สารพัน...สารพัด สรรพคุณ กะเพรา

by ThaiQuote, 17 กรกฎาคม 2561

ประเทศไทยและอินเดียมีการปลูก 2 พันธุ์คือ กะเพรา (Lakshmi tulsi) และกะเพราแดง (Krishna tulsi) ที่ประเทศอินเดียจะเก็บเกี่ยวหลังผลิดอกครั้งแรกเพื่อให้ได้สรรพคุณทางยาสูงสุด   การแพทย์อายุรเวทและศาสนาฮินดูมีการใช้กะเพรา มากว่า 5,000 ปี จัดเป็นราชินีสมุนไพร(Queen of Herb) ใช้ทั้งด้านร่างกายและจิตวิญญาณ โดยกล่าวว่ากะเพรามีคุณสมบัติปรับธาตุ ช่วยภาวะสมดุลหลายกระบวนการของร่างกาย และช่วยให้เผชิญความเครียด ทั้งทางร่างกายและจิตใจได้ดีขึ้น   การแพทย์อายุรเวทเชื่อว่ากะเพราเป็นพืชที่ช่วยให้อายุยืน ใช้บรรเทาอาการหวัด ปวดศีรษะ อาการต่างๆ ของกระเพาะอาหาร อาการอักเสบ โรคหัวใจและหลอดเลือด ปรับสมดุลระบบภูมิต้านทาน บรรเทามาลาเรีย และขับสารพิษต่างๆ เพราะมีฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย มีการใช้ใบกะเพราแห้งปนกับเมล็ดพันธุ์เพื่อไล่แมลง   คนไทยใช้กะเพราประกอบอาหาร จะมีใครบ้างใช้กะเพราเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อสุขภาพ การศึกษาวิจัยเรื่อง กะเพรามีจำนวนมาก เรียบเรียงเป็นหมวดหมู่ได้ดังนี้  
  • ฤทธิ์ต้านออกซิเดชัน การกินสารสกัดจากใบกะเพรา 10 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ก่อนการฉายรังสีหนูทดลอง หนูกินสารสกัดดังกล่าวมีความผิดปกติของโครโมโซมเซลล์ไขกระดูกที่แยกจากหนูที่รับรังสี 4.5 Gy ติดต่อกัน 5 วันต่ำกว่ากลุ่มควบคุม มีผลให้ระดับ GSH GST เอนไซม์กลูตาไทโอนรีดักเตส (GSPx) และ SOD ในตับมีระดับสูงขึ้น แต่ลดการเกิดออกซิเดชันของไลพิด
  • ฤทธิ์ลดความดันเลือด การศึกษาในสุนัขพบว่า fixed oil จากกะเพรามีฤทธิ์ลดความดันเลือด อันอาจมีผลจากฤทธิ์ขยายหลอดเลือดส่วนปลาย และเชื่อว่ามีคุณสมบัติยับยั้งการเกาะกันของเกล็ดเลือด เพิ่มระยะเวลาแข็งตัวของเลือด
  • ฤทธิ์ลดปริมาณไขมันในเลือดและปริมาณคอเลสเตอรอลสุทธิ พบว่าฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดมาจากความสามารถในการต้านออกซิเดชันของกะเพรา กระต่ายที่ได้รับใบกะเพราสดผสมอาหารขนาด 1-2 กรัม/กิโลกรัม/วัน เป็นเวลา 4 สัปดาห์จะมีปริมาณ คอเลสเตอรอลสุทธิ ไตรกลีเซอไรด์ ฟอสโฟไลพิด และไขมันไม่ดี (แอลดีแอล-คอเลสเตอรอล) ลดลง และมีไขมันดี (เอชดีแอล-คอเลสเตอรอล) และคอเลสเตอรอลในอุจจาระเพิ่มขึ้น
  • ฤทธิ์ต่อระบบหัวใจ เมื่อให้ใบกะเพราสดบดละเอียด 50 และ 100 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน เป็นเวลา 30 วันแก่หนู แล้วจึงเหนี่ยวนำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายด้วย isoproterenol พบว่าใบกะเพราบดเพิ่มภาวะต้านออกซิเดชันในหัวใจ เพิ่มระดับ GSH SOD คาทาเลส และ GPx activity และลดการเกิดไลพิดเพอออกซิเดชันและการตายของกล้ามเนื้อหัวใจ
  • ฤทธิ์ต้านการเกิดแผลกระเพาะอาหาร สารสกัดกะเพราลดการหลั่งกรด เพิ่มการหลั่งสาร เยื่อเมือกของกระเพาะอาหาร เมื่อป้อนสารสกัดกะเพราด้วยแอลกอฮอล์ 70% ทางท่อเข้าที่กระเพาะหนูขาว ขนาด 100 มิลลิกรัม/กิโลกรัม มีผลรักษาแผลกระเพาะอาหารที่เกิดจากแอสไพริน แอลกอฮอล์ ฮิสตามีน และความเครียด พบว่าสามารถลดการหลั่งกรด และป้องกันการถูกทำลายของเยื่อบุกระเพาะอาหารได้
  • ฤทธิ์ลดการบีบตัวของลำไส้ สารสกัดน้ำหรือแอลกอฮอล์ 50% ของใบสดหรือใบกะเพราแห้ง มีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อเรียบของลำไส้หนูตะเภาและกระต่ายที่ถูกกระตุ้นด้วยฮิสตามีน อะเซทิลโคลีน หรือคาร์บาคอล (carbachol)
  • ฤทธิ์ขับลม ใช้น้ำต้มใบกะเพรา 2-3 หยด ผสมน้ำนมให้ทารกดื่ม ทำให้ทารกสบายท้อง เพราะน้ำมันหอมระเหยที่ได้จากกะเพราช่วยขับลมในท้อง
  • ฤทธิ์ลดการอักเสบ การศึกษากะเพราพบว่ามีฤทธิ์ต้านการทำงานของเอนไซม์ค็อกซ์-1 (Cox-1) และค็อกซ์-2 (Cox-2) เหมือนยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ (ที่นิยมใช้รักษาโรคข้ออักเสบ) อันเนื่องมาจากสารยูจีนอล cirsillenol, cirsimaritin, Isothymonin, Apigenin, rosmarinic acid ในน้ำมันกะเพรา มีฤทธิ์ลดการอักเสบโดยยับยั้งการสังเคราะห์พรอสตาแกลนดิน (prostaglandin)
  • ฤทธิ์แก้ปวด สารสกัดใบกะเพราด้วยแอลกอฮอล์หรือให้กินทางปาก สามารถยับยั้งอาการปวดได้ เมื่อเหนี่ยวนำให้เกิดการปวดโดยการฉีดกรดอะเซติกเข้าทางช่องท้องหนูทดลอง
  • ฤทธิ์ปกป้องตับ เมื่อฉีดสารสกัดทั้งต้นด้วยแอลกอฮอล์ 70% เข้าช่องท้องหนูถีบจักร 200 มิลลิกรัม/กิโลกรัม หรือป้อนตำรับยาที่มีกะเพราเป็นส่วนประกอบขนาดต่างๆ กันให้กับหนูขาวทางปาก และสารสกัดใบกะเพราขนาด 10 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เมื่อป้อนให้กับหนูถีบจักรทางปากนาน 10 วัน พบว่าป้องกันตับจากการถูกทำลายด้วยสารคาร์บอนเตตราคลอไรด์หรือสารปรอทได้
  • ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดและรักษาเบาหวาน ประเทศอินเดียมีประวัติการใช้น้ำชงช่อดอกดื่มรักษาเบาหวาน และใช้ชาชงจากใบดื่มเพื่อควบคุมระดับ น้ำตาลในเลือด ส่วนประเทศปากีสถานกินผงใบกะเพรา มื้อละ 21 กรัม วันละ 2 ครั้งเพื่อรักษาเบาหวาน
  • ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดอาการท้องเสีย สารในกลุ่มฟีนอล แทนนิน และซาโพนินจากต้น กะเพราและสารสกัดเอทานอล และน้ำมันหอมระเหยจากกะเพราสามารถต้านเชื้อแบคทีเรีย E. coli และ Shigella dysenteriae ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการท้องเสียได้
  • ฤทธิ์ต้านเชื้อสิว งานวิจัยของประเทศไทยพบว่า น้ำมันหอมระเหยจากกะเพรา ซึ่งมีสารยูจีนอล แกมม่าคาร์โยฟิลีน และเมททิลยูจีนอลเป็นองค์ประกอบสำคัญ มีฤทธิ์ต้านการเติบโตของเชื้อสิว Propionibacterium acnes ซึ่งจะสามารถนำไปพัฒนาเป็นสารรักษาสิวต่อไป
  #กะเพรา #สมุนไพร