ความเป็นไปได้ที่นายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง 2562 คือ พลเอกประยุทธ์(ตอนที่ 2 )

by ThaiQuote, 23 มิถุนายน 2561

หลังการเลือกตั้งปี 2562 พรรคที่มีโอกาสเสนอชื่อ นายกรัฐมนตรีได้มี 4 พรรค คือ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย  และพรรคใหม่ที่ชื่อ พรรคพลังประชารัฐ 4 พรรคนี้สามารถเสนอชื่อนายกฯ 4 คนมาแข่งกัน คนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีต้องได้คะแนนเสียงเกิน 375 เสียง พรรคเล็ก และพรรคขนาดกลาง เสียงคงไม่พอ  แม้จะไปรวมกับเสียงสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง เพราะย้อนหลังดูผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา พรรคภูมิใจไทย(34)พรรคชาติไทยพัฒนา(19) พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน(7) พรรคพลังชล(7) รวมกันแล้วได้ 67 เสียงไม่ถึง 125 เสียง รวมกับ ส.ว. 250 เสียง คงไม่ได้ 375 เสียง ดังนั้นคะแนนสนับสนุนจากพรรคประชาธิปัตย์ หรือ พรรคเพื่อไทย จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการจัดตั้งรัฐบาล หลังการเลือกตั้งปี 2562 ความขัดแย้งและแตกแยกทางการเมืองที่ผ่านมาหลายสิบปี พรรคการเมืองใหญ่สองพรรคได้มีการวางโครงสร้างหัวคะแนนและฐานคะแนนเสียงหยั่งรากลึกด้วยความเชื่อมั่นและศรัทธาอย่างไม่เปลี่ยนแปลงด้วยจำนวนที่แน่นอน พรรคเพื่อไทยมีฐานของตัวเองในภาคอิสาน ภาคเหนือ และกรุงเทพมหานครส่วนหนึ่ง พรรคประชาธิปัตย์มีฐานของตัวเองในภาคใต้และกรุงเทพมหานครอีกส่วนหนึ่ง พรรคภูมิใจไทย และ พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดินมีฐานของตัวเองในบางจังหวัดของภาคอิสาน พรรคชาติไทยพัฒนามีฐานของตัวเองในสุพรรณบุรีและบางจังหวัดในภาคกลาง ส่วนพรรคพลังชลมีฐานของตัวเองในชลบุรีและบางจังหวัดในภาคตะวันออก งานใหญ่และหนักหนาสาหัสของพรรคที่จดทะเบียนใหม่ คือ ยังไม่ได้มีฐานของตัวเองในภาคไหนเลย แล้วจะเอาฐานคะแนนเสียงมาจากไหน จึงเป็นเรื่องที่แต่ละพรรคต้องเร่งทำงานหนักและวางแผนการเลือกตั้งอย่างมียุทธศาสตร์ โดยเฉพาะ พรรคพลังประชารัฐ และ พรรคอื่นที่พร้อมสนับสนุน พลเอกประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ยุค พล.อ.เปรม นายกรัฐมนตรีคนนอกเกิดขึ้นได้จริง เพราะมีพรรคการเมืองสนับสนุนเกินครึ่งของสภา โดยการจัดตั้งรัฐบาลผสมเสียงข้างมากในสภา 5 พรรค จาก 7 พรรค และแต่ละพรรคได้รับประโยชน์ทางการเมือง ได้เป็นรัฐมนตรี แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ ถ้านายกรัฐมนตรีมาจากพรรคเล็ก ไม่ใช่เพื่อไทย หรือ ประชาธิปัตย์ เสียงสนับสนุนจาก สส. ก็คงได้ไม่ถึงครึ่ง นี่คือ เงื่อนไขที่ต่างกันที่ทำให้นายกรัฐมนตรีคนนอกเกิดขึ้นได้ยากจริง ๆ และยังมีอุปสรรคที่ขวางทางเดินของนายกรัฐมนตรีที่ชื่อพลเอกประยุทธ์ คือ ภายใต้กติกาการเลือกตั้งใหม่ โอกาสที่พรรคหน้าใหม่จะเข้าไปนั่งในสภาได้นั้นเกิดขึ้นยากพอสมควร  คือ
  1. พ.ร.บ.พรรคการเมืองที่กำหนดเรื่องการจัดตั้งพรรคไว้สูงและยาก เช่น ต้องมีเงินต้นทุนพรรคหนึ่งล้านบาท มีนายทุนพรรคคนเดียวไม่ได้จะต้องมีการร่วมบริจาคจากสมาชิกพรรค และ ต้องมีการเลือกตั้งขั้นต้น (primary vote) ในทุกเขตที่ต้องการส่ง ถือว่าเป็นด่านที่สำคัญที่จะทำให้พรรคจำนวนมากล้มหายตายจากไปได้ ถ้าไม่สามารถจัดทำการเลือกตั้งขั้นต้นได้ เพราะว่ามันมีต้นทุนสูง พรรคจะไปหาสมาชิกที่ไหนมาทำการเลือกตั้งขั้นต้น สมาชิกต้องจ่ายค่าสมาชิกปีละ 100 บาท หรือตลอดชีวิต 2,000 บาท ซึ่งขัดแย้งกับวัฒนธรรมเดิมที่การเป็นสมาชิกมีแต่ได้ ไม่มีเสีย จึงเป็นปัญหาใหญ่ของพรรคที่ต้องการจัดตั้งใหม่จะสามารถหาสมาชิก และระดมเงินจำนวนมากขนาดนี้ได้หรือไม่ โดยกฎหมายกำหนดให้ในพื้นที่ที่มีสาขาพรรคจะต้องใช้เสียงของสมาชิก 100 คนขึ้นไปในการทำไพรมารี่โหวต และ 50 คน ถ้าไม่มีสาขาพรรค ประชาธิปัตย์เคยมีสมาชิกพรรคมากสุดคือ 2.8 ล้านคน เหลือ 80,000 คน เพื่อไทยมีประมาณ 1.3 แสนคน เหลือเพียง 10,000 คน แล้วพรรคใหม่ที่ยังไม่มีสมาชิกเลย จะฝ่าด่านนี้ไปได้อย่างไร? ก็คงต้องทำการบ้านกันอย่างหนักหนาสาหัสกันทุกพรรค
  2. พรรคใหม่และพรรคเก่ากับระบบเลือกตั้งบัตรใบเดียว คะแนน ส.ส. บัญชีรายชื่อจะได้มาจากบัตรเลือกตั้ง ส.ส. ระบบแบ่งเขต การเลือกตั้งในรอบหลายครั้งที่ผ่านมา สองพรรคใหญ่ครอบงำเสียงคนส่วนใหญ่ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเลือกประชาธิปัตย์หรือเพื่อไทย ในบางเขตอาจจะเป็น ชาติไทยพัฒนา หรือภูมิใจไทย ดังนั้นโอกาสที่ผู้สมัครของพรรคหน้าใหม่จะได้รับการเลือกตั้งในระดับเขตจึงมีน้อยมาก ผู้สมัคร ส.ส. เขตของพรรคเล็ก จึงถูกคาดหวังเพียงให้พรรคได้คะแนนเสียงอย่างน้อย 65,000 คะแนน พรรคจึงจะได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 1 คน ระบบนี้จะมีผลทำให้ส.ส.เขต กับ ส.ส.บัญชีรายชื่อจะขัดแย้งกันเอง พรรคเล็กจะมีเงินดึงดูด ว่าที่ผู้สมัครส.ส.เขตมากพอเพื่อที่จะรวมให้ได้หกหมื่นกว่าคะแนนหรือเปล่า ด้วยระบบการเลือกตั้งแบบนี้ ทำให้พรรคการเมืองต้องมีต้นทุนทางการเงินและบารมีมากพอที่จะหาตัวผู้สมัคร ส.ส.เขตให้ได้มากที่สุด เพราะถ้าส่ง ส.ส.เพียงเขตสองเขต โอกาสได้ ส.ส. จากบัญชีรายชื่อของพรรคคงยากยิ่งนัก
  3. พรรคเดียวกัน แต่คนละเบอร์ การเลือกตั้ง ส.ส. แต่ละเขตที่มาจากพรรคเดียวกันจะมีเลขผู้สมัครไม่เหมือนกัน เดิมพรรคเพื่อไทยได้เบอร์หนึ่ง ผู้สมัครสส.ก็จะเบอร์หนึ่งเหมือนกันทั้งประเทศ แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ ส.ส.เพื่อไทยในแต่ละเขตจะได้เบอร์ไม่เหมือนกัน พรรคจะหาเสียงโดยใช้เลขเดียวกันทั้งประเทศไม่ได้แล้ว ยุทธศาสตร์ในการหาเสียงในนามพรรคการเมือง จึงจะเกิดขึ้นไม่ได้ในการเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นเรื่องที่ต้องหากลยุทธที่เหมาะสมในการทำให้ประชาชนจดจำพรรคและผู้สมัครเพื่อการกาบัตรให้ตามที่ต้องการของพรรคการเมือง
ดังนั้นพรรคที่มีโอกาสชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ ต้องมีเงิน บารมี และอิทธิพลมากพอที่จะไประดมผู้สมัครไปลงสมัครในเขต เพื่อเพิ่มโอกาสที่จะได้คะแนนเสียงจากบัญชีรายชื่อ กระบวนการดูดสส.เก่าเข้าพรรคจึงต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คนเหล่านี้ก็อาจไม่ชนะได้เป็น ส.ส. ระดับเขต เพราะอาจสู้สองพรรคใหญ่ไม่ได้ แต่เนื่องจาก ส.ส.เก่า อาจยังมีฐานเสียงพอสมควร จึงหวังระดมเสียงจากเขตต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ  พรรคการเมืองจึงต้องมีจุดยืนทางการเมืองที่ชัดเจน ในการเลือกตั้งครั้งนี้ นโยบายจะไม่ได้เป็นตัวแปรหลัก เพราะว่ามียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีเป็นตัวกำกับ นโยบายจึงไม่ใช่ตัวแปรสำคัญในการเลือกตั้งครั้งนี้  พรรคจึงต้องแสดงจุดยืนให้ชัดว่าพรรคอยู่ตรงจุดไหนในการนำพาประเทศและสังคมไทยไปสู่ความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจและสังคม หรือจะไปเป็นฝ่ายรัฐบาล หรือจะเป็นฝ่ายค้าน  ประชาชนจะได้ตัดสินใจได้ถูกต้องว่าจะเลือกฝ่ายค้าน หรือฝ่ายรัฐบาล สำหรับพรรคที่บอกว่าจะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ให้เป็นรัฐบาลต่อไปอีก จะประสบสำเร็จหรือไม่? จึงต้องมียุทธศาสตร์การเลือกตั้งที่ถูกต้องสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นสิ่งที่ท้าทายในการเลือกตั้งครั้งนี้ สำหรับพรรคการเมืองหน้าใหม่คงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้มากนักในการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่มันจะเป็นการเลือกตั้งที่ปูฐานและวางรากฐานไปสู่การเปลี่ยนแปลงในระยะยาว  ยุทธศาสตร์การเลือกตั้งของพรรคจึงสำคัญเป็นอย่างยิ่ง  แล้วจะวางยุทธศาสตร์อย่างไรจึงจะชนะการเลือกตั้งเป็นรัฐบาลในสมัยหน้า? จะลองเสนอให้พิจารณากันต่อไปในตอนหน้า โดย ผศ.ดร.เธียรธรรม เธียรสิริไชย
Tag :