ถอดรหัส “อู่ตะเภา”ประตูสู่อนาคต ศูนย์กลางอุตฯ การบินโลก

by ThaiQuote, 23 มิถุนายน 2561

เมื่อมองลงไปตรงพื้นที่ของภาคตะวันออก และสนามบินอู่ตะเภาที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นดินแดนสนธยา ให้กลับมาคึกคักอีกครั้งตามแนวทางโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC กับการปั้นให้สนามบินแห่งนี้กลายเป็น “เขตยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมแห่งอนาคต และ กลายเป็น ศูนย์กลางอุตสาหกรรมการบินแห่งอาเซียน และของโลก   จากการเดินทางเยือนยุโรปของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และได้หารือกับ “นายกีโยม โฟรี” ประธานบริษัท Airbus Commercial Aircraft พร้อมชมการนำเสนอและเปิดตัวโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงท่าอากาศยานอู่ตะเภาในรูปแบบ 3 มิติ ณ บริษัท Airbus เมืองตูลูส สาธารณรัฐฝรั่งเศส เพื่อกลับมาเตรียมพร้อมสำหรับการสร้างให้ “สนามบินอู่ตะเภา” เข้าสู่ยุคใหม่ กับการเป็น  ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) ที่ทันสมัย ได้มาตรฐานโลก โดยเป็นความร่วมมือจากบริษัท Airbus ของฝรั่งเศส   นอกจากนี้ ยังเน้นให้มีการสร้างบุคลากรเพื่อรองรับกับเส้นทางของอู่ตะเภาในอนาคต ด้วยการ จัดตั้งศูนย์เรียนรู้เพื่อผลิตบุคลากรคุณภาพ โดยเฉพาะในสาขาช่างเทคนิคและช่างซ่อมเครื่องบิน ที่จะเป็นหลักสูตรเดียวกับของบริษัท Airbus เพราะเส้นทางแห่งอนาคตของอู่ตะเภา จะเป็นเส้นทางสำคัญในการประกอบรูปร่างของโครงการระเบียงเศรษฐกิจตะวันออกหรือ EEC ให้มีความเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น เป็นกรอบแห่งการเชื่อมโยงภาคอุตสาหกรรม เกษตร ธุรกิจการค้า การศึกษา และการท่องเที่ยวเข้าด้วยกันอย่างสมบูรณ์แบบ   เพราะไม่เพียงตัวของสนามบินอู่ตะเภาที่จะเป็น ศูนย์กลางด้านการบินและอุตสาหกรรมการบินของภูมิภาคและของโลกเท่านั้น แต่ยังจะเป็นศูนย์กลางแห่งการเชื่อมต่อระบบคมนาคมให้เป็นระนาบเดียวกันทั้ง 3 สนามบินของไทย คือ ดอนเมือง สุวรรณภูมิ  และอู่ตะเภาลากเส้นโครงการรถไฟความเร็วสูงพาดผ่าน 9 สถานีครอบคลุมพื้นที่และเชื่อมโยง เมืองหลวงอย่างกทม.สู่ภาคตะวันออกในเขต EEC ด้วยวงเงินการลงทุนกว่า 2 แสนล้านบาท   โดยการเชื่อมโยงระบบคมนาคมที่มาจากโครงข่ายรถไฟความเร็วสูง ผ่านสามสนามบินสำคัญ รวมทั้ง “อู่ตะเภา” ไม่เพียงจะทำให้ภาพของสนามบิน “อู่ตะเภา” เป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางอากาศของภูมิภาค แต่ยังเป็น “ศูนย์กลางการคมนาคมทางบก” ที่จะเป็นจุดเชื่อมโยงสำคัญของภูมิภาคและของโลกอีกด้วย   เรื่องนี้ในอนาคตเป็นแบบไหน ลองหลับตานึกภาพถึงผู้โดยสาร วันละกว่า 1.6 แสนคน รวมทั้งชุมชนขนาดใหญ่ตลอดเส้นทางแห่งรถความเร็วสูง EEC สายนี้ ที่เชื่อมต่อกับ “สนามบินอู่ตะเภา” กับ โครงการศูนย์กลางอุตสาหกรรมการบิน “อู่ตะเภา” จะกลายเป็นเมืองขนาดใหญ่ ที่ทั้งรองรับผู้โดยสาร และระบบการศึกษาด้านอุตสาหกรรมการบิน รวมถึงบุคลากรด้านนี้เป็นจำนวนมาก พร้อมๆ ไปกับ เรื่องของการท่องเที่ยว การค้าการลงทุน และการเดินทางจากทั่วทุกสารทิศ   แต่ภาพของ “อู่ตะเภา” จะได้เห็นกันเมื่อไหร่ นายกรัฐมนตรีพูดถึงเรื่องนี้ว่า “ รัฐบาลพร้อมส่งเสริมความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมอากาศยานและการบินอย่างเต็มที่ เพราะ เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย และหวังว่าจะได้เห็นโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา เดินหน้าโดยเร็ว พร้อมเปิดบริการในปี 2565 (ค.ศ.2022)   ซึ่งแน่นอนว่า การกล่าวกับคนไทยในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ที่เดินทางมาพบโดยนายกรัฐมนตรี ที่ว่า “หากคนไทยในปารีสกลับไปประเทศไทยในอนาคต จะจำประเทศไม่ได้ เพราะจะเจริญมาก” คงไม่ใช่เรื่องที่เกินความจริง   เพราะถ้ากลับเมืองไทยในอนาคต แล้ว ก้าวลงเครื่องบินจาก สนามบินอู่ตะเภา หรือ สนามบิน สุวรรณภูมิ แล้วได้เห็นสิ่งที่กล่าวมานี้ ก็คงต้องนึกย้อนกลับไปในวันที่ พล.อ.ประยุทธ์ พูดเอาไว้กับคนไทยที่ปารีสเกี่ยวกับ “อู่ตะเภา” และ ความเป็นศูนย์กลางภูมิภาคและของโลก ที่กำลังจะเป็นจริงแล้วในไม่ช้านี้
Tag :