อินไซด์ครม. ริมรั้วทำเนียบฯ ติดเครื่องศก.ดันพรบ.เพิ่มขีดการแข่งขันพรวดเดียว 4 ฉบับ

by ThaiQuote, 24 สิงหาคม 2559

นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำในที่ประชุมครม.ว่า แนวทางดังกล่าวไม่ใช่เป็นเป็นการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากเป็นการพัฒนากำกับดูแล อีกทั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ คลังเป็นผู้ถือหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่เปิดให้บุคคลอื่นมีเข้ามาซื้อหุ้นในองค์กรดังกล่าว

ทั้งนี้ร่างกฎหมายพัฒนารัฐวิสาหกิจยังบังคับใช้กับรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง แต่จะแบ่งแยกกำกับดูแล ระหว่างสคร.และบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ โดยกำหนดให้ตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองเพื่อคัดเลือกผู้เชี่ยวชาญเข้าเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจแต่ละด้านให้ตรงกับความสามารถขององค์กร ลดปัญหาการแทรกแซงทางจากการเมือง รัฐมนตรีเจ้าสังกัดกระทรวง และยังกำหนดให้รัฐบาล รัฐมนตรีเจ้าสังกัด  ต้องหารือกับรัฐวิสาหกิจในการจ่ายชดเชยอย่างชัดเจน เมื่อสั่งให้ดำเนินมาตรการเร่งด่วนและมีผลขาดทุน

ครม.ยังฟิตจัดเดินหน้าพิจาณาร่างพ.ร.บ.เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันรวมทั้งสิ้น 4 ฉบับ ประกอบด้วย ฉบับแรกพ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยกำหนดคำนิยามเขตเศรษฐกิจพิเศษ หมายถึงพื้นที่เฉพาะตามที่ครม.ประกาศ เพื่อใช้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การให้บริการจุดเดียวแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service ) ปัจจุบันมี 10 จังหวัด  ประกอบด้วย จ.ตาก มุกดาหาร สระแก้ว สงขลา นราธิวาส  ตราด หนองคาย  เชียงราย นครพนม และกาญจนบุรี โดยกำหนดให้ดำเนินการเฉพาะเขตที่ประกาศเท่านั้น  

เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กำหนดให้คณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยมีนายกฯเป็นประธานคณะกรรมการ ทำหน้าที่เสนอครม.พิจารณา และยังให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดอนุมัติตามกฎหมาย 9 ฉบับ เช่นการจัดตั้ง One Stop Service  กฎหมายควบคุมอาคาร กฎหมายว่าด้วยโรงงาน กฎหมายผังเมือง กฎหมายว่าด้วยการทำงานของแรงงานต่างด้าว กฎหมายว่าด้วยการตรวจคนเข้าเมือง กฎหมายว่าด้วยการขออนุญาตในการอยู่ราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว กฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข กฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนเครื่องจักร จดทะเบียนพาณิชย์ เป็นต้น โดยครม.ทำหน้าที่กำหนดสิทธิประโยชน์ การยกเว้นภาษี

ส่วนพ.ร.บ.ฉบับที่ 2 คือพ.ร.บ.การนิคมแห่งประเทศไทยฉบับแก้ไข ได้กำหนดให้ผู้ว่าการนิคมฯ  มีอำนาจในกฎหมาย 9 ฉบับดังกล่าวเหมือนกับผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อดำเนินกิจการภายในการนิคมฯ หวังให้สอดคล้องกับเขตเศรษฐกิจพิเศษ นอกจากนี้เปิดทางให้การนิคมฯดำเนินกิจการอื่นเพิ่มเติม เช่นบริหารกิจการท่าเรือในนิคมอุตสาหกรรม หรือจัดตั้งบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการนิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น   กฎหมายฉบับที่ 3 คือ ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน แก้ไขเพิ่มเติมเมื่อปี 2520  มีสาระสำคัญเพื่อเพิ่มเครื่องมือส่งเสริมการลงทุนใหม่ ในเรื่องภาษีเงินได้นิติบุคคล สามารถยกเว้นภาษีเงินได้นานถึง 13 ปี สำหรับกิจการที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง ส่วนกิจการที่ไม่ควรได้รับการส่งเสริมยังคงได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ไม่เกินร้อยละ 50 เป็นเวลา 10 ปี เป็นต้น ในส่วนของอากรขาเข้าสามารถยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับสินค้า วัตถุดิบนำเข้ามาสำหรับงานวิจัยและพัฒนา  การประเมินผล หากไม่ได้นำมาประกอบและผลิตเพื่อขายในประเทศ

สำหรับพ.ร.บ.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพื่อต้องการส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายให้ได้รับสิทธิประโยชน์ โดยมีคณะอนุกรรมการสรรหาและเจรจา ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายเป็นประธานคณะกรรมการ ดำเนินการผ่านกองทุนเพิ่มขีดความสามรถในการแข่งขัน มีเงินทุนประเดิมจำนวน 10,000 ล้านบาทเพื่อใช้สนับสนุนภาคเอกชน  โดยได้รับสิทธิประโยชน์อื่นเพิ่มเติมจากบีโอไอ เช่นการยกเว้นภาษีนิติบุคคลได้นาน 15 ปี และสามารถใช้เงินสนับสนุนจากกองทุน สำหรับค่าใช้จ่ายของบริษัทที่ใช้ในการลงทุน การวิจัยและพัฒนา การส่งเสริมนวัตกรรมและการพัฒนาบุคลากร นอกจากนี้ยังกำหนดให้การรับการส่งเสริมการลงทุนสิทธิบัตรต่าง ๆทุกใบของบริษัทเอกชนต้องนำผลดำเนินการมารวมกันทั้งหมดในบริษัท เพื่อนำมาคำนวณผลกำไรสุทธิตามแบบประมวลรัษฎากรของกรมสรรพากร เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเหมือนกับบริษัทมินิแบร์ ซึ่งได้มีการฟ้องร้องต่อศาลภาษีในการส่งเสริมการลงทุน. ต้องดูนะครับว่าเมื่อเพิ่มอำนาจผู้ว่าฯ และผู้ว่ากนอ.แล้วจะดึงเอกชนทั้งในและต่างประเทศเข้าลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษได้มากน้อยเพียงใด

โดย  ชมัย  มรุเชษฐ์