รัฐทุ่ม 2หมื่นล้านเข้ากองทุนหมู่บ้าน

by ThaiQuote, 13 มิถุนายน 2561

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในงานพิธีเปิดปฏิบัติการโครงการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนอย่างยั่งยืน โดยศาสตร์พระราชาตามแนวทางประชารัฐว่า รัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ในการขับเคลื่อนโครงการต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาความยากจน รวมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างยั่งยืน โดยเมื่อปี 2559 รัฐบาลได้จัดโครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก ตามแนวทางประชารัฐ ภายในวงเงินงบประมาณ 35,000 ล้านบาท สำหรับให้กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองจัดทำโครงการโดยนำไปลงทุนเพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการประกอบอาชีพ พร้อมขยายโอกาสทางการตลาดให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อยในชุมชน กองทุนละไม่เกิน 500,000 บาท ซึ่งมีกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองได้รับการพิจารณาอนุมัติโครงการไปแล้วกว่า 66,000 กองทุน วงเงินงบประมาณกว่า 33,000 ล้านบาท  ต่อมาในปี 2560 รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณงบประมาณเพิ่มเติม อีก จำนวน 15,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองดำเนินการภายใต้โครงการเพิ่มศักยภาพหมู่บ้านและชุมชนเพื่อความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ สนับสนุนงบประมาณกองทุนละไม่เกิน 200,000 บาท สำหรับ ปี 2561 นี้ รัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณให้กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองผ่านโครงการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนอย่างยั่งยืนโดยศาสตร์พระราชาตามแนวทางประชารัฐอีก วงเงินงบประมาณ 20,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนเงินทุนให้กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง กองทุนละไม่เกิน 300,000 บาท เพื่อต่อยอดโครงการเดิม หรือสนับสนุนส่งเสริมการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชน และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้วยการให้โอกาสประชาชนบริหารจัดการและพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนด้วยทรัพยากร ภูมิปัญญา และการมีส่วนร่วมของสมาชิกในชุมชนด้วยการสนับสนุนการประกอบอาชีพ การสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดย “ศาสตร์พระราชา” ซึ่งจะต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนตามแนวทาง “ประชารัฐ” และนำกรอบแนวทางการดำเนินงานตาม “โครงการไทยนิยมยั่งยืน” มาพิจารณาประกอบการดำเนินโครงการ โดยเน้นให้ทุกโครงการของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองต้องผ่านเวทีประชาคมให้สมาชิกได้ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ โปร่งใส และตรวจสอบได้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าตนต้องการสร้างกำลังให้กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองให้มีการเปลี่ยนแปลง ขับเคลื่อนด้วยประชารัฐ ขอบคุณมหาวิทยาลัยราชภัฏที่ช่วยเหลือ เราต้องช่วยให้ประเทศยั่งยืน ประชาชนต้องมีคุณภาพ ต้องพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ทุกคนต้องเรียนรู้อาชีพตัวเอง เรียนรู้การบริหารจัดการ หลักคิดของโครงการประชารัฐคือต้องการให้ครอบครัว ชุมชนเข้มแข็ง โดยใช้ศาสตร์พระราชา ทำทุกอย่างให้มั่นคง ลดความเสี่ยง เน้นความพอเพียง ใช้ชีวิตอย่างมีเหตุผล ในการทำงานควรใช้เงินให้มีความพอประมาณ มีน้อยก็ต้องหาให้มากขึ้น ต้องเตรียมความพร้อมโดยมีภูมิ มีความรู้ มีคุณธรรม ปัจจุบันความรู้หาได้ง่าย รัฐบาลเปิดช่องทางการเข้าหากองทุน ถ้าไม่เรียนรู้พลังประชารัฐจะไม่เกิด อยากให้คนไทยเข้าใจวิสัยทัศน์มองให้เห็นว่าประเทศ ชุมชน ครอบครัวจะเป็นอย่างไรในอีก 20 ปีข้างหน้า สิ่งเหล่านี้เป็นยุทธศาสตร์ชาติ   พลเอกประยุทธ์ กล่าวว่า “ในสังคมมีหลายอาชีพ แน่นอนรายได้แตกต่างกัน กลุ่มที่รายได้น้อยส่วนใหญ่เป็นเกษตร ประกอบอาชีพอิสระ ลูกจ้างระดับล่าง รัฐจึงทำบัตรสวัสดิการ รัฐต้องดูแลหลายฝ่ายเพื่อให้ได้ภาษีเข้ามา ทำให้เรามีเงินมาลงในกองทุนหมู่บ้าน ช่วยระดับล่าง ข้าราชการก็ต้องเสียภาษี คนทั่วไปเสียภาษีแวต เงินที่รัฐได้มาจะใช้อย่างไร  ถ้านำมาให้เปล่าๆ ทั้งหมด มันก็หายไปเปล่าๆ ชุมชนต้องช่วยกันคิดว่าจะบริหารอย่างไรให้ชุมชนเข้มแข็ง”   นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ช่วงนี้เราต้องสร้างความเข้มแข็งทั้งสองส่วนคือส่วนของรัฐและส่วนของประชาชน ขอให้เข้าใจซึ่งกันและกันในการใช้จ่ายงบประมาณ และการพัฒนาขีดความสามารถของการแข่งขัน เช่นการสร้างนวัตกรรม อีกช่องทางที่ใช้ได้คือดิจิทัล ในเรื่องการค้าขายออนไลน์ แต่ต้องพัฒนาคุณภาพ ต้องติดตาม ความสำคัญคือการเชื่อมโยงถนน น้ำ รถไฟ รัฐบาลเข้ามาเพิ่มเส้นทางรถไฟขึ้นมาอีกเท่าตัว เปิดพื้นที่ในการทำธุรกิจ ขยายเมือง สร้างชุมชนใหม่ในชนบท ทำให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น แก้ปัญหาชุมชนเมือง แก้เส้นทางใหม่ สิ่งเหล่านี้เกิดจากประชาชนด้วย เพราะรัฐทำอะไรต้องผ่านประชาพิจารณ์ หากประชาชนไม่ยอมรัฐก็ทำไม่ได้ การเสียประโยชน์ส่วนน้อยเพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่ รัฐก็จะดูแล ทำตามกฎหมาย ทำให้มีความสุขความพอใจ วันนี้สำคัญที่สุดคือการรวมกลุ่ม รวมจากชนิดของการเกษตร การปลูกต้องดูตั้งแต่ต้นทางการผลิต ต้องย้อนกลับไปในสมัยโบราณ จิตวิญญาณในการทำเหมือนเดิมหายไปมาก ต้องดูมาตรฐานการรัฐบาลดูแลเรื่องข้าวอย่างไร ราคาไม่ดีก็จำนำในยุ้งฉาง ราคาดีก็ขาย การรวมคนเข้ามาให้ช่วยกันคิด แก้ไขปัญหาในชุมชนของเราเอง กองทุนหมู่บ้านทำมาปีที่ 2 รัฐบาลมีมาตรการออกมาหลายมาตรการ ทั้งเร่งด่วน สั้น ปานกลาง ระยะยาว ครบวงจรใจแผนสภาพัฒน์ฯ เข้ากับยุทธศาสตร์ชาติ คือ 1. เพื่อความมั่นคง 2.เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน 3.ลดความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ 4.การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ 5.การรักษาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม 6.การปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินและระบบข้าราชการ กองทุนหมู่บ้านอยู่ในเรื่องเพิ่มความเข้มแข็ง กระจายรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ กองทุนอื่นก็ต้องมาเสริม มีงบจังหวัด กลุ่มจังหวัด ท้องถิ่น งบไทยนิยม สิ่งที่จะเป็นประโยชน์กองทุนก็จะเติมมาเรื่อยๆ เพื่อกระจายในกลุ่มที่ยังไม่ได้ กองทุนที่ไปต้องไม่สูญเปล่า ถ้าให้ไปอย่างเดียว ไม่ยั่งยืน หลายโครงการนำไปหารายได้ก่อนแล้วค่อยนำเงินหมุนกลับมาใช้ใหม่ สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดความหมุนเวียนและยั่งยืน สมาชิกก็ได้เงินปันผล ถ้าเป็นไปได้ควรทำให้เงินกองทุนมีรายได้กลับมาเพื่อหล่อเลี้ยงกันต่อไป เพื่อแบ่งปันกับคนที่ยังไม่ได้ ขาดเหลือรัฐบาลก็จะสนับสนุนเข้ามาให้ แต่ถ้าทำให้มันสูญสลายไปทั้งหมด โดยไม่มีอนาคต การให้มาก็เหมือนให้เปล่า ถมไปเรื่อยๆ ทุกคนมีความสุขแต่ไม่ใช่แนวทางในการพัฒนา จากนี้ต่อไปงบประมาณการใช้จ่ายของรัฐมีกรอบกฎหมายกำหนดทั้งสิ้น ใช้จ่ายเกินก็จะผิดกฎหมาย การทำงานทุกอย่างมีการประเมินผล หากทำไม่สำเร็จก็ต้องเลิก ต้องขอให้ประชาชนให้ความร่วมมือ   รัฐบาลเดินรอยตามพระราชดำริของรัชกาลที่ 10 ประสงค์ให้มหาวิทยาลัยราชภัฏ และมหาวิทยาลัยต่างๆ ลงมาดูชุมชน และการผลิตคนในอีก 20 ปีข้างหน้า ที่สามารถสอดคล้องกับสภาพของสังคมที่เปลี่ยนไป การทำงานในลักษณะนี้ไม่ใช่การหาเสียงของรัฐบาล แต่เป็นการฟังเสียงประชาชน แล้วมาปรับแก้ว่าจะทำอย่างไรให้สอดคล้องกับความต้องการโดยทั้งสองฝ่ายต้องเข้าอกเข้าใจกัน บ้าน (ครอบครัว) วัด (ศาสนา) โรงเรียน (แหล่งหล่อหลอมด้านร่างกาย จิตใจและความรู้) ต้องสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันไป ถ้าทุกคนเข้มแข็งจากบ้าน มีศาสนา มีครูสอน มีจิตสำนึก สุจริต ประเทศไทยไปไกล วิธีทำคือกองทุนประชารัฐ มีอีกหลายกองทุน รัฐบาลเข้าไปดูว่าคุ้มค่าไหม ถ้าไม่คุ้มก็เลิก เพราะมาจากภาษี วันนี้เศรษฐกิจต้องดีขึ้น เราทำตรงนี้เพื่อให้ดีขึ้น เราต้องยึดโยง ต้องเรียนรู้การค้า ไม่ใช่เป็นเพียงต้นทางการผลิต สร้างสหกรณ์ ค้าขายออนไลน์ ต้องเรียนรู้ตรงนี้ เป็นการสร้างความเชื่อมโยง สร้างหนทางในอากาศ สร้างการขนส่ง ทำให้ส่งของภายใน 2-3 วันของไม่เสีย แรกๆ ต้องอาศัยต่างประเทศ นี่คือโอกาสของท่าน เป็นความเท่าเทียมของโอกาส แล้วเกิดกฎหมาย ทุกคนต้องเคารพกฎหมาย มีกองทุนยุติธรรม ก็ต้องเข้าไปใช้   “ประชาชนต้องรวมกันหลายกลุ่ม รวมกลุ่มเล็กมาเป็นกลุ่มใหญ่ จะได้ให้เงินให้ถูก เราจะได้ไปดูต้นทุน บริหารการจัดการน้ำ การตลาด ในพื้นที่และต่างประเทศ สินค้าไทยส่งออก 70 % ในส่วนนั้น 90 % เป็นสินค้าเกษตร เขาแข่งขันด้วนราคาและคุณภาพ เพราะเขาไปขายในตลาดล่วงหน้า เราต้องขายออนไลน์ สินค้าทุกชนิด สอนให้รู้จักระบบการตลาด ตั้งราคาที่เราอยากได้ ถ้าไม่ซื้อลดราคาลง ถ้าคุณภาพไม่ดี ก็ปรับคุณภาพ สร้างสินค้าปลอดภัย ก้าวไปสินค้าอินทรีย์ ต้องเรียนรู้ในการปรับตัว ต้องกันที่สำหรับมีน้ำ เพื่อทำการเกษตร รู้จักการแปรรูปข้าว เวลาข้าวราคาตก หรือคุณภาพข้าวไม่ถึง” นายกฯกล่าว เมื่อรัฐบาลให้นโยบายลงไป ขั้นตอนต่อไปท่านต้องรับผิดชอบ ตรวจสอบ โปร่งใสหรือไม่ ในรายที่ไม่ได้ก็ต้องรอ เพราะเป็นวิถีแห่งประชาธิปไตย สิ่งสำคัญที่สุดรัฐบาลชุดนี้ใช้หลักศาสตร์พระราชา และเศรษฐกิจพอเพียง ในการดำเนินการ กองทุนนี้มีกว่า 13 ล้านคน ขอให้ปฏิบัติให้เข้มแข็ง นี่เป็นการกระจายอำนาจ ท่านต้องตรวจสอบกันเอง รัฐบาลใช้เงินมากเพราะส่วนหนึ่งต้องนำไปลงทุน ระบบน้ำไม่ได้พัฒนามาหลายปีแล้ว หลายโครงการเป็นขนาดใหญ่ต้องทยอยทำ เพราะเงินไม่พอ หลายโครงการไม่ผ่านประขาพิจารณ์ แต่ต้องต่อเนื่อง รวมถึงการพัฒนาเส้นทาง ถนน เป็นแผนแม่บทใน 20 ปี  ถ้าเราไม่ตีกรอบก็จะเลอะ ทุกจังหวัดมีความจำเป็นพื้นฐาน ต้องกระจายกัน เราพัฒนาแยกเป็นรายภาค เพื่อให้ดูว่าแต่ละภาคมีความต้องการในรายละเอียดอย่างไร การลดต้นทุนการผลิต การใช้น้ำ การติดตามสภาพอากาศ ความสำคัญต้องร่วมมือระหว่างรัฐกับประชาชน   ด้านนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ได้กล่าวรายงานว่า การเปิดปฏิบัติการ “โครงการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนอย่างยั่งยืน โดยศาสตร์พระราชาตามแนวทางประชารัฐ” ในวันนี้ มีวัตถุประสงค์สำคัญ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานโครงการให้มีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจในแนวทางการดำเนินงาน ตลอดจนสร้างความพร้อมในการดำเนินโครงการให้กับภาคีเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง รวมทั้งเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสร้างแนวทางความร่วมมือระหว่างเครือข่าย และ ภาคีที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งเพื่อระดมความคิดเห็น และซักซ้อมความเข้าใจ ในการกำหนดแนวทางความร่วมมือและการขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการ เพื่อสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ ทั้งนี้ การดำเนินงานภายใต้โครงการต่าง ๆ ทำให้กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองได้ดำเนินกิจกรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนในหมู่บ้านและชุมชนได้จำนวนมากมายหลายมิติ อาทิ โครงการร้านค้าชุมชน น้ำดื่มชุมชน บริการประปาหมู่บ้าน ชุมชน โรงสีข้าวชุมชน  บริการน้ำมันเชื้อเพลิง ยุ้งฉางข้าวชุมชน บริการเครื่องจักรกลทางการเกษตร และลานตากอเนกประสงค์ เป็นต้น
Tag :