คลอดกม.ใหม่ ถอนกัญชา-กระท่อมพ้นยาเสพติด

by ThaiQuote, 16 มิถุนายน 2561

เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ได้มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) โดยมีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช.เป็นประธานการประชุมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. ร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด และร่างพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด ฉบับที่.... พ.ศ. รวม 3 ฉบับ โดยพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า ร่างฎหมายดังกล่าวจะเป็นการรวบรวมกฏหมายที่เกี่ยวข้องข้องกับยาเสพติดทั้งหมดมาไว้ในฉบับเดียวอย่างเป็นระบบ รวมทั้งการอนุญาตเพื่อให้การควบคุมและการใช้ยาเสพติดในทางการแพทย์ ทางวิทยาศาสตร์ และทางอุตสาหกรรม เน้นการป้องกันการแพร่กระจายยาเสพติด การบำบัดรักษาและฟื้นฟูสภาพเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับเนื้อหาสาระของร่างกฎหมาย พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า กำหนดให้จัดทำนโยบายระดับชาติว่าด้วยการป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหายาเสพติด ปรับปรุงส่วนประกอบหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ป.ป.ส.) ให้มีคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด เพื่อรับผิดชอบกำหนดมาตรการเกี่ยวกับการอนุญาตและการควบคุมยาเสพติดให้โทษ วัตถุออกฤทธิ์และสารระเหย พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า ร่างกฎหมายนี้กำหนดให้คณะกรรมการป.ป.ส.มีอำนาจประกาศกำหนดพื้นที่ให้สามารถผลิต เสพหรือครอบครองยาเสพติดบางชนิดเพื่อศึกษาวิจัย หรือลดอันตรายจากยาเสพติดได้ ให้คณะกรรมการป.ป.ส.มีอำนาจออกประกาศ กำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดในสถานประกอบการ และกำหนดประเภทสถานประกอบการที่อยู่ภายใต้มาตรการดังกล่าว นอกจากนี้ยังให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีอำนาจประกาศกำหนดยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ที่สามารถเสพเพื่อการรักษาโรค เพื่อการศึกษาวิจัยได้ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการป.ป.ส.มีอำนาจประกาศให้ท้องที่ใดเสพใบกระท่อมได้ตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดโดยไม่เป็นความผิด ปรับปรุงองค์ประกอบ หน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินในกรณีผู้ต้องหาหรือจำเลยหลบหนี หรือถึงแก่ความตาย เป็นต้น พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า กำหนดให้มีคณะกรรมการบำบัดรักษา ฟื้นฟูยาเสพติด มีหน้าที่และอำนาจในการกำหนดเป้าหมายและนโยบายเกี่ยวกับการบำบัดรักษา และฟื้นฟูสภาพทางสังคมแก่ผู้เสพยาเสพติด รวมถึงมีอำนาจในการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในส่วนที่เกี่ยวข้อง กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขกรณีผู้เสพสมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษา กำหนดหน้าที่และอำนาจของเจ้าพนักงานป.ป.ส. และพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจในการดูแลผู้เสพ นอกจากนี้ยังกำหนด ให้มีศูนย์คัดกรองเพื่อทำหน้าที่คัดกรองประเมินความรุนแรงของยาเสพติด การส่งต่อผู้เข้ารับการบำบัดรักษา ไปยังสถานบำบัดรักษาที่เหมาะสม รวมทั้งปรับปรุงบทกำหนดโทษคดียาเสพติดให้มีความเหมาะสมในสัดส่วนของความร้ายแรงของการกระทำผิด และสอดคล้องต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้โทษทางอาญาเฉพาะกรณีที่มีความผิดร้ายแรง ปรับปรุงการบังคับโทษปรับ ที่ผู้ต้องโทษปรับไม่ชำระค่าปรับ ให้เป็นไปตามคดีที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายอาญา นายสมชาย แสวงการ สนช. กล่าวว่า รัฐบาลเดินมาในทิศทางที่ถูกต้อง แต่อยากให้แยกเรื่องกัญชาออกมาดำเนินการก่อน เพราะได้ศึกษาในระดับหนึ่งแล้ว ขณะที่พล.ต.ท.สานิตย์ มหถาวร สนช. กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ที่กระทำผิดยาเสพติดไม่ได้เกรงกลัวการติดคุก เพราะแม้ติดคุกยังมีเงินให้ครอบครัวได้อยู่ดีมีสุข จึงอยากให้มีมาตรการยึดทรัพย์ที่รวดเร็ว โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความร่วมมือเพื่อความรวดเร็วในการดำเนินคดี จากนั้นที่ประชุมมีมติเอกฉันท์รับหลักการร่างพ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. ..... และร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด ด้วยคะแนนเสียง 194 ต่อ0 งดออกเสียง 3 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง และตั้งกรรมาธิการวิสามัญ 28 คนพิจารณาแปรญัตติภายใน 15 วัน กำหนดระยะเวลาการดำเนินงาน 90 วัน และรับหลักการแห่งร่างพ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด(ฉบับที่..) พ.ศ. ...ด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ 190 ต่อ 0 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง แปรญัตติภายใน 15 วัน มีระยะเวลาการดำเนินงาน 90 วันเช่นกัน นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า ร่างกฎหมายนี้มีสาระที่เปลี่ยนไปคือให้อำนาจผู้พิพากษาตัดสินคดีกรณีผู้เสพหรือผู้ครอบครองว่า เป็นความผิดขั้นร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรงแทนการนับเม็ดยาเหมือนในอดีต ที่หากมีปริมาณครอบครองเกินกำหนดจะกลายเป็นผู้ค้าทันที โดยที่อาจจะเป็นเพียงผู้เสพ เชื่อว่าจะทำให้ผู้ที่ถูกตัดสินจำคุกมีปริมาณลดลง อีกทั้งยังไม่กำหนดให้กัญชาและกระท่อมเป็นยาเสพติดประเภท 5 ไว้ในพ.ร.บ.โดยจะให้ออกเป็นกฎกระทรวงแทนเพื่อสะดวกในการปรับแก้กรณีที่นำกระท่อมและกัญชามาใช้ทางการแพทย์ ซึ่งมีผลวิจัยของต่างประเทศ อาทิ แคนาดา ที่ปลูกกัญชาส่งออกใช้ทางการแพทย์ แต่ต้องอยู่ภายใต้คำสั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารสุข โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการป.ป.ส.