สวมแว่นวิชาการ ส่อง’สามมิตร’ การเมืองเก่าภาพพรรคใหม่?

by ThaiQuote, 28 กรกฎาคม 2561

บายไลน์  วรกร  เข็มทองวงศ์ ท่ามกลางความเข้มงวดของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ( คสช. ) ที่คุมเข้มการทำกิจกรรมทางการเมืองของพรรคเมืองต่างๆ  มีเพียงการเคลื่อนไหวของ กลุ่มสามมิตร  แนวร่วมการเมืองที่เดินสายพบปะเหล่านักการเมืองต่างๆ เพื่อเชื้อเชิญเข้าร่วมสังกัด เพื่อเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ที่คาดว่าจะต้องเป็น พรรคพลังประชารัฐ ในอนาคต หลายคนสงสัยว่า กลุ่มสามมิตร คือใคร ทำไมมีบทบาทในช่วงนี้ ? กลุ่มสามมิตร คือกลุ่มแนวร่วมประสานทางการเมือง จากเหล่ากูรูนักการเมืองชั้นเซียนรุ่นเก๋า ได้แก่ นาย สมศักดิ์ เทพสุทิน สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นแกนนำหลัก  ซึ่งทำหน้าที่ นักการทูต เดินสายหาพันธมิตร และ ส.ส. ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะภาคอีสาน พื้นที่ฐานกำลังสำคัญของพรรคเพื่อไทย การเคลื่อนไหวของสามมิตร ไม่ใช่คนตัวเล็กๆ เพราะกระเทือนไปทั่วจน นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และเจ้าของพรรคเพื่อไทยตัวจริง ถึงกับต้องพาน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวและอดีตนายกฯ แสดงพลังผ่านโซเชี่ยล แสดงว่า กลุ่มสามมิตร  ไม่ธรรมดา   นายสติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการผู้ชำนาญการ สำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า อธิบายกลุ่มสามมิตรว่า  กลุ่มสามมิตร คือ การกลับมารวมพลังอันอีกครั้งของมือประสานกลุ่มก๊วนยุคก่อตั้งพรรคไทยรักไทย แรกเริ่มเดิมทีที่รัฐบาลปัจจุบันเริ่มมีการพบปะพูดคุยกับกลุ่มการเมืองต่างๆ ยังไม่มีชื่อสามมิตร จนกระทั่งปรากฏชื่อของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ขึ้นมาในขบวนการ “ดูด” นักการเมืองเข้ามาตั้งพรรคเพื่อสนับสนุนรัฐบาลปัจจุบันให้กลับมาบริหารประเทศอีกครั้งหลังเลือกตั้ง ชื่อ “สามมิตร” จึงถูกใช้เป็นชื่อกลุ่ม จริงๆ การเกิดขึ้นของกลุ่มการเมืองแบบ “กลุ่มสามมิตร” ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดผิดปกติ ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ มักจะมีการรวมตัวของบรรดานักการเมืองเป็นกลุ่มการเมืองหรือพรรคการเมืองเพื่อผนึกกำลังกันสู้ศึกเลือกตั้งอยู่เสมอ โดยการรวมตัวแบบนี้มักจะมีนักการเมืองที่เป็นระดับแกนนำหรือมือประสานคอยทำหน้าที่รวบรวมสมัครพรรคพวกเข้ามาให้เป็นกลุ่มเป็นก้อนเพื่อมีอำนาจต่อรองทางการเมือง ดังนั้น หากจะพูดถึงผลดีหรือผลเสียต่อวงการการเมืองคงพูดยาก เพราะมันเป็นธรรมชาติของนักการเมืองโดยเฉพาะประเภทที่มิได้มีอุดมการณ์หรือจุดยืนทางการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่งที่ชัดเจน แต่นักการเมืองประเภทนี้จะมุ่งรักษาผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องเป็นหลัก ซึ่งหนทางเดียวที่จะทำให้พวกเขารักษาผลประโยชน์ที่ว่าไว้ได้อย่างมั่นคงก็คือการเข้าไปมีตำแหน่งทางการเมืองโดยตรง หรือไม่ก็ผ่านการสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจ ปรากฏการณ์แบบนี้เป็นเรื่องธรรมดามากแม้แต่ในประเทศประชาธิปไตยก้าวหน้าก็เป็นอย่างนี้ “   เมื่อถามว่า การที่กลุ่มสามมิตรเดินสายระดมคนเข้ากลุ่ม คือภาพที่พรรคไทยรักไทยเคยทำมาแล้วในอดีตหรือไม่ นายสติธร บอกว่า  ภาพมันคล้ายกัน แต่จะประสบผลเหมือนกันหรือไม่ยังต้องรอการพิสูจน์ เพราะต้องเข้าใจว่าความสำเร็จของพรรคไทยรักไทยในช่วงปี 2544 – 2548 ไม่ได้เกิดจากการ “ดูด” นักการเมืองเข้าสู่พรรคจำนวนมากๆ เพียงอย่างเดียว แต่สิ่งที่ไทยรักไทยทำควบคู่กันไปในสมัยนั้นคือการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับผู้นำพรรค ผู้สมัครในนามพรรคและตัวพรรคเอง ให้น่าสนใจ ดูเป็นมืออาชีพ และเต็มไปด้วยความหวัง ผ่าน “นโยบาย” และ “สโลแกนหรือคำขวัญ” แปลกๆ ใหม่ๆ ที่สามารถดึงดูดความสนใจของผู้คนได้มาก นี่เป็นสิ่งที่เรายังไม่เห็นจากกลุ่มสามมิตรหรือแม้แต่จากพรรคหรือผู้นำพรรคที่คาดว่ากลุ่มสามมิตรจะให้การสนับสนุน ที่สำคัญต้องยอมรับว่า การเกิดขึ้นของไทยรักไทยเมื่อเกือบยี่สิบปีที่แล้วเป็นการเกิดขึ้นมาแบบไม่มีคู่แข่งในเชิงการตลาดทางการเมือง แต่กลุ่มสามมิตรและพรรคใหม่ที่จะตั้งขึ้นเกิดขึ้นมาในช่วงที่ความเชื่อมมั่นศรัทธาในพรรคการเมืองเก่าๆ ยังดำรงอยู่ ในขณะเดียวกันคู่แข่งอื่นๆ ที่พยายามขายภาพลักษณ์ใหม่ๆ ก็จ่อคิวเปิดตัวอยู่เป็นจำนวนมาก การทำให้กลุ่มหรือพรรคของตนเป็นที่เชื่อมั่น เชื่อมือ ของประชาชนไม่ใช่เรื่องง่าย อย่างไรก็ดีในฐานะผู้เขี่ยวชาญ เมื่อถามว่า อยากจะฝากของแนะนำอะไรให้สามมิตรบ้างไหม  นักวิชาการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า คงไม่กล้าแนะนำอะไรมากเชื่อว่าทางกลุ่มคงประเมินสถานการณ์ได้เอง เพราะเกือบทั้งหมดเป็นคนที่อยู่ในแวดวงการเมืองมายาวนาน ประสบความสำเร็จมาก็มาก ผิดหวังก็บ่อย น่าจะมีบทเรียนที่สามารถนำกลับมาทบทวนใช้เพียงพออยู่แล้ว แต่ถ้าจะฝาก อยากฝากถึงพรรคการเมืองหรือผู้นำทางการเมืองที่กลุ่มสามมิตรตั้งใจจะให้การสนับสนุนมากกว่าว่า ลำพังพลังดูดของสามมิตรอย่างเดียวคงไม่พอ พรรคที่ตั้งขึ้นมาใหม่ต้องมีจุดขายที่โดนใจประชาชน ซึ่งอาจเป็นแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายที่ตอบความต้องการของประชาชนได้ตรงจุดตรงใจหรือกลุ่มคนทำงานที่ประชาชนเห็นแล้วรู้สึกมีความหวังและเชื่อมือได้ ในการเมืองสมัยใหม่สองอย่างนี้สำคัญมากต้องสร้างขึ้นมาให้ได้ถึงจะมีโอกาส “ชนะเลือกตั้ง”   ถึงเวลาวัดนักการเมืองหน้าใหม่-หน้าเก่า”   นายวันวิชิต  บุญโปร่ง รองคณบดีฝ่ายกิจกรรมนักศึกษา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงกรณีร้อนนี้ว่า  การเจาะพื้นที่ แกนนำในภาคอีสานของกลุ่มสามมิตรนั้น ทิศทางคือการต้องการทำลายพลังของพรรคเพื่อไทยเป็นหลัก  สามมิตรนั้นเชื่อว่าสร้างคุณประโยชน์ให้รัฐบาล คสช. ไม่ว่าตัว พล.อ.ประยุทธ์ หรือ ใครในรัฐบาลที่จะเข้าไปเล่นการเมืองในอนาคต การเคลื่อนไหวครั้งนี้ เน้นที่จะทำให้ฝ่ายตรงข้ามออกแรง อ่อนเปรี้ยมากที่สุด และเพื่อโดดเดี่ยวพรรคเพื่อไทย เป้าหมายคือไม่ให้ชนะการเลือกตั้ง แต่ท้ายที่สุดแม้พรรคเพื่อไทยจะมองว่าตนจะชนะได้” ในส่วนของการเดินเกมศึกการเมืองครั้งนี้ของสามมิตร  นายวันวิชิตวิเคราะห์ว่า  ไม่ว่าภาพของคนที่ได้รับการทาบทามมาติดต่อรวมงานให้มาร่วมกิจกรรมนั้น เชื่อหรือไม่ว่าในอดีต มีภาพการต่อสู้หรือปฏิเสธรัฐบาลทหาร  เป็นไม้เบื่อไม้เมากับ คสช. ในช่วงที่ชุมนุมทางการเมือง ต่อสู้ทางการเมืองมาตลอด เมื่อมาอยู่กับกลุ่มสามมิตร ที่เป้นเสมือนฐานของพรรคพลังประชารัฐ คำถามคือจะกระทบต่อภาพลักษณ์ทางการเมืองหรือไม่ และในขณะเดียวกัน นักการเมืองที่ถูกดูดเอง จะหาเสียงอย่างไร จะตอบประชาชนอย่างไร แฟนคลับเสื้อสีของตัวเองในพื้นที่คะแนนเสียงแบบไหน อันนี้น่าสงสัย ประเด็นต่อมา หากเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ ใช้การเดินเกมของสามมิตรไปแบบนี้เรื่อยๆ แรงสะท้อนกลับจากพุ่งหาผู้ก่อตั้งพรรค ไม่ว่าจะเป็นนายชวน ชูจันทร์ ผู้ก่อตั้งตลาดน้ำคลองลัดมะยม ท่าทาง ภาพลักษณ์ ต้นทุนในสงคม อาจจะไม่รู้จักอย่างแพร่หลาย หากเทียบกับสมาชิกของกลุ่มสามมิตร ดังกล่าวการจะกำกับควบคุมว่าที่ผู้ที่จะมาเข้าร่วมพรรคพลังประชารัฐ  กลุ่มสามมิตรมีพลังและต้นทุนดีอยู่แล้ว  นายชวนจะสามารถควบคุมกลุ่มสามมิตรให้อยู่ในกติกาได้หรือไม่ “ นอกจากนี้  นายวันวิชิต ตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจอย่างมากว่า อย่าลืมว่าคุณดูดคนเขามาได้ เขาก็ดูดกลับได้เช่นกัน แล้วถ้าเมื่อไหร่เปิดพื้นที่ให้ทำกิจกรรมทางการเมืองได้ หลายๆพรรคก็เตรียมที่จะเปิดตัวสมาชิกพรรคหรือนักการเมืองหน้าใหม่ ที่ปรารถนาจะทำงานทางการเมือง  ตรงนี้จะทำให้สีสันทางการเมืองจะเกิดขึ้น “จะเป็นการวัดกันระหว่างนักการเมืองหน้าใหม่กับหน้าเก่า  แล้วที่สังเกตคือ คนที่ไปอยู่กับไม่ว่าจะเป็นพลังประชารัฐหรือกลุ่มสามมิตร เป็นคนหน้าเดิมๆ เอาเหล้าเก่ามาผสมเหล้าใหม่แบบนี้หรือ แล้วความคาดหวังของสังคม ของกลุ่มการเมืองอีกกลุ่มหนึ่ง อยากต้องการให้มีการปฏิรูปทางการเมือง อาจจะทำให้เกิดความรู้สึกผิดหวังได้ “
Tag : Thaiquote