อีอีซียกเว้นภาษีสถาบันการศึกษา 8 ปี SMEs โปรเพียบ

by ThaiQuote, 17 กรกฎาคม 2561

Thaiquote ได้สัมภาษณ์พิเศษนายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ในประเด็นการลงทุนของสถาบันการศึกษาในเขตอีอีซี โดยมีแนวคำถามและคำตอบดังต่อไปนี้   1.หมวดการส่งเสริมด้านพัฒนาบุคลากร   1.1          นโยบายส่งเสริมให้สถาบันการศึกษาเข้ามาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษอีอีซีจะได้สิทธิ ประโยชน์อย่างไร  
  • บีโอไอตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาและการพัฒนาบุคลากรให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายและการพัฒนาประเทศในอนาคตตามนโยบาย Thailand 4.0 โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมบุคลากรในด้าน STEM (Science, Technology, Engineering, Mathematics) รวมทั้งด้านดิจิทัล มีความสำคัญเป็นอย่างมาก บีโอไอจึงได้เปิดให้การส่งเสริม “กิจการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์” โดยได้สิทธิประโยชน์ในระดับสูง คือ การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี (โดยไม่จำกัดวงเงินยกเว้นภาษี) หากตั้งในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และอยู่ในพื้นที่เขตส่งเสริมที่กำหนด ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมอีก โดยมีรายละเอียดของประเภทกิจการดังนี้
o             กิจการสถานฝึกฝนวิชาชีพ  โดยต้องฝึกอบรมทางเทคนิคในสาขาวิชาชีพเฉพาะ รวมถึงการออกแบบ และต้องมีวัสดุอุปกรณ์ ห้องปฏิบัติการ และ facility อื่นๆ ที่จำเป็น o             กิจการสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูง   ต้องตั้งในพื้นที่ EEC หรือเขตเศรษฐกิจพิเศษอื่นที่คณะรัฐมนตรีประกาศกำหนดให้เป็นพื้นที่จัดตั้ง และกรณีเป็นการลงทุนจากต่างประเทศ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการพัฒนาการจัดการศึกษาโดยสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ (คพอต.) ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน o             กิจการสถานศึกษาที่มีศักยภาพสูง  เป็นสถานศึกษาระดับต่ำกว่าอุดมศึกษาที่มุ่งเน้นการเรียนการสอนในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และต้องตั้งในพื้นที่ EEC หรือเขตเศรษฐกิจพิเศษอื่นที่คณะรัฐมนตรีประกาศกำหนดให้เป็นพื้นที่จัดตั้ง   1.2   สิทธิพิเศษดังกล่าวระหว่างสถาบันการศึกษาไทยกับต่างชาติต่างกันหรือไม่   
  • ผู้ที่จะได้รับการส่งเสริมการลงทุน ไม่ว่าเป็นกิจการของคนไทยหรือต่างชาติ จะได้รับสิทธิประโยชน์เท่ากัน เพียงแต่ว่าหากเป็นสถาบันอุดมศึกษาจากต่างประเทศที่ประสงค์จะให้ต่างชาติถือหุ้นข้างมาก ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการพัฒนาการจัดการศึกษาโดยสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ (คพอต.) ก่อน
  1.3     บริษัทที่เข้ามาตั้งโรงงานผลิตในพื้นที่อีอีซีสามารถสร้างหลักสูตรพัฒนาบุคลากรของ  ตนเองได้หรือไม่ และได้สิทธิประโยชน์อย่างไรบ้าง  
  • บีโอไอมีมาตรการที่จะช่วยกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเอกชนเข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาบุคลากร ทั้งที่เป็นพนักงานของตนเองหรือบุคลากรภายนอกบริษัท โดยเฉพาะการพัฒนาในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดังเช่น บีโอไอได้กำหนดเงื่อนไขสำคัญของการขอรับการส่งเสริมลงทุนในพื้นที่ EEC ตามประกาศของบีโอไอ คือโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนต้องมีความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย หรือศูนย์ความเป็นเลิศ (Excellence Center) เช่น ความร่วมมือในโครงการ Work-integrated Learning (STI WiL) สหกิจศึกษา ทวิภาคี โครงการอาชีวะพิเศษ (สัตหีบโมเดล) หรือความร่วมมือเพื่อพัฒนาบุคลากรหรือเทคโนโลยีในรูปแบบอื่นๆ ตามที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
  • นอกจากนี้ หากมีการลงทุนเพิ่มในรูปแบบของ Merit-based Incentives หรือสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมตามคุณค่าของโครงการ เช่น มีค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมด้านเทคโนโลยีขั้นสูงไม่น้อยกว่าร้อยละ 1 ของมูลค่ายอดขายรวมของโครงการใน 3 ปีแรก หรือไม่น้อยกว่า 200 ล้านบาท แล้วแต่มูลค่าใดต่ำกว่า ไม่ว่าจะเป็นการสร้างหลักสูตรพัฒนาบุคลากรของตนเองหรือส่งไปฝึกอบรมภายนอกบริษัท ก็ยังจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมในวงเงิน 2 เท่าของค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นด้วย
  1.4          มีการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอื่นใดหรือไม่ เกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนา  
  • บีโอไอให้ความสำคัญสูงสุดกับการส่งเสริมกิจกรรมด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) ผ่านมาตรการต่างๆ เช่น
o             การส่งเสริมการลงทุนในกิจการวิจัยและพัฒนา โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี ไม่จำกัดวงเงินยกเว้นภาษี o             หากเป็นการลงทุนทำ R&D เพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีเป้าหมาย ได้แก่ Biotechnology, Nanotechnology, Advanced Material Technology และ Digital Technology จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มขึ้นเป็น 10 ปี โดยไม่จำกัดวงเงินยกเว้นภาษี o             กรณีโครงการทั่วไปในภาคการผลิต หากมีการลงทุนวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพิ่มเติม ไม่ว่าจะดำเนินการเอง หรือว่าจ้างผู้อื่นในประเทศ หรือร่วมดำเนินการกับองค์กรในต่างประเทศตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมตามมาตรการ Merit-based Incentives หรือสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมตามคุณค่าของโครงการด้วย โดยจะได้รับวงเงินยกเว้นภาษีเพิ่มถึงร้อยละ 300 o             นอกจากนี้ สำหรับโครงการที่หมดสิทธิด้านภาษีเงินได้แล้ว หรือโครงการที่ไม่เคยได้รับการส่งเสริมการลงทุน หากจะมีการลงทุนวิจัยและพัฒนา หรือออกแบบทางวิศวกรรมเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ ก็สามารถขอรับการส่งเสริมได้เช่นเดียวกัน โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี วงเงินไม่เกินร้อยละ 50 ของเงินลงทุนหรือค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นด้วย   2.หมวดการส่งเสริมบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม   2.1 บีโอไอส่งเสริมเอสเอ็มอีไทยในการเข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซีอย่างไรบ้าง  
  • บีโอไอมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนเป็นพิเศษสำหรับ SMEs ที่มีบุคคลธรรมดาสัญชาติไทยถือหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 และมีสินทรัพย์ถาวรสุทธิหรือขนาดการลงทุนโดยไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียนไม่เกิน 200 ล้านบาท โดยจะผ่อนปรนเงื่อนไขการลงทุนขั้นต่ำเหลือเพียง 5 แสนบาท จากปกติที่กำหนดไว้ 1 ล้านบาท เพื่อเปิดโอกาสให้กิจการ SMEs สามารถยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนได้ง่ายขึ้น และอนุญาตให้ใช้เครื่องจักรใช้แล้วในประเทศได้ไม่เกิน 10 ล้านบาท (โครงการปกติจะไม่ได้รับอนุญาต) ทั้งนี้ สิทธิประโยชน์ที่จะได้รับคือ การเพิ่มวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจากปกติร้อยละ 100 เป็นร้อยละ 200
  • หากมีการลงทุนเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน เช่น การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม การฝึกอบรมด้านเทคโนโลยีขั้นสูง การออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น ยังจะได้รับการผ่อนปรนเงื่อนไขสัดส่วนเงินลงทุนหรือค่าใช้จ่ายในการพัฒนาดังกล่าวโดยลดลงจากเกณฑ์ปกติครึ่งหนึ่ง เพื่อให้ SMEs ใช้ประโยชน์จากมาตรการนี้ได้ง่ายขึ้น
  • นอกจากนี้ หาก SMEs ตั้งโครงการในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และอยู่ในพื้นที่เขตส่งเสริมที่กำหนด ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมตามมาตรการ EEC อีกด้วย แต่ต้องเป็นการลงทุนในกิจการที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายด้วย
    2.2       เอสเอ็มอีจะได้รับสิทธิพิเศษด้านภาษีหรือการให้สินเชื่อหรือไม่  
  • แม้ว่าบีโอไอมิได้มีบริการด้านสินเชื่อ แต่นอกจากสิทธิประโยชน์พิเศษตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนของ SMEs แล้ว บีโอไอยังได้มีมาตรการสนับสนุนให้ SMEs ไทยพัฒนาศักยภาพและเติบโตอย่างยั่งยืน รวมทั้งเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อก้าวสู่ระดับสากล โดยได้ออก “มาตรการส่งเสริมให้ SMEs จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอไอ (mai)” โดยจะเพิ่มวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจากเดิมร้อยละ 100 เป็นร้อยละ 200 ของเงินลงทุนไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน ให้กับทุกโครงการของบริษัทที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมก่อนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai  โดยต้องยื่นขอรับการส่งเสริมลงทุนภายในสิ้นปี 2563
    อีอีซี   สถาบันการศึกษา ลงทุน ลงทุนอีอีซี SMEs  SME