นักลงทุนญี่ปุ่นขานรับ EEC อุตตมมั่นใจโอกาสทองไทย

by ThaiQuote, 14 มิถุนายน 2561

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวภายหลังจากที่ได้เดินทางไปเข้าร่วมการประชุมนิคเคอิ ฟอรั่ม (Nikkei Forum)ครั้งที่ 24 ที่ประเทศญี่ปุ่นว่า นักลงทุนญี่ปุ่นยังคงให้ความเชื่อมั่นที่จะมาลงทุนในประเทศไทยต่อเนื่อง ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีความกังวลเรื่องการเลือกตั้งของไทย แต่ให้ความสนใจในเรื่องความคืบหน้าและความต่อเนื่องของโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซีมากกว่า ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ได้ชี้แจงความคืบหน้าของโครงการอีอีซี ทั้งเรื่องกฎหมาย การริเริ่มโครงการโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ เช่น ท่าเรือแหลมฉบัง สนามบินอู่ตะเภา และโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน  สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความต่อเนื่อง และให้ความมั่นใจได้ว่าแม้ในอนาคตไทยจะเปลี่ยนรัฐบาล แต่ทุกอย่างยังคงต้องดำเนินการไปตามแผนที่วางไว้ 

นอกจากนี้การเดินทางไปญี่ปุ่นครั้งนี้ของ ดร.อุตตม ได้เข้าพบกับนายฮิโรชิเกะ เซโกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น(เมติ) ซึ่งได้ยืนยันความต่อเนื่องของความร่วมมือภายใต้กรอบ Connected Industries และการพัฒนาเอสเอ็มอี ขณะเดียวกันได้หารือกับทาเคชิ อูชิยามาดะ ประธานกรรมการบริษัท โตโยต้า ประเทศญี่ปุ่นและ ในฐานะประธานสมาคมส่งเสริมเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น หรือเจเทค (JTEC) ซึ่งแสดงความพร้อมให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติให้กับเอสเอ็มอี สามารถเข้าถึงและเข้าใจการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ควบคู่กับการพัฒนาบุคลากรที่จำเป็น

          

นอกจากนี้เจเทค เมติ องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) กรุงเทพฯ ฝ่ายญี่ปุ่น กับฝ่ายไทยโดยกระทรวงอุตสาหกรรม และสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น (สสท.) ตกลงร่วมกันที่จะตั้งกลุ่มกิจการร่วมค้า(Consortium) เพื่อที่จะจัดทำแผนการดำเนินการเกี่ยวกับอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ให้แล้วเสร็จมีความชัดเจนภายใน 2 สัปดาห์ เพื่อผลักดันให้เกิดผลในทางปฏิบัติขึ้นจริง

          

ขณะเดียวกันยังได้ชักจูงการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย 2 ราย โดยหลังเข้าพบนายยาซูฮิโร่ ฮาระ ซีอีโอบริษัท เรียลกิ ทูล(Ryoki Tool) ผู้ผลิตชิ้นส่วนอากาศยานที่มีส่วนแบ่งการตลาดที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น ที่สนใจเข้ามาลงทุนจัดตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานในภาคพื้นเอเชีย (MRO) ในพื้นที่อีอีซี ซึ่งเร็วๆ นี้จะเข้ามาสำรวจลู่ทางการลงทุน รวมถึงบริษัท นาชิ ฟูจิโกชิ คอปอเรชั่น ผู้จำหน่ายแขนกลหุ่นยนต์อันดับ 2 ในไทย ก็สนใจเข้ามาลงทุนในสายการผลิตแขนกลหุ่นยนต์ในไทยด้วยเพราะนับเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย

ส่วนกรณีการกำจัดขยะอุตสาหกรรมที่เป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ หลายฝ่ายมองว่า ไทยควรยกเลิกอนุญาตให้มีการนำเข้า ซึ่งนายอุตตม มองว่า เรื่องดังกล่าวต้องมีการพิจารณาในระดับนโยบายอย่างรอบด้าน เพราะไทยดำเนินการภายใต้อนุสัญญาบาเซิล ว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนและการกำจัดซึ่งของเสียอันตราย โดยปัจจุบันนอกจากการนำเข้าแล้ว ไทยยังส่งออกขยะอุตสาหกรรมไปต่างประเทศด้วยเช่นกัน ซึ่งมีปริมาณสูงถึงปีละ 300,000 ตัน ดังนั้นหากไทยยกเลิกอนุญาตให้นำเข้า หรือถอนตัวออกจากสัญญาบาเซิล อาจจะไม่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ และนอกจากนี้อาจทำให้ประเทศที่เคยนำเข้าขยะอุตสาหกรรมจากไทย ยกเลิกและปฏิเสธการนำเข้าด้วย  ทั้งนี้กระทรวงอุตสาหกรรมจะเร่งหาข้อสรุปเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการกำจัดขยะอุตสาหกรรมให้ชัดเจนโดยเร็วที่สุด

           

Tag :