ทรงเป็นแบบอย่างในการเลี้ยงดูพระราชโอรส-พระราชธิดา

by ThaiQuote, 8 สิงหาคม 2561

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ทรงให้ความสำคัญกับการเป็นพระมารดาในลำดับต้น ดังพระราชดำรัสเมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๒๒ ความตอนหนึ่งว่า “ผู้หญิงไทยเรานี้ รักที่จะทำหน้าที่ที่ตัวคิดว่าสำคัญที่สุด คือการเป็นแม่ เพราะว่าอนาคตของชาติ ของเผ่าพันธุ์อะไรก็ขึ้นอยู่กับแม่ ถ้ามีแม่ที่ดี มีแม่เอาใจใส่ต่อลูกแล้ว ก็คิดว่าเด็กหรือทรัพยากรยิ่งใหญ่ของมนุษยชาตินี้ เป็นอันว่า เราหวังได้ว่าเด็กจะออกมาดีไม่ต้องพึ่งยาเสพติด ไม่ต้องพึ่งของมึนเมาที่จะทำให้เขาหมดความทุกข์ เพราะว่าภารกิจของการเป็นแม่นี้เป็นภารกิจที่สำคัญมาก ที่จะอบรมลูกให้ความรักความอบอุ่นต่างๆ นานา ผู้หญิงไทยเราหรือผู้หญิงตะวันออกจึงเลือกที่จะเป็นแม่บ้านแม่เรือน”

ในหนังสือ “สี่เจ้าฟ้า” ได้เล่าเกี่ยวกับการอบรมเลี้ยงดูสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ไว้ว่า

“เมื่อเสด็จกลับจากโรงเรียนแล้ว ก่อนจะเสด็จเข้าบรรทมตอนหัวค่ำ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร จะต้องเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เพื่อรับพระบรมราโชวาท และทรงสวดมนต์ก่อน”

นอกจากนั้น ยังทรงเน้นเรื่องวินัยในชีวิตประจำวันเป็นอย่างยิ่ง ทรงเคยตกลงวินัยใดไว้จะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

ทรงอนุญาตให้ทูลกระหม่อมทุกพระองค์ทอดพระเนตรโทรทัศน์ได้เฉพาะวันหยุดเรียน และถ้าบรรทมน้อยกว่า 9 ชั่วโมง ก็จะไม่ได้ทอดพระเนตร เช่น คืนวันพฤหัสบดี หรือวันเสาร์ตอนเย็นจะต้องบรรทมเร็วมาก และเวลาดูโทรทัศน์ต้องไม่ใช่การนั่งดูเฉยๆ ในพระหัตถ์ของสมเด็จเจ้าฟ้าทุกพระองค์จะต้องมีสมุด ดินสอ ดินน้ำมัน หรืองานเล็กๆ ใดๆ ใกล้พระหัตถ์เสมอ เพราะ โปรดให้ทรงขยัน ไม่ให้เกียจคร้านนิ่งเฉย โปรดให้ทรงหางานทำไว้เสมอแม้จะเป็นงานเล็กน้อยก็ตาม

ตอนเช้าวันเสาร์และวันอาทิตย์นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชประสงค์ให้ทูลกระหม่อมทุกพระองค์เสด็จออกกลางแจ้งเพื่อให้ได้รับอากาศและแสงแดดให้มากที่สุด และให้ออกพระกำลัง เช่น ทรงฟุตบอลหรือว่ายน้ำจนถึงเวลาเสวย

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี รับสั่งเล่าถึงวิธีการเลี้ยงพระราชโอรส และพระราชธิดาของพระราชมารดาว่า ในยามที่ไม่มีพระราชกิจ จะทรงใช้เวลาไปกับการอบรมลูกเสมอ การอบรมทรงมีหลายมาตรการที่ได้ผล เช่น เมื่อพี่เลี้ยงบ่นว่า ข้าพเจ้าซนไม่ทราบจะเลี้ยงอย่างไร จับใส่คอกก็ปีนออกได้เกรงจะเป็นอันตรายก็ต้องผูก สมเด็จพระนางเจ้าฯทรงออกแบบตาข่ายคลุมเพื่อให้อยู่ในคอก ไม่ต้องผูก และก็ไม่เป็นอันตราย

เมื่อข้าพเจ้าอาละวาด ก็เสด็จฯมาอาละวาดให้ดู จนข้าพเจ้างงตะลึง ทรงรับสั่งว่าทำแบบนี้ดีหรือไม่ ถ้าเห็นว่าไม่ดีก็ไม่ควรทำ ข้อนี้ได้ผล เพราะโตขึ้นมาข้าพเจ้าไม่เคยอาละวาด เอะอะ หรือกระแทกกระทั้นอะไรเลย ไม่ว่าจะโกรธแค่ไหน

หรือในคราวที่พระธิดาจำถ้อยคำที่ไม่สุภาพจากเพื่อน ลองพูดดู พี่เลี้ยงไปทูลฟ้อง ทรงเรียกมาชี้แจงว่า การพูดแบบนี้ใครๆ ก็พูดได้ไม่ยากอะไร แต่ที่เขาไม่พูดกัน เพราะเป็นสิ่งที่นำความเสื่อมเสียมาสู่ผู้พูดเอง ทำให้ถูกดูถูกและเกลียดชัง ถ้าต้องการความเจริญก็ไม่ควรพูด เรื่องที่สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถในรัชการที่ ๙ จะทรงเน้นมากในการอบรมพระราชโอรส พระราชธิดา ก็คือ การรับผิดชอบต่อตนเอง และความรับผิดชอบต่อหน้าที่ มีรับสั่งว่า เมื่อมีหน้าที่อะไร ต้องทำอย่างเต็มใจ

สำหรับกิจวัตรประจำที่ทรงเลี้ยงดู ถ้าเป็นวันว่าง ไม่มีแขกพิเศษมาเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูรฯ และทูลกระหม่อมทุกพระองค์ทรงร่วมเสวย พระกระยาหารกลางวัน กับทูลกระหม่อมพ่อและสมเด็จแม่

นอกจากนี้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเล่าไว้ในเรื่อง “กีฬาเป็นยาวิเศษ” ว่า

“จำได้ว่าตั้งแต่เล็กๆ ทูลหม่อมพ่อและสมเด็จแม่ทางเลี้ยงดูให้มีอนามัยดี ให้รับประทานอาหารถูกหลักโภชนาการ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และนอนพักผ่อนให้เพียงพอ ทุกวันเราต้องเดินไปโรงเรียนและเดินกลับจากโรงเรียน เมื่อกลับมาพักผ่อนตามสมควรแล้ว ต้องลงไปเล่นกลางแจ้ง จนค่ำขึ้นมารับประทานอาหารเย็น แล้วนอน ไม่เคยได้ดูโทรทัศน์นอกจากบ่ายวันเสาร์วันอาทิตย์ แต่เวลาเย็นก็ต้องไปตากอากาศ ออกกำลังกาย รับประทานอาหาร และนอนเหมือนทุกวัน เมื่อโตขั้นต้องหัดพละ และเล่นกีฬาเหมือนเพื่อนๆ ทุกคน ข้าพเจ้ายังต้องเรียนบัลเลต์ด้วย”

“ทูลหม่อมพ่อ จับหัดเล่นแบดอย่างจริงจัง ไม่เฉพาะแต่การเล่นเป็นเกม แต่มีวิธีการพิเศษ ที่เรียกว่า นับร้อย คือต้องไปตีกับท่าน ถ้าท่านตีมารับได้ก็นับ 1-2-3 ไปเรื่อยๆ ถ้ารับไม่ได้ก็ต้องถอยเหลือ 2-1-0 ติดลบก็มี และนับต่อไปจนครบร้อยจึงเลิกได้”

และยังมีบทความบางตอนที่น่าสนใจ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเล่าไว้ในเรื่อง การจัดการศึกษาของข้าพเจ้า” ใน “สมเด็จแม่กับการศึกษา” 2533 ว่า

“นอกจากการรับประทานให้ถูกหลักโภชนาการ รับประทานให้เรียบร้อยแล้ว ท่านยังไม่ให้เลือกอาหาร ไม่ให้เรื่องมาก อะไรก็ต้องรับประทานให้ได้ ทรงทราบว่าไม่ชอบอะไรก็ต้องซ้อมรับประทานของนั้น ทรงให้เหตุผลว่า ถ้าอีกหน่อยเราไปไหน ทั้งในประเทศและนอกประเทศ เราจะเลือกอาหารไม่ได้ เจ้าภาพเขาจะเสียใจ”

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี มีรับสั่งว่า “สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ ๙ ทรงมุ่งมั่นที่จะให้พี่น้อง 4 คนรักและสามัคคีกัน การที่จะให้พี่น้องรักกันนั้นเป็นเรื่องที่พ่อแม่พยายามอย่างที่สุด ถึงจะมีพี่เลี้ยงช่วยเลี้ยง ทรงให้มีพี่เลี้ยงหรือผู้คนรวมๆ กัน ไม่ใช่ว่าเป็นคนของคนโน้นคนนี้ กับข้าพเจ้าก็รับสั่งถึงพี่หญิง พี่ชาย และน้องเล็ก เช่น เห็นข้าพเจ้ามีอะไรจะรับสั่งทันทีว่าของนี้พี่หญิงคงชอบ ให้ซื้อลงไปให้พี่หญิง วิดีโอนี้พี่หญิงต้องชอบแน่ๆ ให้อัดส่งให้พี่หญิงด้วย ความจริงพระองค์จะส่งไปพระราชทานเองก็ได้ แต่นี่เป็นการเตือนให้พี่น้องรู้จักคิดถึงกัน”

สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ ๙ ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเป็นแบบอย่างในฐานะพระราชมารดาของพระราชโอรส และพระราชธิดา ๔ พระองค์อย่างสมบูรณ์ มิได้ต่างไปจากพระราชดำรัสเนื่องในวันแม่แห่งชาติ วันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๓๕ ที่ทรงพระราชทานแด่ปวงชนชาวไทยว่า “จำเรียงถ้อยคุณธรรมความผิด-ถูก ร้องเป็นเพลงกล่อมลูกทุกเช้า-ค่ำ ให้ลูกรู้ว่าโลกนี้มีขาว-ดำ ควรจะทำสิ่งใดให้โลกดี”

ขอขอบคุณข้อมูล : สกุลไทยออนไลน์  หนังสือสี่เจ้าฟ้า suptarthailand, ชมรมคนรักในหลวง, เรารัก สมเด็จพระเทพ ฯ  :หนังสือดั่งดวงแก้วส่องสว่างทางสายงาม