“เขียวหวาน – พะโล้” เมนูฮิตใส่บาตร ทำสงฆ์ไทยโรครุมเร้า

by ThaiQuote, 15 กรกฎาคม 2559

พบว่า โรคที่พระสงฆ์ป่วยสูงสุด 5 อันดับคือ 1.โรคเมตาบอลิซึมและไขมันในเลือดผิดปกติ 2.โรคความดันโลหิตสูง 3.โรคเบาหวาน 4.โรคไตวายหรือไตล้มเหลว และ 5.โรคข้อเข่าเสื่อม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรม เนื่องจากพระสงฆ์ไม่สามารถเลือกฉันอาหารที่ฆราวาสถวายได้ การที่สสส.และสธ.ให้ความรู้ความเข้าใจถึงอาหารใส่บาตรที่เหมาะสมต่อสุขภาพพระ จึงเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันการเจ็บป่วยของพระสงฆ์ นอกจากนี้พระสงฆ์ยังมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพด้วย เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มกาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง เครื่องดื่มที่มีรสหวาน เป็นต้น หากไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสมจะกลายเป็นผู้ป่วยรายใหม่ในอนาคต

          รศ.ภญ.จงจิตร อังทะวานิช ผู้จัดการโครงการขับเคลื่อนสงฆ์ไทยไกลโรคเพื่อการดูแลโภชนาการพระสงฆ์ในระดับประเทศ สสส. กล่าวว่ากว่า 90% ของฆราวาสที่อยู่ในเมืองนิยมซื้ออาหารชุดใส่บาตร จากการสำรวจอาหารที่ถวายให้พระพบว่า อาหารยอดนิยมคือ แกงเขียวหวาน พะโล้ ผัดกระเพรา และของทอด เพราะรูปลักษณ์น่าทาน หน้าตาไม่เปลี่ยนมากหากทำทิ้งไว้เป็นเวลานาน แต่อาหารเหล่านี้ส่งผลต่อสุขภาพพระสงฆ์ไทย โดยพบความเสี่ยงต่อภาวะอ้วน โรคกระเพาะอาหารและกระดูกพรุน เนื่องจากอาหารที่ถวายเหล่านี้มีผักน้อย มีรสจัด ไขมันสูง โดยเฉพาะมีโปรตีนน้อย เพราะเลือกเนื้อคุณภาพไม่ดีมา ติดมันบ้าง ให้น้อยบ้าง ซึ่งเมื่อรับโปรตีนเพียง 60% ซึ่งไม่เพียงพอต่อปริมาณที่ร่างกายควรรับ จึงต้องฉันข้าวปริมาณมากเพื่อทดแทนโปรตีนให้เพียงพอ ทำให้อิ่มได้ไม่นาน จึงมักชดเชยด้วยน้ำปานะที่มีรสหวาน โดยน้ำปานะยอดนิยมคือ กาแฟ ชาขวด และเครื่องดื่มชูกำลัง โดยฉันปริมาณเฉลี่ย 2 ขวดต่อวัน ทำให้เสี่ยงต่อภาวะอ้วนลงพุง 45%

          รศ.ภญ.จงจิตร ยังกล่าวว่า นอกจากนี้ ยังพบภาวะกระดูกพรุน เพราะท่านไม่มีโอกาสได้ฉันผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม โดยพบอาหารที่ท่านฉันมีปริมาณแคลเซียมต่ำกว่าคนทั่วไป โดยได้รับเพียง 100 กว่ามิลลิกรัม ขณะที่คนทั่วไปอยู่ที่ 800-1,000 มิลลิกรัม ซึ่งต่างกัน 8 เท่า และอาหารที่ถวายมักมีรสจัดทำให้เป็นโรคกระเพาะอาหาร ช่วงเข้าพรรษานี้ก่อนใส่บาตรอยากให้ฆราวาสช่วยกันเลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพพระ คือ เสริมข้าวกล้อง ผัก ปลา นม ลดเค็ม มัน ซึ่งโครงการฯ ได้จัดทำหนังสือบาตรไทย ไกลโรค 4 ภูมิภาค ซึ่งจะโดยมีการยกตัวอย่างเมนูอาหารที่เหมาะสมกับการถวายพระ เช่น ปลาผัดขึ้นฉ่ายใช้น้ำมันน้อย ไข่เจียวสมุนไพรน้ำมันน้อย แกงจืดช่วยลดการรับประทานอาหารรสจัดป้องกันการเกิดโรคกระเพาะ และแกงเขียวหวานสูตรนมครึ่งกะทิครึ่ง ช่วยลดไขมันอิ่มตัวจากกะทิ และเพิ่มแคลเซียมจากการใช้นม เป็นต้น

          พระศรีคัมภีรญาณ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) กล่าวว่า พระเลือกฉันเองไม่ได้ ทำให้ระมัดระวังเรื่องอาหารกับสุขภาพได้ยาก ดังนั้น จึงต้องเริ่มตั้งแต่ฆราวาสที่ต้องการเลือกสรรสิ่งที่ดีเป็นประโยชน์ ไม่เป็นโทษให้แก่พระภิกษุ เหมือนดังพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า "วิเจยฺย ทานํ สุคตปฺปสตฺถํ" การเลือกให้พระสุคตทรงสรรเสริญ คือเลือกสิ่งที่จะให้ กับคนที่จะให้ ดังนั้น จึงควรมีการให้ความรู้ฆราวาสว่าอะไรส่งเสริมสุขภาพพระสงฆ์ อะไรเป็นอันตรายสุขภาพพระสงฆ์ คนถวายจะได้เอาใจใส่มากขึ้น คัดเลือกสิ่งที่ดีให้พระสงฆ์มากขึ้น อย่างโครงการพัฒนา "ครัวต้นแบบ" ที่ มจร.ร่วมกับคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาฯ และ สสส.ในการให้ความรู้แม่ครัว ตั้งแต่การเลือกวัตถุดิบว่าอะไรมีประโยชน์ ปรุงแบบใดมีประโยชน์ต่อสุขภาพพระ เพราะที่ผ่านมาการปรุงก็มักปรุงตามปากแม่ครัว ตามรสที่แม่ครัวชอบ สำหรับการส่งเสริมให้พระสงฆ์มีอิริยาบถที่ส่งเสริมการออกกำลังกายนั้น ค่อนข้างทำได้ยาก เพราะพระสงฆ์มักไม่ค่อยมีการเปลี่ยนอิริยาบถ เวลานั่งก็นั่งนานๆ จึงอยากให้มีการศึกษาว่าการเปลี่ยนอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน นั้นควรมีสัดส่วนเป็นเท่าไรจึงจะดีต่อสุขภาพแล้วถ่ายทอดความรู้ให้แก่พระ หรืออย่างการแกว่งแขนก็อยากให้มีการแนะนำว่าพระว่าการแกว่งแขนเพื่อส่งเสริมสุขภาพต้องทำอย่างไร

          ด้านนายพนม ศรศิลป์ ผอ.พศ. กล่าวว่า แนวทางหนึ่งที่ช่วยพระสงฆ์มีกิจกรรมทางกายได้ดีคือ การกวาดลานวัด ซึ่งพระเถระชั้นผู้ใหญ่หลายรูป แม้จะอายุมาก แต่สุขภาพดีก็เพราะตื่นแต่เช้ามากวาดลานวัด จึงอยากให้มีการศึกษาว่าการกวาดลานวัดถือว่าเพียงพอหรือไม่กับการส่งเสริมการออกกำลังกายของพระ สำหรับการดูแลสุขภาพพระของพศ.นั้น เมื่อปี 2547 ได้มีการจัดทำธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ระดับชาติขึ้น แต่ปัญหาก็ยังไม่ดีขึ้น ซึ่งการทำงานต่อจากนี้จะร่วมกับองค์กรชุมชนดูแลสุขภาพพระสงฆ์ มีการทำโครงการวัดต้นแบบดูแลสุขภาพ รวมถึงกำหนดหลักสูตรส่งเสริมสุขภาพพระสงฆ์เพื่อใช้ในการอบรมเจ้าอาวาส พระนักเทศน์ พระวิปัสสนา เป็นต้น และมหาวิทยาลัยของสงฆ์เองก็จะมีการจัดทำหลักสูตรช่วยส่งเสริมสุขภาพด้วย