ลุ้นระทึก! ศาลรธน.ชี้ปม ส.ว. "มีชัย"ผวา หวั่น เจ๊ง! ทั้งฉบับ

by ThaiQuote, 23 พฤษภาคม 2561

วันนี้( 23 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนัดประชุมเวลา 13.30 น. เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.)ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. มาตรา 91 – 96 มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 หรือไม่ โดยจะเป็นการอภิปรายในที่ประชุมและลงมติ ตุลาการจะไม่ออกนั่งบัลลังก์ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ประเมินสถานการณ์ว่า กรณีหากศาลบอกว่าขัดรัฐธรรมนูญก็ต้องมาดูว่าขัดในสาระสำคัญของกฎหมายรัฐธรรมนูญที่จะทำให้ตกทั้งฉบับหรือไม่ คือ 1.หากไม่ขัดในสาระสำคัญ เพียงแค่ให้ตัดเฉพาะมาตรานั้นออก และสามารถใช้กฎหมายได้  2.หากขัดในสาระสำคัญจนทำให้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนั้นตกไป ก็จะต้องนำร่างกกฎหมายดังกล่าวกลับมา ดำเนินการยกร่างใหม่ทั้งหมด ส่วนกรณีดังกล่าว จะทำให้เกิดความล่าช้า และ การเลือกตั้ง อาจะเกิดขึ้นได้ไม่ทัน ตามโรดแมป ที่ คสช.กำหนดไว้ หรือไม่ นั้น  นายมีชัย ประเมินว่า การร่างใหม่ คงจะใช้เวลาประชุมเพียงครั้งเดียวแก้เพียง 2-3 มาตรา จากนั้นสามารถส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา โดยในส่วนการพิจารณาของ สนช.นั้น อาจจะใช้กรรมาธิการเต็มสภา 3 วาระรวดได้ สรุปแล้วหากเร่งพิจารณาสามารถดำเนินการได้ภายใน 3 สัปดาห์รวมขั้นตอนของ กรธ.และ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. "ในส่วนของ กรธ.คิดว่าไม่น่าจะนาน จะใช้เวลาอย่างมากสัปดาห์เดียว แต่ในส่วนของ สนช.เราคงเดาใจเขาไม่ได้" ประธาน กรธ.กล่าว สำหรับ ประเด็นสำคัญ ในการแก้ไข ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มา สว. ประเด็นปัญหาอยู่ตรงการสมัครที่แบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ การสมัครอิสระและการแนะนำจากองค์กรไม่ตรงตามเจตนารมณ์มาตรา 107 ของรัฐธรรมนูญ ที่ต้องการให้ผู้สมัครเลือกกันอย่างเท่าเทียม และไม่ได้กำหนดให้แยกประเภท ส่วนร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส.นั้น มีปัญหาตรง ประเด็นการตัดสิทธิคนไม่เลือกตั้งไม่ให้เป็นข้าราชการการเมือง ที่อาจเป็นการจำกัดสิทธิตามรัฐธรรมนูญ  และกรณี การให้บุคคลอื่น ลงคะแนนแทนผู้พิการอันอาจไม่เป็นการออกเสียงโดยตรงและลับ  
Tag :