มีชัยปัด! รธน.วางกับดัก’ตอน’พรรคการเมือง

by ThaiQuote, 19 มิถุนายน 2561

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้สัมภาษณ์ ภายหลัง บรรยาย หัวข้อ "ทิศทางการศึกษานิติศาสตร์ในอนาคตนับแต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน" เนื่องในโอกาสครบ 46 ปี คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ถึงกรณีหลายฝ่ายวิจารณ์ว่า การเลือกตั้งครั้งหน้า ตามเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญ ฉบับ คสช.จะทำให้ได้ ส.ส.กระจัดกระจาย ไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมาก ว่า เป็นเพียงการคาดการณ์ เพราะยังไม่ได้มีการเลือกตั้ง ซึ่งไม่มีใครบอกได้ว่ารูปแบบนี้ถูกหรือไม่ถูก ซึ่งตนคิดว่า คนเปลี่ยนไปเยอะ เขาให้ความสนใจในสารัตถะมากขึ้น เชื่อว่าเวลาเขาตัดสินใจ ก็จะเปลี่ยนไปตามกระบวนการตัดสินใจเดิม

เมื่อถามว่า การเลือกแบบไพรมารีโหวต จำเป็นต้องนำมาใช้ในการเลือกตั้งครั้งนี้หรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องทำผังกำหนดเวลาออกมาว่าเริ่มเมื่อไร สิ้นสุดลงเมื่อใด จากนั้นก็ต้องไปดูว่าในแต่ละขั้นตอน เป็นอย่างไร ต้องให้ กกต.เป็นคนพูด โดยเฉพาะ ผังเงื่อนไขเวลาตามโรดแมป ต้องออกมาให้เร็วที่สุด ทุกฝ่ายจะได้ยึดปฏิบัติเป็นแนวทางเดียวกัน

"เมื่อกฎหมายมีเราก็ต้องปฏิบัติตาม จะไปยกเลิกอะไร ก็ต้องไปพูดคุยกัน แต่เราต้องเอาส่วนรวมเป็นที่ตั้ง การเมืองถึงจะเดินไปข้างหน้าได้ ดังนั้นผังเงื่อนไขเวลาต่างๆ กกต.ควรออกมาให้เร็ว เพื่อให้ทุกฝ่ายได้มาพูดคุยกันให้เกิดความชัดเจนว่า ทั้งหมดต้องใช้เวลาเท่าไรแล้วให้ทุกฝ่ายรวมถึงรัฐบาลได้มาตัดสินใจด้วย" นายมีชัย กล่าว

ต่อข้อถามว่า มีการวิจารณ์ว่าการเลือกตั้งในรูปแบบนี้ จะทำให้เกิด "รัฐบาลแห่งชาติ" นายมีชัย กล่าวว่า คิดกันไปเอง เพราะถ้าคนร่างรัฐธรรมนูญวางแผนแบบนี้ ถ้าอย่างนั้นตนร่างรัฐธรรมนูญให้คนนั้นคนนี้เป็นไม่ดีกว่าหรือ ซึ่งมันไม่ใช่ เพราะการร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ เราได้ไปถามประชาชนแล้ว เมื่อเขาเห็นว่าดีเราก็นำมาใส่ ซึ่งกลไกที่เราใส่ในรัฐธรรมนูญจะเป็นสิ่งที่เป็นครั้งแรก และน่าจะส่งผลให้การเลือกตั้ง ส.ส.เป็นไปตามเป้าหมาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายมีชัย ได้บรรยายถึงหัวใจการร่างรัฐธรรมนูญ ตอนหนึ่งว่า ได้ระมัดระวังอย่างมาก ต้องไม่ขัดหลักนิติธรรม และ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  "การร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เราระแวดระวังกฎหมายเป็นอย่างมาก เกือบจะเรียกได้ว่า เป็นตัวรังเกียจด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้น จึงเขียนไว้หลายที่ว่า ถ้าไม่จำเป็น ก็อย่าไปออกกฎหมาย โดยในรัฐธรรมนูญเขียนไว้ในมาตรา 26 ระบุว่า การจะออกกฎหมายได้ จะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญกำหนดเท่านั้น และมาตรา 77 ระบุกรอบและกระบวนการเอาไว้ว่า การจะออกกฎหมาย จะต้องไม่ขัดนิติธรรม ไม่จำกัดสิทธิ์เสรีภาพเกินสมควรแก่เหตุ ไม่กระทบศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และจะต้องบอกเหตุผลด้วยว่า ในกฎหมายดังกล่าว ได้จำกัดสิทธิเสรีภาพไว้ตรงไหน โดยการออกกฎหมายจะต้องรับฟังความคิดเห็นของบุคคล เพื่อให้เขามาบอกว่า สิ่งที่คุณกำลังจะทำนั้น จะกระทบอะไรบ้าง เขาจะต้องมีหน้าที่อย่างไร คนที่จะออกกฎหมายต้องบอกว่า ภาระอะไรบ้างที่จะเกิดกับประชาชน และเมื่อกฎหมายออกแล้ว ก็จะต้องไปประเมินผลสัมฤทธิ์ว่า ผลที่คาดว่า จะเกิดขึ้นตามที่คิดไว้หรือไม่ ถ้าไม่เป็นไปตามที่คิด จะมีเหตุผลสมควรหรือไม่ที่จะยกเลิก" นายมีชัย กล่าว

Tag :