มารู้จัก...โรคตับโต (Hepatomegaly)

by ThaiQuote, 14 สิงหาคม 2561

ตับโต ภาวะตับโต (Hepatomegaly)

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์ กล่าวว่า ตับโต หรือ ภาวะตับโต (Hepatomegaly) เป็นอาการแสดงหรือภาวะผิดปกติไม่ใช่โรค หมายถึง การที่ตับมีขนาดโตขึ้นจนคลำได้ ทั้งนี้ตับขนาดปกติจะคลำไม่ได้ โดยตับเป็นอวัยวะอยู่ในช่องท้องด้านขวาตอนบน ที่เรียกว่าอยู่ใต้ชายโครงขวา แต่ถ้าขนาดตับโตขึ้นเราจะคลำได้เป็นก้อนเนื้อในบริเวณใต้ชายโครงขวา

ตับเป็นอวัยวะที่อยู่ติดกับปอดด้านขวา (อยู่ใต้กระบังลมขวา) และติดกับกระเพาะอาหาร เมื่อมีตับโตจึงมักมีอาการเจ็บ แน่น อึดอัดท้อง หายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก และจากการที่ตับเป็นอวัยวะสร้างน้ำดี เมื่อมีตับโต/โรคตับจึงส่งผลให้น้ำดีท้นเข้าในกระแสเลือดส่งผลให้เกิดภาวะดีซ่าน (ตัวตาเหลือง) ตับยังสร้างสารที่ช่วยการแข็งตัวของเลือด ดังนั้นเมื่อมีโรคตับเลือดจึงออกง่าย สังเกตจากมักมีจ้ำห้อเลือดตามลำตัว แขน ขา นอกจากนั้น โรคตับยังส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในความดันที่สูงขึ้นของระบบไหลเวียนโลหิตของช่องท้อง (Portal hyperten sion) ส่งผลให้เกิดมีน้ำในช่องท้อง/ท้องมานได้

โรคพบบ่อยที่เป็นสาเหตุให้ตับโตเช่น โรคตับจากสาเหตุต่างๆ (เช่น จากตับอักเสบติดเชื้อเช่น จากไวรัสตับอักเสบ) โรคเลือด โรคไข้จับสั่น โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว และโรคมะเร็งตับทั้งชนิดเกิดจากเนื้อเยื่อตับเองและ/หรือมะเร็งของอวัยวะอื่นๆที่แพร่กระจายมายังตับ (เช่น จากโรคมะเร็งเต้านม หรือจากโรคมะเร็งปอด เป็นต้น)

วิธีเบื้องต้นในการสังเกตอาการ “ตับโต”

1. ภาวะดีซ่านเป็นภาวะซึ่งผิวหนัง เยื่อบุตาขาว และเยื่อบุต่างๆ มีสีเหลืองผิดปกติ จากการมีสารบิลิรูบิน เกินในกระแสเลือด ซึ่งตับที่ทำงานปกติจะขับสารนี้ออกจากร่างกาย แต่เมื่อตับมีปัญหา ภาวะตัวเหลือง ตาเหลือง จึงเกิดขึ้น

2. ท้องบวมหรือโต อาการท้องขยายใหญ่ หากไม่ได้เกิดจากการตั้งครรภ์ มักเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงการสะสมของไขมัน ของเหลว หรืออุจจาระ ซึ่งการสะสมของสสารใดๆ เหล่านี้ ชี้ให้เห็นถึงปัญหาทางแพทย์ที่จำเป็นต้องได้รับการตรวจทันที

3. มีไข้ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ น้ำหนักลด สิ่งเหล่านี้มิใช่อาการทั่วไปของภาวะตับโตเท่านั้น แต่มันอาจเป็นสัญญาณของโรคตับ ซึ่งหากเป็นรุนแรง เรื้อรัง หรือกะทันหัน จะทำให้ตับบวม การเบื่ออาหารหรือไม่อยากรับประทาน อาจเป็นอาการร่วมของภาวะท้องบวมโตดังที่กล่าวมาข้างต้น และยังอาจเป็นอาการของโรคถุงน้ำดี เพราะการรับประทานอาหารจะกระตุ้นให้รู้สึกปวด นอกจากนี้ อาการเบื่ออาหารอาจเกิดจากโรคมะเร็งและโรคตับอักเสบได้ด้วย

โดยทั่วไป ภาวะน้ำหนักลดทางแพทย์ คือ เมื่อน้ำหนักลดลงมากกว่า 10% ของน้ำหนักตัว ถ้าหากน้ำหนักตัวคุณลดลงโดยไม่ได้มีสาเหตุจากการพยายามลดความอ้วนละก็ ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัย

เมื่อมีไข้ แสดงว่าเกิดการอักเสบในร่างกาย ซึ่งภาวะตับโตอาจเกิดจากการติดเชื้อ เช่น โรคไวรัสตับอักเสบ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องใส่ใจเมื่อมีไข้

4. อ่อนเพลียเป็นอาการเหน็ดเหนื่อยที่เรารู้สึกได้หลังการออกแรงเพียงเล็กน้อย ซึ่งมันอาจมีสาเหตุจากการที่ตับขาดสารอาหาร ร่างกายจึงต้องดึงสารอาหารจากกล้ามเนื้อมาใช้แทน อาการอ่อนเพลียจึงอาจเป็นสัญญาณชี้ว่า ตับกำลังมีปัญหา และอาจเกิดอาการบวมร่วมด้วย โรคไวรัสตับอักเสบและโรคมะเร็งก็อาจเป็นสาเหตุของการอ่อนเพลียได้เช่นกัน

5. คันตามตัวมากขึ้น เมื่อตับป่วย อาจทำให้เกิดอาการคันตามร่างกาย ซึ่งอาจคันเฉพาะที่หรือทั่วตัว เนื่องจากท่อน้ำดีอุดตัน ส่งผลให้เกลือน้ำดีถูกขับเข้าสู่กระแสเลือดและสะสมอยู่ตามผิวหนัง เป็นสาเหตุของอาการคัน การรักษาอาการคัน ควรให้แพทย์วินิจฉัยสาเหตุที่แน่ชัด เพื่อจ่ายยาให้ถูกต้องและตรงกับระดับความรุนแรงของอาการคัน

6. มีไฝแดงแมงมุม คือหลอดเลือดที่ขยายตัวจากจุดแดงตรงกลาง ดูเหมือนใยแมงมุม พบบ่อยบนใบหน้า คอ มือ และหน้าอกส่วนบน ซึ่งเป็นอาการพื้นฐานของโรคตับและโรคไวรัสตับอักเสบ

การมีไฝแดงแมงมุมเพียงจุดเดียว ไม่ใช่สิ่งที่ต้องเป็นกังวล อย่างไรก็ดี หากมีอาการอื่นๆร่วมด้วย อาทิ เฉื่อยชา อ่อนเพลีย บวม หรือดีซ่าน ควรไปพบแพทย์ เพราะมันอาจเป็นสัญญาณของตับที่มีปัญหา รวมถึงการมีไฝแดงแมงมุมเป็นหย่อมๆ กระจายไปทั่ว ที่ชี้ว่าตับผิดปกติ

ไฝแดงแมงมุมอาจมีขนาดความยาวเส้นผ่าศูนย์กลางถึง 5 มม. หากใช้นิ้วมือกดเบาๆ บนจุดแดงตรงกลาง สีแดงจะหายไปภายใน 1-2 วินาที และจะกลายเป็นสีซีดขาว เนื่องจากเลือดถูกขับออกจากจุดนั้น