“สมคิด” บุกนาโกยา ดึงนักธุรกิจยุ่นลงทุน EEC

by ThaiQuote, 20 กรกฎาคม 2561

ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนาการลงทุน “Thailand Taking off to New Heights” จัดขึ้นโดยสำนักงานส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ณ โรงแรม Nagoya Marriott Associa เมืองนาโกยา จังหวัดไอจิ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีนักลงทุนญี่ปุ่น 800 คน ร่วมรับฟัง ว่า ด้วยศักยภาพของประเทศไทย ทรัพยากรที่มี บ้านเมืองสงบ และการปฏิรูปประเทศที่ดีพอ จะทำให้จีดีพีของไทยในปี 2561 ขยายตัวได้ 4-5% โดยขึ้นอยู่กับสถานการณ์โลกด้วย แต่มั่นใจประเทศไทยไปได้ดีแน่นอน ทั้งนี้ ดัชนีทางเศรษฐกิจทุกตัวขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพ และการท่องเที่ยวในปีนี้ที่จะมีต่างชาติมาเที่ยวไทยสูงถึง 40 ล้านคน จึงอยากเชิญชวนนักลงทุนญี่ปุ่นไปขยายการลงทุนในไทยโดยเฉพาะในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งเมื่อ 2 ปีก่อนที่รัฐบาลไทยเริ่มต้นทำ มีน้อยคนที่คิดว่าจะทำได้สำเร็จ แต่ตอนนี้มีมูลค่าการลงทุนสูงถึง 600,000 ล้านบาท ขณะที่ใน 2 ไตรมาสแรกของปีนี้ได้ทวีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งหมดนี้ด้วยความช่วยเหลือของญี่ปุ่นและองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) ที่ได้สำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของนักลงทุนญี่ปุ่นที่มีต่อการลงทุนในไทย ได้สูงขึ้นจากระดับ 14 ในครึ่งแรกของปี 60 เป็นระดับ 40 ในการสำรวจครั้งล่าสุด และคงไม่มีช่วงใดที่ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและญี่ปุ่นจะแน่นแฟ้นเท่าตอนนี้ ขณะที่การเดินทางมาจังหวัดไอจิ และได้พบกับนายฮิเดะอะกิ โอมุระ ผู้ว่าราชการจังหวัดไอจิ ดร.สมคิด ได้ย้ำถึงนโยบายของรัฐบาลไทยที่จะกระชับความสัมพันธ์กับระดับท้องถิ่นของญี่ปุ่นว่ามีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากท้องถิ่นของญี่ปุ่นมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีเอกลักษณ์ และจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย จึงได้เลือกเดินทางเยือนจังหวัดมิเอะ และจังหวัดไอจิ เพื่อเชิญชวนบริษัทขนาดใหญ่ รวมทั้งธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) รวมถึงสตาร์ทอัพของจังหวัดไอจิ ในสาขาที่มีศักยภาพและสอดคล้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย เช่น ยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนอากาศยานและอวกาศ ไปลงทุนในอีอีซี จากที่ปัจจุบันมีบริษัทของจังหวัดไอจิที่ลงทุนในไทยกว่า 300 บริษัท 440 สาขา และมีมูลค่าการลงทุนคิดเป็นประมาณ 1 ใน 3 ของมูลค่าการลงทุนทั้งหมดของญี่ปุ่นในไทย รวมทั้งให้พิจารณาจัดตั้ง สำนักงานปฏิบัติการในภูมิภาคในประเทศไทย ซึ่งสามารถใช้เป็นฐานส่งออกจากไทยไปยังประเทศในเอเชียหรือตะวันออกกลางได้ ด้านนายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม กล่าวในหัวข้อการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่ Thailand 4.0 และเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ว่า มีความหวังเป็นอย่างยิ่งจะได้ต้อนรับนักลงทุนญี่ปุ่นรายใหม่ๆ โดยเฉพาะการเข้าไปลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ขณะที่มีหลายอุตสาหกรรมเป้าหมายเป็นที่สนใจของผู้ประกอบการทั้งไทยและญี่ปุ่น จึงมีโอกาสมากที่จะร่วมลงทุนกัน  ซึ่งเครื่องมือสาคัญที่รัฐบาลใช้ในการปฏิรูปเศรษฐกิจคือ ความร่วมมือแบบหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐ-ภาคเอกชน PPP (Public- Private-Partnership) ซึ่งเอกชนจะเป็นผู้นำในการต่อยอดและ ยกระดับเทคโนโลยีการวิจัยและพัฒนาอย่างครบวงจรรวมถึงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยรัฐบาลให้การสนับสนุนใกล้ชิดตามยุทธศาสตร์ ไทยแลนด์ 4.0 จึงขอเน้นย้ำว่า ประเทศไทยเปิดโอกาสและมุ่งหวังร่วมมือเป็นหุ้นส่วนกับนานาชาติในการปรับโครงสร้างปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย 4.0 บนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกันที่ยั่งยืน หรือ win-win โดยเฉพาะกับประเทศญี่ปุ่น