“บิ๊กตู่” วอนคนกรุงอดทนกับวิกฤตจราจร-รัฐเร่งแก้หนี้นอกระบบและเกษตรกร

by ThaiQuote, 18 สิงหาคม 2561

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวผ่านรายการศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนตอนหนึ่งว่า ผลประเมินดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ในเดือนกรกฎาคมปี 2561 ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย อยู่ที่ระดับ 82.2 ถือว่าปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง แล้วเป็นระดับสูงที่สุดในรอบ 62 เดือน นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2556 โดยทุกรายการปรับตัวดีขึ้น แทบทั้งสิ้น เนื่องจากประชาชนเห็นว่าการส่งออก และการท่องเที่ยว ขยายตัวดีขึ้น จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมให้ดีขึ้นต่อไป ส่วนราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการเริ่มดีขึ้น และกำลังซื้อของประชาชนในหลายจังหวัดก็ปรับตัวดีขึ้น ระมัดระวังในเรื่องของการผลิตที่มันเกิดความต้องการของตลาด หรือคุณภาพไม่ดีพอ เช่นเดียวกัน รายงานดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่ระบุว่าปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรก ในรอบ 6 เดือน เนื่องจากครัวเรือนมีมุมมองต่อเรื่องรายได้ และการมีงานทำ ที่ดีขึ้น   นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลกำลังขับเคลื่อนแก้ปัญหาหนี้นอกระบบซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของประชาชนผู้มีรายได้น้อย เกษตรกร รวมถึงอาชีพอิสระต่างๆ ทั้งนี้ จากการสำรวจของหน่วยงานราชการพบว่ามีประชาชนเป็นลูกหนี้ราว 9 แสนราย จากเจ้าหนี้เกือบ 18,000 ราย มีมูลหนี้รวมกว่า 52,000ล้านบาท ตั้งแต่เริ่มดำเนินการเดือนก.ค. เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ร่วมกับกระทรวงการคลัง และกระทรวงยุติธรรม ระดับจังหวัด เดินหน้าเจรจาไกล่เกลี่ย ทำข้อตกลงประนีประนอม และปรับโครงสร้างหนี้ให้ความเป็นธรรมกับทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้แล้วกว่า 2 แสนราย   ขณะเดียวกัน ได้ร่วมกันใช้มาตรการทางกฎหมายกับเจ้าหนี้นอกระบบที่ไม่ร่วมมือผ่าน "ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันปราบปรามการฉ้อโกงทรัพย์สินของประชาชน เรียกชื่อย่อว่า ศปฉช." ณ กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค ทั่วประเทศ และนครบาล สิ่งสำคัญก็คือเรื่องราวความเลวร้ายของ "การทำนาบนหลังคน" ที่เราไม่สามารถจะปล่อยให้เกิดขึ้นอีกต่อไป ผลจากการดำเนินงานที่ผ่านมาสามารถนำทรัพย์สินของประชาชนจากสัญญาที่ไม่เป็นธรรม กลับสู่มือผู้เป็นเจ้าของ ซึ่งถูกเอาเปรียบด้วยอำนาจที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายเป็นโฉนดที่ดินกว่า 7,000 ไร่ และรถยนต์จำนวนมาก คิดเป็นมูลค่า โดยรวมกว่า 3,000 ล้านบาท   ส่วนการเร่งรัดแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรที่เป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ได้ตั้งคณะอนุกรรมการ "เฉพาะกิจ" เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้สิน สามารถตกลงปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ และ เข้าซื้อหนี้ของเกษตรกร จากสถาบันการเงินเจ้าหนี้ เช่น ธ.ก.ส. สหกรณ์การเกษตร และ ธนาคารพาณิชย์ทั่วไป รวมประมาณ 36,000 ราย มูลค่าหนี้ราว 6,000 ล้านบาท โดยสามารถช่วยลดยอดหนี้แต่ละรายลงร้อยละ 50 หยุดดอกเบี้ยระยะเวลาไม่เกิน 15 ปี ก็ถือว่าเป็นความสำเร็จมากที่สุด ในรอบ 19 ปี ที่ผ่านมา ตั้งแต่มีการตั้งกองทุนฯ มา ในปี 2542   ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2549 - 2557 การแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดำเนินการได้เพียง 29,000 ราย เท่านั้น จากจำนวนสมาชิกเกษตรกรที่ลงทะเบียนหนี้สินไว้ราว 460,000ราย   นอกจากนี้ในสัปดาห์นี้ยังได้มีโอกาสลงพื้นที่ตรวจราชการด้านการจราจร ซึ่งการสัญจรไปมาในกรุงเทพฯมีปัญหาและพื้นที่อื่นๆ ด้วย พูดคุยหน่วยงานถึงเรื่องการเชื่อมโยง "ล้อ-ราง-เรือ" เป็นเป้าหมายในอนาคต ที่ต้องอาศัยเวลาทำงาน หลายปีที่ผ่านมาเราไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผนที่ควร วันนี้ก็เลยต้องใช้เวลา หรือทำให้เกิดปัญหาการจราจรเพิ่มขึ้น ด้วยการเร่งสร้าง เร่งโครงการต่างๆ มากมายในเวลาเดียวกัน ก็คงต้องช่วยกันอดทนไประยะหนึ่ง อีกไม่นานเราก็จะมีระบบขนส่งมวลชนสาธารณะที่สมบูรณ์แบบมากขึ้น   ทุกคนคงทราบดีอยู่แล้วว่า ปัญหาจราจรติดขัดนี้ เป็นปัญหาที่สะสม เนื่องมาจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และการขยายตัวของเมือง ที่อาจไร้ยุทธศาสตร์ ไร้ข้อจำกัด ไม่เป็นไปตามผังเมือง เมื่อต้องปรับผังเมืองใหม่ต้องร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชน แต่อาจไม่มีประสิทธิภาพ เพราะบางพื้นที่ประชาชนไม่ยินยอม เลยเกิดปัญหาซับซ้อนมาอีกการเดินทางเข้าสู่ศูนย์กลางเมือง เพื่อประกอบกิจกรรมต่างๆ มากมายของคนกว่า 15 ล้านคน ในพื้นที่ กทม.ที่จำกัด 1,500 กว่า ตารางกิโลเมตร ถือว่าแออัดมาก และยากที่จะสร้างถนนหนทางเพิ่มขึ้น เพราะมีราคาแพง ใช้เวลานาน และติดที่เอกชน รวมทั้งความต้องการเดินทางข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาก็มากขึ้นอีก สะพานปัจจุบันมีจำนวนจำกัด สร้างเพิ่มขึ้นไม่ได้ และยังต้องฟังความเห็นของประชาชนอีก ขณะที่ในอนาคตความต้องการข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา จะเพิ่มขึ้นอีก 480,000 คนต่อวันในปี 64 และในอีก 10 ปีข้างหน้า จะเพิ่มขึ้นเป็น 840,000 คน ต่อวัน   รวมถึงถ้าขึ้นทางด่วน ลงมาแล้วขึ้นใหม่ ก็เลยติดกันทั้งข้างบน ข้างล่าง รวมไปถึง จุดตัดรถไฟ วงเวียน และแยกไฟแดง ที่ต้องมีการคำนวณเวลา และปริมาณรถ สำหรับแนวทางแก้ปัญหานั้น ผลลัพธ์สุดท้ายที่ต้องการก็คือ ส่งเสริมให้ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล แล้วหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ โดยเฉพาะการผลักดันให้ระบบรางเป็นแกนหลัก ในการเดินทาง และขนส่ง ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล นั้น ภายในปี 2575 อีก 15 ปี จะต้องเร่งลงทุนสร้างโครงข่ายรถไฟฟ้าให้ครบ ทั้ง 10 สาย ระยะทางรวม 464 กิโลเมตร เชื่อมต่อการเดินทางล้อ ราง เรือ แบบไร้รอยต่อ เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือก   นอกจากนี้ต้องจัดทำที่จอดแล้วจรให้กระจายตัวในพื้นที่สำคัญ ที่จะเชื่อมโยงต่อการขนส่งด้านต่างๆ รวมถึงมีระบบตั๋วร่วม "ที่ดำเนินการในปัจจุบัน และควรต้องนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการบริหารการจราจร และการขนส่งอย่างครอบคลุมมากยิ่งขึ้น และบางครั้งต้องใช้เจ้าหน้าที่ เพราะไม่สามารถจะครอบคลุมในพื้นที่ใหญ่ๆได้   พล.อ. ประยุทธ์ ยังกล่าวตอนหนึ่งว่า ประชาชน และนักท่องเที่ยว ช่วงฤดูฝนนี้โดยเฉพาะช่วงนี้ที่มีพายุโซนร้อนเบบินคา ซึ่งจะส่งผลต่อฟ้าฝนบ้านเราอย่างมาก ใครที่จะไปเที่ยวตามน้ำตก ช่วงนี้ต้องระมัดระวัง เห็นว่าได้รับผลกระทบพอสมควร ก็ระมัดระวังอย่าเพิ่งไปในช่วงนี้ไปตรงไหนที่มันปลอดภัย การนั่งเรือ ลงเรือ ท่องเที่ยวต่างๆ ต้องดูสภาพลมฟ้าอากาศด้วย ตรวจสอบข้อมูลได้ที่สายด่วน 1182 และศึกษาความเสี่ยงต่อการเกิดน้ำป่าไหลหลาก เนื่องจากเมื่อมีฝนตกบริเวณดังกล่าว ซึ่งเป็นพื้นที่ลาดชัน จากเชิงเขา และหุบเขา น้ำที่ไหลลงมามีกำลังแรงเราคาดการณ์ได้ยาก เพราะอยู่ในพื้นที่ป่าเขาไม่สามารถไปติดตั้งเครื่องวัดได้ ส่วนใหญ่เรามาวัดข้างล่าง ข้างบนเขายังสะสมด้วยป่าที่ยังสมบูรณ์อยู่มาก แล้วก็ไหลลงมาเมื่อมันเต็ม เก็บไว้บนเขาเต็มมันก็ไหลลงมา มีกำลังแรงเจ้าหน้าที่ต่างๆ ที่รับผิดชอบอยู่ ขอให้คอยดูแลรักษาความปลอดภัย เตรียมการให้พร้อม แจ้งเตือนประชาชน อพยพประชาชนเมื่อคาดว่าจะเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ดีกว่าที่จะไปรอรับแล้วก็เผชิญกับภัยต่างๆ อย่างที่บอกไว้แล้วระบบแจ้งเตือนภัยต้องสามารถใช้การได้อย่างมีประสิทธิภาพ   “ผู้ที่ไปท่องเที่ยวเองก็ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ ที่ดูแลน้ำตกอย่างเคร่งครัด ตนเห็นหลายพื้นที่เขาเตือนก็ไม่เชื่อ ไม่ฟัง พอมีเหตุการณ์เกิดขึ้นก็มาโทษเจ้าหน้าที่ เหล่านี้มันต้องไปทั้ง 2 ทาง เจ้าหน้าที่ก็ต้องทำงานกันให้เหมาะสมด้วย พูดจากันดีๆ การพักผ่อนในพื้นที่ที่กำหนดให้หรือจุดที่ปลอดภัยก็ต้องปฏิบัติ ไม่ลงเล่นในจุดที่เป็นโขดหิน หรือ บริเวณที่กระแสน้ำไหลเชี่ยว กลางลำน้ำที่เป็นจุดอันตราย เช่นเดียวกับการเที่ยวชายทะเล ช่วงที่มีธงแดงหรือคลื่นสูง ก็ต้องระมัดระวัง ไม่ลงไปเล่นในทะเลนะ ปฏิบัติตามมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยของทางสถานที่นั้นๆ แนะนำให้ลูกหลานได้สังเกตการณ์เปลี่ยนแปลง หรือสัญญาณที่จะเป็นภัยต่างๆ ตามหลักวิชาการที่เจ้าหน้าที่แนะนำด้วย คราวที่แล้วเราก็สูญเสียเป็นจำนวนมากจากสึนามิเพราะไม่เคยเกิดหลายคนก็ไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้นนี่คือการเรียนรู้ ต้องติดตามว่าโลกเกิดอะไรขึ้น เปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง วันนี้โลกเปลี่ยนแปลงในเรื่องลมฟ้าอากาศอย่างไร ก็ขอให้ติดตาม ถ้าไม่ฟัง ไม่อ่าน ก็ไม่รู้ เมื่อเวลาทุกคนเดือดร้อนก็กลับมาที่รัฐบาล เจ้าหน้าที่ก็ต้องรับผิดชอบอยู่แล้ว รัฐบาลก็รับผิดชอบ แต่ขอให้ฟังกันบ้าง”   ส่วนเจ้าหน้าที่ต่างๆ ที่รับผิดชอบให้คอยดูแลรักษาความปลอดภัย เตรียมการให้พร้อม แจ้งเตือนประชาชน อพยพประชาชน เมื่อคาดว่าจะเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ดีกว่าที่จะไปรอรับแล้วก็เผชิญกับภัยต่างๆ ระบบแจ้งเตือนภัยต้องสามารถใช้การได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ที่ไปท่องเที่ยวเองต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ ดูแลน้ำตกอย่างเคร่งครัด