขภาพและสินค้าส่วนบุคคลเหล่านี้ก็เปลี่ยนไป จากเดิมที่ผู้บริโภคนิยมซื้อสินค้าดังกล่าวในห้างสรรพสินค้าหรือดิสเคาท์สโตร์เปลี่ยนเป็นซื้อในร้านค้าเฉพาะมากยิ่งขึ้น บวกกับปัจจัยที่ธุรกิจร้านค้าปลีกสินค้าสุขภาพและความงามขยายกลุ่มผลิตภัณฑ์มายังสินค้าประเภทเภสัชภัณฑ์ และเวชภัณฑ์มากยิ่งขึ้นเนื่องจากเป็นสินค้าสำหรับผู้บริโภคกลุ่มเดียวกันึ่งปัจจัยดังกล่าวข้างต้นเป็นผลให้ผู้ประกอบการร้านขายยาต้องปรับตัวเข้าสู่สินค้าเพื่อสุขภาพ และรวมถึงสินค้าเพื่อความงามมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามร้านขายยายังมีจุดแข็งที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมากกว่าร้านค้าดังกล่าวร้านขายยาที่มีหลายสาขามีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องทั้งร้านที่เน้นผลิตภัณฑ์ยา และร้านขายผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงาม โดยขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งในแง่จำนวนสาขาที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และจำนวนร้านสาขาใหม่ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะร้านสาขาที่มาจากประเทศญี่ปุ่น ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมาก เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ยอดรายได้รวมของธุรกิจมีอัตราการเติบโตที่น่าสนใจ

ด้านนโยบายของทางภาครัฐ เช่น นโยบาย Medical Hub ที่ส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติซึ่งเน้นการเดินทางท่องเที่ยวเพื่อการรักษา โดยมีการพัฒนายาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ ที่จะปรับปรุงให้กฎระเบียบต่างๆ เอื้ออำนวยต่อการขยายตัวของธุรกิจร้านขายยา รวมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาและเครื่องมือแพทย์ของไทย ให้มีศักยภาพและเป็นที่ต้องการมากยิ่งขึ้นจากทั้งจากอุปสงค์ภายในประเทศ และอุปสงค์ส่วนเพิ่มจากการเดินทางเพื่อเข้ามารักษาในประเทศไทย นอกจากนี้ธุรกิจนี้ยังได้รับประโยชน์จากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศอีกด้วย

จากตัวเลขของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าระบุว่า สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ปี 2561 ที่ผ่านมามีผู้ประกอบการนิติบุคคลทั้งสิ้น 8,690 ราย โดยแบ่งเป็นบริษัทจำกัด 6,771 ราย หรือคิดเป็น 77.92 %  เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด 1,914 ราย หรือคิดเป็น 22.02 % เป็นบริษัทมหาชนจำกัด 5 ราย หรือคิดเป็น 0.06 % คิดเป็นทุนจดทะเบียนทั้งหมด 56,632 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นเงินทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท 92.96 %  มากกว่า 5 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 100 ล้านบาท 6  % มากกว่า 100 ล้านบาท 1.04 %  นับตั้งแต่ปี 2558 ยอดจำนวนบริษัทจดทะเบียนในปี 2560 มีทั้งสิ้น 1,171 ราย เติบโตจากปี 2559 ถึง 54 % และในปี 2561 เพียง 2 เดือนมีจำนวนจดทะเบียนแล้ว 175 ราย การลงทุนโดยคนไทยและต่างชาติอยู่ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันคือนิติบุคคลที่เป็นคนไทย 46.18 % ต่างชาติประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา 19.6 % เนเธอแลนด์ 3.6 % สิงคโปร์ 3.3 % ธุรกิจส่วนใหญ่ดำเนินกิจการอยู่ในกรุงเทพฯประมาณ 53 % รองลงมาเป็นภาคกลาง 21 % และกรุงเทพฯ

ทางด้านผลประกอบการ รายได้รวมในปี 2559 (ปี 2560 ยังไม่ส่งงบการเงิน) คิดเป็น 504,976 ล้านบาท เติบโต 12 %  และหากมองในฐานของกำไรตัวเลขสุทธิของทั้งตลาด 15,893 ล้านบาท เติบโต 12 %

กล่าวโดยสรุปแนวโน้มธุรกิจร้านขายยาและเครื่องมือแพทย์ในปี 2561 (ม.ค. - ก.พ.) มีจำนวนเพิ่มขึ้น 23.24% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 และมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่องตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท และส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานครและเขตเมืองที่มีความสอดคล้องกับแหล่งชุมชน โรงพยาบาลและคลินิกรักษาโรคในส่วนของผลประกอบการแนวโน้มของรายได้เป็นไปในเชิงบวกตลอดช่วงปีงบการเงิน 2555 – 2559 และมีการทำกำไรได้อย่างต่อเนื่องในอัตราส่วนที่ลดลงเล็กน้อย โดยแนวโน้มในอนาคตอาจต้องพิจารณาถึงผู้ประกอบการรายใหม่ที่เข้ามาในธุรกิจนี้มากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามการเข้ามาของผู้ประกอบธุรกิจรายใหม่อาจจะต้องเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญในสินค้าเวชภัณฑ์หรือเภสัชภัณฑ์เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ต้องสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้บริโภคโดยแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของธุรกิจดังกล่าวอาจได้รับอานิสงส์จากการที่ผู้บริโภคหันมาสนใจดูแลสุขภาพและความงาม การเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของไทย ประกอบกับการสนับสนุนของภาครัฐ เช่น การสนับสนุนบุคคลธรรมดาให้ประกอบธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคลของกรมสรรพากร ก็เป็นปัจจัยอย่างหนึ่งที่เป็นแรงกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบการจดทะเบียนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสนับสนุนของภาครัฐที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ซึ่งมีจุดแข็งในการสร้างบริการและสิ่งอำนวยความสะดวกในการให้บริการทางการแพทย์เพื่อสร้างแรงดึงดูดให้กับผู้รับบริการต่างชาติโดยเฉพาะในกลุ่ม Medical Tourism ให้เข้ามาใช้บริการ โดยในอนาคตนอกจากธุรกิจร้านขายยาและเครื่องมือทางการแพทย์แล้ว ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับด้านสุขภาพประเภทอื่น เช่น สปา กิจการดูแลผู้สูงอายุ บริการเสริมความงามและ เครื่องสำอาง อาจได้รับประโยชน์จากการเป็นMedical Hub ของไทยด้วย

Tag :