มองให้รอบการเมืองไทย จบความขัดแย้งอยู่ตรงไหน?

by ThaiQuote, 31 กรกฎาคม 2561

บายไลน์ วรกร  เข็มทองวงศ์   กระแสการเมืองไทย กลับมาร้อนแรงขึ้นอีก ภายหลังความคึกคักของกลุ่มการเมือง เริ่มเคลื่อนไหว รับการเลือกตั้งที่กำลังใกล้เข้ามา  อย่างไรก็ดีแม้สังคมจะผ่านห้วงการเมืองสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง แต่ความขัดแย้งทางความคิด ยังคงฝังตัวหยั่งรากลึกลงไปเกินที่จะขจัดออกไปในเร็ววัน   คำถามที่สำคัญ คือ เราจะอยู่หรือก้าวข้ามความขัดแย้งกันแบบไหน อย่างไร?   นายปิยะภพ มะหะมัด  อาจารย์พิเศษสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์  กล่าวถึงแนวทางการก้าวผ่านความขัดแย้งการเมืองไทย โดยฉายภาพตามลำดับว่า ความขัดแย้งรอบ 10 ปีที่ผ่านมานั้น เป็นเรื่องของสีเสื้อ ตามที่เรารับรู้กัน  ซึ่งกลุ่มสีเสื้อเหล่านี้ ยังมีชุดความคิดที่ยังขัดแย้งกันโดยสิ้นเชิง กลุ่มหนึ่งก็มีชุดความคิดที่ว่า ประชาธิปไตยต้องมาจากการเลือกตั้ง  ขณะที่อีกกลุ่ม มองการเมืองต้องมาตาม คุณธรรมและศีลธรรม “ความขัดแย้งที่ตีกันมาตลอด หาจุดร่วมกันไม่ได้ แล้วก็เป็นปัญหาสำคัญของการก้าวข้ามความขัดแย้งที่กำลังจะเกิดขึ้นหลังเลือกตั้ง  มีข้อเสนอต่างๆที่สนับสนุนการก้าวข้ามความขัดแย้ง  ต้องมีการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ต้องมีเลือกคนดีมีศีลธรรม  รวมทั้งตัวนายกรัฐมนตรีเอง ก็เสนอให้มีการสลายสีเสื้อด้วยการเลือกคนดีเข้ามาเป็นผู้ปกครองประเทศ แต่ต้องรับความเป็นจริงของการเมืองไทยอย่างหนึ่ง คือโดยพื้นฐานของประชาธิปไตยมีความแตกต่าง หลากหลาย แต่ที่ผ่านมาเรายังหาจุดร่วมกันไม่ได้ ถ้ายังเชื่อกันว่าการเลือกตั้งดีที่สุด ก็ต้องมีกันต่อไป แต่ต้องบวกกับการมีศีลธรรม ถ้ายังมีการโกง การกีดกันคนอื่น ก็เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง  “   เมื่อถามถึงตัวละครการเมืองต่างๆ จะผลต่อความขัดแย้งหรือไม่  นักรัฐศาสตร์ท่านนี้กล่าวต่อไปอีกว่า  ตั้งแต่นี้จนถึงการเลือกตั้งในปี 2562 จะถือว่าเป็นการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ  และการกลับมามีบทบาทอันสำคัญของฝ่ายทหาร ในฐานะที่จะเป็นคนจัดการให้มีการเลือกตั้ง พร้อมกับการเปลี่ยนผ่านทางอำนาจ จากรัฐบาล คสช. สู่การเปิดพื้นที่ให้พรรคการเมืองต่างๆเข้าสู่สนามการเลือกตั้ง ซึ่งจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า พรรคการเมืองเดินหน้าอย่างคึกคัก ในการหาเสียงทางออก และพร้อมที่จะสู้ศึกเลือกตั้งตามกติกาของ คสช. “โจทย์ใหญ่สำคัญตอนนี้ อยู่ที่ คสช. จะให้มีการเลือกตั้งจริงหรือไม่  เพราะที่ผ่านมาเมื่อกล่าวถึงเรื่องโรดแมป พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ( คสช.) เลื่อนโรดแมปถึง 3 ครั้งแล้ว  แม้จะบอกว่าการเลือกตั้งมีแน่นอน แต่จะเลือกกันตอนไหน ต้องอยู่ที่ปัจจัยในขณะนั้นๆ เช่นเรื่องข้อกฎหมาย รวมทั้งระยะเวลาของกฎหมายที่ให้กรอบการเลือกตั้ง ยังไม่เพียงพอที่มีการกำหนดไว้ เมื่อข้อ คสช. มีข้ออ้างชุดนี้  กลายเป็นเรื่องปัจจัยสำคัญ ที่จะยอมให้มีการเลือกตั้งหรือไม่  สุดท้ายก็คือบทบาทของทหาร  ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านนี้ ทหารยังคงอยู่ในระบบการเมืองอยู่  หากจะเทียบให้เห็นภาพ ต้องเทียบกับปี 2521 ภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ  ทหารก็ยังมีบทบาท  เหล่าทหารและผู้นำทางการเมืองในขณะนั้น มีความเห็นตรงกันว่า ถ้าเปิดให้มีเสรีในการเลือกตั้งอย่างเต็มที่ อาจจะมีความวุ่นวายอย่างที่ผ่านมาได้ ดังนั้น การประนีประนอมน่าจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน แต่จะสามารถฟันธงว่าจะเป็นประชาธิปไตยเต็มใบหรือไม่ ต้องดูบริบทรวมทั้งหมดอีกครั้ง เพราะอย่างลืมว่า กลุ่มอำนาจขณะนี้ ยังมีอยู่ในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ รวมทั้งวุฒิสมาชิกฝ่ายแต่งตั้ง “   นอกจากเหล่าตัวละครการเมืองหน้าเดิม ตัวเล่นหน้าใหม่ และหน้าเก่าปรับตัวใหม่ ทางการเมือง ทยอยออกมาสร้างสีสันและความหวังให้ประชาชน ไม่ว่าจะเป็นพรรค อนาคตใหม่ พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) รวมทั้งแนวโน้มตั้งพรรครวมพลังประชารัฐ  ทั้งหมดนี้ ปิยะภพมองว่า ฝ่ายสนับสนุนของแต่กลุ่มต่างกัน ตัวอย่างอนาคตใหม่ ชัดเจนว่า ไม่เอาคสช. ต้องมีการเลือกตั้ง ส่วนพรรครวมพลังประชาชาติไทย พร้อมเลือกตั้งและสนับสนุน คสช.  นี่คือตัวอย่างชุดความคิดที่เห็นอย่างชัดเจน  และเป็นภาพใหม่ที่พร้อมสู่สนามเลือกตั้งแม้กติกาไม่เป็นธรรม “และหากมองว่า 2 พรรคข้างต้น เป็นตัวแทนของความขัดแย้งรอบใหม่ของการเมืองไทยหรือไม่ ผมยอมรับว่า การเมืองไทยขัดแย้งกันทุกระดับแม้แต่ขบวนการเคลื่อนไหวประชาชนรากหญ้า  ก็มีความเห็นทางการเมืองไม่ตรงกัน ข้างหนึ่งก็มองว่า คสช.อยู่ สังคมสงบสุขเรียบร้อย  ฝ่ายหนึ่งก็มองว่า ตัว คสช. ต้องถอยออกจากอำนาจการเมือง  เปิดทางให้พรรคที่ชนะการเลือกตั้งเข้ามาบริหาร  “ สำหรับแนวทางการก้าวผ่านความขัดแย้งของสิงห์หนุ่มคนนี้ เขากล่าวว่า ยอมรับว่า นิยามความหมายของประชาธิปไตยไทยมีจำนวนมาก  แต่จุดร่วมกันคือเราอยู่ร่วมกันได้ แต่ปัจจุบันการเมืองเข้าถึงชีวิตประจำวัน แล้วคนก็เอาเรื่องที่ติดตามทางการเมืองเมืองมาขัดแย้งในชีวิตประจำวัน  อีกอย่างการเข้าถึงความคิดความรู้เรื่องประชาธิปไตยยังไม่ทั่วถึง “เรื่องพวกนี้กลับกลายมาเป็นเรื่องของพวกแกนนำใหญ่ๆ พอชาวบ้านเสพรับความคิดของแกนนำ ก็จะมีความเข้าใจการเมืองแบบผิดเพี้ยน  หรืออาจจะเข้าใจที่ไม่ตรงความเป็นจริง การเข้าถึงประชาธิปไตยจึงไม่เป็นไปอย่างเต็มที่  ถกเถียงกันเพียงในรูปแบบสภากาแฟ  ซึ่งความเป็นจริง เหล่าแกนนำก็ยังเข้าใจความหมายของประชาธิปไตยที่ผิดๆอยู่เลย  ที่สำคัญเราต้องแสวงจุดร่วม ยอมรับความเป็นจริงให้ได้ สมมุติว่า ถ้า คสช. ชนะการเลือกตั้ง  ก็ต้องยอมรับให้เขาบริหารประเทศ แม้จะดีหรือไม่ดีอย่างไร  ก็ไปสู้กันในระบบรัฐสภา ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาล ถ้าเรายอมรับในสิ่งเหล่านี้ได้ เราจะก้าวข้ามความขัดแย้งทางการเมืองไปได้  “