เรื่องจริงหรือมโน? งบ 4 หมื่นล. รัฐบาลหาเสียง

by ThaiQuote, 8 มิถุนายน 2561

หากคนที่ติดตามข่าวและสนใจเรื่องการเมืองและเศรษฐกิจ ย่อมมีความเข้าใจดีว่า กระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี เป็นกระบวนการปรกติที่ไม่ว่ารัฐบาลหรือฝ่ายบริหารจะมาจากการเลือกตั้งหรือไม่ก็ตาม ต้องดำเนินการ การเสนอจัดทำงบประมาณราบจ่ายประจำปี ต้องมีหลักการและเหตุผลตามหลักเศรษฐศาสตร์ การพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ  วิธีการจัดทำงบฯประมาณตามหลักเศรษฐศาสตร์ ปรกติจะมี 3 รูปแบบ คือ   หากต้องการกระตุ้นการเติบโตเศรษฐกิจรวมของประเทศ ก็ใช้แบบ ขาดดุล คือรายจ่ายมากกว่ารายได้ที่คาดว่าจะเก็บได้ในปีนั้น   หากเห็นว่าเศรษฐกิจเติบโตดีอยู่แล้ว ภาคเอกชนมีการลงทุนคึกคัก ภาครัฐไม่จำเป็นต้องกระตุ้นซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจร้อนแรงเกินไปก็จะใช้การทำงบประมาณแบบสมดุลย์ รายจ่ายเท่ากับรายได้ แต่หากเศรษฐกิจร้อนแรงมาก รัฐ ต้องการชะลอความร้อนแรงของเศรษฐกิจลงก็ใช้แบบ เกินดุล คือรัฐลงทุนน้อย แต่เก็บภาษีเก็บรายได้มาก ทั้งนี้ทั้งนั้นเป็นศาสตร์และศิลป์ของการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคของรัฐบาลนั้นๆ   ที่สำคัญ งบประมาณรายจ่ายประจำปีนั้น ต้องทำเป็นกฎหมาย เป็น พ.ร.บ. เพื่อขออนุมัติต่อสภา ดังนั้น การทำงบการขอใช้งบประมาณของส่วนราชการทั้งประเทศต้องผ่านกระบวนการกลั่นกรอง เสนอโครงการ ความจำเป็นต่างๆในการใช้จ่ายเงิน ที่เป็นงบประมาณซึ่งเป็นภาษีของประชาชนมาอย่างชัดเจน มีที่มาที่ไปผ่านหน่วยงานองค์กรต้นสังกัด ผ่านกระทรวงมาตามลำดับ   ทั้งนี้ทั้งนั้น การทำงบประมาณรายจ่ายต้องเป็นที่เปิดเผย สามารถตรวจสอบได้ จะโดยกระบวนการปรกติ (กรณีมีฝ่ายบริหารและฝ่ายค้าน) หรือ ภาคประชาชน สื่อมวลชนสามารถติดตามตรวจสอบรายละเอียดได้เช่นกัน โดยรัฐบาลต้องทำเอกสารการจัดทำ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีโดยละเอียด เช่นกัน ในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 ก็มีรายละเอียดร่าง พ.ร.บ.ที่เสนอต่อ สนช.ให้ติดตามตรวจสอบได้เช่นกัน   และจากการตรวจสอบการจัดทำงบประมาณประจำปี 2562 โดยรวม มีรายละเอียดดังนี้     *งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 รวมงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมจำนวน 150,000 ล้านบาท จากเดิมที่เสนอ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีวงเงินรวม 2,900,000 ล้านบาท   จะเห็นได้ว่า โครงสร้างของงบประมาณ เป็นงบประมาณแบบขาดดุลคือ มีงบรายจ่าย 3 ล้านล้านบาท คาดการณ์รายได้ 2.55 ล้านบาท ทำให้ต้องกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล 4.5 แสนล้านบาท ทั้งนี้งบประมาณส่วนใหญ่จะเป็นงบรายจ่ายประจำถึง2,261,488.7 หรือคิดเป็น 75.4 % ของงบทั้งหมด ขณะที่มีงบเพื่อการลงทุน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเพียง 660,305.8 ล้านบาท คิดเป็น 22 % ของงบทั้งหมด  ที่เหลืออีก 78,205.5 ล้านบาท หรือ 2.6 % เป็นงบที่ต้องนำไปใช้คืนเงินกู้   สำหรับประเด็นที่ถูกนำมาโจมตี โดยไร้ข้อเท็จจริงรองรับก็คือ การนำงบประมาณในส่วนของการจัดสรรงบประมาณสำหรับกองทุนและกองทุนหมุนเวียนต่างๆ ซึ่ง ในปีงบประมาณ 2562 ในส่วนนี้ได้รับงบรวมทั้งสิ้น 182,241.1 ล้านบาท  จากทั้งหมด 24 กองทุน ซึ่งลดลงจาก ปี 2561 ที่มียอดรวม 215,235.7 ล้านบาท จากจำนวนกองทุนทั้งหมด 33 กองทุน     โดยกองทุนที่ถูกนำมาโจมตี คือ กองทุน ประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก วงเงิน 40,000 ล้านบาท ซึ่งชัดเจนว่า กองทุนนี้เป็นกองทุนที่ดำเนินการมาต่อเนื่องจากปีก่อน หรือปี 2561 ซึ่งได้รับจัดสรรงบประมาณมาแล้วถึง 59,872.5 ล้านบาท     การหยิบยกประเด็นกองทุน ที่มีชื่อว่า กองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ไปโยงกับ กระแสข่าว การจัดตั้งพรรคประชารัฐ ซึ่งอ้างว่าเป็นพรรคที่ตั้งขึ้นมารองรับคนในรัฐบาลปัจจุบันในการจะลงเลือกตั้งในครั้งที่จะมาถึงในปี 2562 จึงเป็นการจงใจหยิบประเด็นขึ้นมาปั่นเพื่อสร้างกระแสความไม่พอใจให้กับคนขาประจำกลุ่มเดิมที่ไม่ชอบรัฐบาลปัจจุบันเป็นทุนเดิมอยู่แล้วเท่านั้น   การติดตามตรวจสอบการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งเป็นกฎหมายสำคัญ เป็นการขออนุมัตินำภาษีประชาชนมาใช้จ่ายเพื่อบริหารพัฒนาประเทศเป็นสิ่งที่ดี ที่ควรกระทำ และสิ่งที่สำคัญคือ เมื่อมีการอนุมัติงบประมาณไปแล้ว ในระหว่างการดำเนินงาน  ต้องติดตามตรวจสอบเพื่อให้เป็นไปตามเป้าวัตถุประสงค์ของโครงการอย่างแท้จริง ไม่ให้เกิดการรั่วไหลของงบประมาณไปตกในมือคนได้คนหนึ่ง กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง  เป็นสิ่งที่จำเป็นยิ่งกว่า ซึ่งการตรวจสอบจำเป็นต้องตระหนักถึงผลประโยชน์ของส่วนรวม รักษาผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก ไม่ใช่การมโนเพื่อหวังผลทางการเมืองแบบไร้จริยธรรม “ประภาคาร”