ลำดับ ‘เงินงบประมาณ’สำนักพุทธฯ จุดเริ่มต้นทุจริต ‘เงินทอนวัด’

by ThaiQuote, 7 สิงหาคม 2561

ในแต่ละปีสำนักพุทธฯ ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพื่ออุดหนุนกิจการพระพุทธศานา เป็นจำนวนไม่ต่ำกว่าหลักพันล้านบาท  จากการตรวจสอบพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณพ.ศ. 2560 มาตรา 25  งบประมาณรายจ่ายของส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวงพบว่าสำนักพุทธฯ ได้รับการจัดสรรงบประมาณ5,054,929,800ล้านบาท งบประมาณในส่วนแผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 255,445,200 ล้านบาท  ซึ่งเงินงบประมาณของสำนักพุทธฯ จะจัดสรร ให้วัดและพระสงฆ์  ส่วนสำคัญๆ จะแบ่งเป็น 3 ส่วน  ได้แก่ 1.เงินอุดหนุนเพื่อการบูรณะปฏิสังขรณ์วัด ประมาณ 500 ล้านบาทต่อปี    2.เงินอุดหนุนเพื่อการศึกษาพระปริยัติธรรม ประมาณ 1,200 ล้านบาทต่อปี และ 3.เงินอุดหนุนเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ประมาณ 600 ล้านบาทต่อปี จุดอ่อนหรือช่องว่างในการทุจริตที่สะเทือนวงการสงฆ์ จุดสำคัญอยู่ในส่วนเงินอุดหนุนเพื่อการบูรณปฏิสังขรณ์วัด โดยเริ่มจากการที่ทางสำนักพุทธฯจะโอนเงินอุดหนุนดังกล่าว เข้าสู่บัญชีของวัด  ทั้งนี้ในการตรวจสอบข้อมูลจะพบว่า การโอนเงินไปนั้น จากเป็นไปตามการยื่นขอมายังมหาเถรสมาคม เมื่ออนุมัติแล้ว สำนักพุทธฯจะเป็นคนโอนเงิน และตรงนี้เองที่เป็นช่องว่าง ให้ผู้จ้องทุจริต จะตกลงกับทางวัด แล้วทำการโอนเงินเกินจากความเป็นจริง และตรงนี้คือ เงินทอนวัด     จากการตรวจสอบการทุจริตเงินทอนวัดในรอบแรก 12 วัด ห้วง 3 ปีงบประมาณ คือปี 2555 ถึง 2558 พบว่าทั้ง 12 วัดได้รับเงินอุดหนุน 95 ล้านบาท และ มีการทุจริตเงินทอน 60 ล้านบาท อีกประเภทของการทุจริตเงินอุดหนุนวัด จะอยู่ในรูปของ เงินอุดหนุนเพื่อการศึกษา ทางการทำการตรวจสอบกลับพบว่า จำนวนตัวเลขยอดนักเรียนโรงเรียนปริยัติธรรมแผนกสามัญ มีการแจ้งรายเป็นเท็จ  ทั้งนี้เพื่อเป็นการเรียกเงินรายหัวให้มากขึ้นกว่าความเป็นจริง   เมื่อสำนักพุทธฯตรวจสอบพบ ก็สั่งงดจ่ายเงินอุดหนุน ทำให้ประหยัดงบประมาณเฉพาะปี 2560 ถึง 101 ล้านบาท   กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบ หรือ ปปป. ได้ทำการสืบสวนสอบสวนยิ่งพบว่า วัดบางวัดได้รับเงินอุดหนุนเพื่อการศึกษา มีหลักฐานใบเสร็จการรับเงิน แต่ในความเป็นจริง ไม่ได้มีการเปิดสอนพระปริยัติธรรมแต่อย่างใด   และนั้นเอง ทำให้สังคมได้รับรู้ถึงกระบวนการทุจริตครั้งใหญ่ที่สุด ในการที่ใช้เงินงบประมาณไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ และที่น่าสนใจยิ่งกว่า คือ การที่งบประมาณในส่วนเงินอุดหนุนเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนา แต่ก็มีเจ้าหน้าที่รับเงินคืน หลังจากมีการโอนเงินไปแล้ว เป็นเงินทอนวัดอีกรูปแบบที่มีหลักฐานการทุจริตชัดเจน   ที่สำคัญ เงินงบประมาณตัวนี้ มีการตั้งข้อสังเกตว่าจะตัวอยู่เฉพาะในวัดขนาดใหญ่ในกรุงเทพฯ เพียงไม่กี่วัด บางวัดได้มากกว่า 100 ล้านบาท ในขณะที่วัดต่างจังหวัดห่างไกลกลับไม่ได้รับเงินอุดหนุนแต่อย่างใด   แต่ในเบื้องต้นนี้ เหล่าคนทุจริตนั้น จะเจอกับ 2 ข้อหาหลักๆ นั่นก็คือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 และเป็นเจ้าหน้าที่รัฐเบียดบังทรัพย์สินของรัฐเป็นของตัวเอง ตามมาตรา 147 ประมวลกฎหมายอาญา  
Tag :